พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ เปิดเผย หลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ครั้งที่ 4/60 เมื่อ 19 มิถุนายน 60 ณ ศาลาว่าการกลาโหม ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. และ รมว.กห. เป็นประธาน ว่า

โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ผ่านมา และร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นอย่างรอบด้านต่อ “เอกสารความเห็นร่วม” ที่จัดทำขึ้นและการใช้ประโยชน์ รวมทั้ง “ร่างสัญญาประชาคม” เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน  โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีความจริงใจและมีเจตจำนงที่แน่วแน่ ในการสร้างความสามัคคีปรองดองในครั้งนี้  และเน้นถึงเป้าหมาย คือ การรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ การกำหนดกรอบแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุขในอนาคต โดยประชาชนทั้งประเทศ ต้องได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง  พร้อมย้ำให้ร่วมกันสร้างการรับรู้กับประชาชนและสร้างบรรยากาศของความร่วมมือ ให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอย่างแท้จริง

พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ร่างสัญญาประชาคมที่ปรับแก้แล้ว จากข้อคิดเห็นของคณะกรรมการ จะสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะ ในรูปแบบของการจัดเวทีสาธารณะทั่วทุกภาคได้ภายใน ปลาย มิ.ย.60 โดยจะจัด 4 ครั้งในพื้นที่จังหวัด พิษณุโลก  นครราชสีมา  นครราชสีมา และ กทม.

พล.ต.คงชีพ กล่าวสรุปภาพรวมว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นำมาสู่การต่อต้านคัดค้านรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในแต่ละช่วงเวลา ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันจนลุกลามไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรง ทั้งระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชน และขยายวงกว้างไปสู่การใช้ความรุนแรง จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างประมาณค่ามิได้ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและมั่นคงอย่างมาก

หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามายุติความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในสังคมทันที โดยใช้กฎหมายพิเศษและกำหนดมาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางสังคมที่เข้มข้น โดยเฉพาะการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยึดอาวุธสงครามทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน    ร่วมกับการเสริมสร้างให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน

กว่าสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ปัญหาวิกฤตชาติและปัญหาฐานรากประเทศที่ถูกละเลย  ควบคู่กับการวางรากฐานและอนาคตของประเทศ  เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม  ขณะเดียวกันต้องบริหารขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า  โดยมุ่งเน้นการผดุงหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง ด้วยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันและกฎหมายพิเศษตามความจำเป็น  ร่วมกับการขอความร่วมมือจากสังคม โดยยังให้ความสำคัญหลักกับปัญหาพื้นฐานทางสังคม ที่มีรากเหง้าความขัดแย้งมานาน เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายอำนาจและรายได้ที่ไม่ทั่วถึงเป็นธรรม และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น ตามผลการปฏิบัติ ที่มีเป็นข่าวปรากฏอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา

ในขณะที่ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่  เพื่อยกระดับและวางรากฐานประเทศ  ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม  นายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการจำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์  2) คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ  3) คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ  4) คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง  เพื่อร่วมกันทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชน ในการปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศ. ตามแนวทางและเป้าหมายที่ร่วมกันกำหนด โดยไม่นำความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงกลับมาสู่สังคมอีกในอนาคต

ในส่วนของ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีความมั่นใจว่า โอกาสความสำเร็จของการร่วมสร้างความสามัคคีปรองดองครั้งนี้ มีมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา  เนื่องจากรัฐบาล มีเจตจำนงที่ชัดเจนพร้อมทั้งได้ศึกษาบทเรียนและทยอยแก้ปัญหารากเหง้าความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา  และเมื่อพิจารณาแล้วว่า สังคมเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นและไว้ใจกันมากขึ้น ประกอบกับอารมณ์ทางสังคมมีความสงบลง  การเปิดโอกาสให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อทางออกและแนวทางป้องกันมิให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นความรุนแรงในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น  ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า แนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองที่รัฐบาลทำมา สามารถตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง   ซึ่งกระบวนการรับฟังและตรวจทานความคิดเห็นที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างดียิ่ง โดยข้อมูลที่ได้รับเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่ายิ่ง

“เอกสารความเห็นร่วม” ได้จัดทำขึ้น ด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์ตามหลักวิชาการ   จากข้อมูล 2 ส่วน คือ 1) ข้อมูลการรวบรวมความเห็นร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น ผ่านเวทีการรับฟังในการสร้างความสามัคคีปรองดองทั่วประเทศ ที่ผ่านการสอบทานแล้วที่ผ่านมา  และ 2) ข้อมูลผลการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีมา  โดยจัดทำเป็นประเด็นความเห็นร่วมและความเห็นอื่นๆทั้ง 10 ด้านและจำแนกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) ประเด็นที่คสช.และรัฐบาลได้ดำเนินการแล้วหรือกำลังดำเนินการ  2) ประเด็นที่สามารถดำเนินการได้และเกิดผลทันที  3) ประเด็นที่สามารถดำเนินการได้แต่ผลที่เกิดขึ้นอาจต้องใช้เวลา 4) ประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการและสร้างความรับรู้ เพื่อมิให้ขยายไปสู่ความขัดแย้ง และ 5) ประเด็นที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

ข้อมูลจาก “เอกสารความเห็นร่วม” จะถูกเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตาม กรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมทั้ง เสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปการขับเคลื่อนประเทศ ใช้ประโยชน์ควบคู่กันไป   สำหรับประเด็นที่ 4 ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการและสร้างความรับรู้ เพื่อมิให้ขยายไปสู่ความขัดแย้ง และประเด็นอื่นๆที่อ่อนไหวหรือถูกใช้เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งที่ผ่านมา จะถูกแยกไปจัดทำเป็น “สัญญาประชาคม” ต่อไป

สำหรับ “ร่างสัญญาประชาคม” ที่จัดทำขึ้นจากการสะท้อนความเห็นร่วมกันของประชาชน เป็นการกำหนดกำหนดความตกลงของการอยู่ร่วมกัน เพื่อมิให้เกิดเงื่อนไขที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่ขยายไปสู่ความรุนแรงในอนาคต  ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดี ที่ประชาชนทุกคนจะได้เข้าใจและร่วมกันปฏิบัติ ด้วยสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศชาติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขต่อไป

ทั้งนี้  แนวทางดำเนินการสร้างความสามัคคีปรองดองให้บรรลุความสำเร็จเป็นรูปธรรม จากสัญญาประชาคมที่จะเกิดขึ้นนี้  จะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้  จากความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน  รวมทั้งการมีส่วนร่วมและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในทุกมิติ ไม่เน้นเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต่อการมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน คือ “ผลประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงและมีส่วนร่วมของประชาชน การมีจิตสำนึกในการยอมรับกฎกติกา และเคารพกฎหมายต่างๆ รวมไปถึงการสร้างความเท่าเทียมกันในทุกด้าน ทั้งกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและการเข้าถึงบริการภาครัฐ  ตลอดจนบรรยากาศของความสมานฉันท์ ความเป็นพี่เป็นน้อง การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งความโปร่งใสในทุกกระบวนการ  ซึ่งจัดเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะทำให้ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

S__33751516 S__33751517 S__33751518 S__33751519 S__33751520 S__33751521