พลอากาศตรี ปิยะพันธ์ ขันถม
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่กำลังฮึกเหิมกับกำลังอำนาจของตนเอง ความหวังที่จะปกครองทั้งเอเชีย ได้จบสิ้นลงทันที พร้อมกับทิ้งมรดกที่ชอกช้ำไม่มีวันลืมเลือนและรอคอยวันเอาคืนของประเทศที่เคยถูกญี่ปุ่นรุกรานคือ จีนและเกาหลี บาดแผลทางใจนั้นลึกมาก สร้างความบาดหมางกันมาจนถึงปัจจุบัน
การพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ทำให้ประเทศเกาหลีที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองอยู่ ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เปลี่ยนผ่านจากมือหนึ่งที่แพ้สงครามไปสู่อีกมือหนึ่งที่ชนะสงคราม แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ เกาหลีถูกแบ่งปันผลประโยชน์ของดินแดน โดยแบ่งประเทศจากเส้นขนานที่โด่งดังที่สุดในโลกคือเส้นขนานที่ ๓๘ โดยซีกเหนือให้อยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต ในยุคผู้นำขาโหดผูกขาดอำนาจยาวนานถึง ๓๐ ปี คือ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ซีกใต้อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา ในยุคของประธานาธิบดี แฮรี เอส. ทรูแมน(Harry S Truman) อดีตนักเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ วาสนาดีหรือร้ายก็ไม่ทราบ หากแต่เขาเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี.รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ที่เสียชีวิตขณะยังดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี
เพื่อให้การบริหารประเทศเกาหลีในภาพรวมมีความเป็นเอกภาพ สหประชาชาติกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปี ๑๙๔๘ แต่โซเวียตไม่ยินยอม หากยอมประเทศนี้ก็มีหวังจะอยู่ในเงาของตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ อย่างแน่นอน และอีกประการหนึ่งคือเวลานั้นโซเวียตกำลังเปล่งปลั่งมั่งคั่งด้วยดินแดนในอาณัติมากมาย ผลประโยชน์มากมายรอคอยอยู่ นอกจากไม่ยินยอมแล้ว โซเวียตยังได้ตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นมาปกครองเกาหลีเหนือ นับเป็นจุดกำเนิดของตระกูลอมตะของเกาหลีเหนือคือ คิม อิล ซุง หรือคิมที่หนึ่ง ท่านนี้อยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง ๓๐ ปี เช่นเดียวกับสตาลิน ควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ จนได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี คิม จอง อิล บุตรชาย ว่า คิม อิล ซุง คือประธานาธิบดีตลอดกาล (Eternal President)
สงครามระหว่างประเทศเกาหลีเหนือกับประเทศเกาหลีใต้ เริ่มตั้งแต่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๕๐ ถึง ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๕๓ เป็นหนึ่งในสงครามตัวแทนระหว่างช่วงสงครามเย็นของ สหรัฐฯ กับ โซเวียต ซึ่งทั้งคู่ต่อสู้กันแบบมีทักษะขั้นเทพทุกมิติไปจนถึงชั้นอวกาศกันเลยทีเดียว หากแต่ในสงครามครั้งนี้มีจีนออกหน้าแทนโซเวียตมาก เนื่องจากท่านประธานเหมาและสตาลินยังมีการติดต่อกันและมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น จีนว่าอย่างไร สตาลินก็ว่าอย่านั้น
ความร้าวฉานและความพยายามในการรวมชาติเพื่อเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว เดินมาถึงจุดแตกหักเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๕๐ ทหารฝ่ายเกาหลีเหนือ ที่สมบูรณ์ไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ของโซเวียต ได้บุกข้ามเส้นขนานที่ ๓๘ ลงมา ครั้นถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ก็สามารถยึดกรุงโซลได้ สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน ได้มอบหมายให้นายพล ดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกในขณะนั้น เป็นผู้บัญชาการในการตอบโต้
สงครามครั้งนี้ เป็นสงครามแห่งศักดิ์ศรี ต่างฝ่ายต่างมีพวกพ้อง ฝ่ายเกาหลีใต้มีแรงหนุนจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ประเทศออสเตรเลีย และกองกำลังของประเทศอื่นๆ โดยคำสั่งของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเราด้วย ฝ่ายเกาหลีเหนือมีโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในยุคของประธานเหมา คอยหนุนหลังอย่างเต็มที่
เมื่อกองกำลังของสหรัฐฯ โดยการนำของนายพลอย่างแมคอาเธอร์แล้ว ต้องเห็นผลแค่แพ้กับชนะเท่านั้น ดังนั้นในวันที่ ๕ กรกฎาคม ปี ๑๙๕๐ กองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรได้บุกเข้าสู่เกาหลีเหนือ เพื่อตอบโต้และยึดครองกันเลย พวกเขาไปไกลถึงแม่น้ำยาลู ที่เป็นเส้นกั้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ แต่ด้วยความเห็นต่างนานาประการของผู้บริหารที่เหนือกว่า โดยเฉพาะประธานาธิบดี ทรูแมน ซึ่งมองว่า สงครามจะบานปลายและที่สำคัญคือ กองทัพได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตอบโต้แล้วคือ การผลักดันให้กองทัพเกาหลีเหนือพ้นเส้นขนานที่ ๓๘ ออกไปยังบ้านของตนเอง นอกจากไม่เห็นด้วยแล้ว ทรูแมน ยังสั่งปลดการปฎิบัติหน้าที่ของแมคอาเธอร์ อีกด้วย คงจะเกรงว่า หากปล่อยไปเขาอาจพากองทัพเข้ายึดจีนอีกแน่ๆ นี่แหละจุดต่างของนักรบกับนักบริหาร
ความพยายามในการเจรจาเพื่อสงบศึกได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเคซอง เมื่อ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๕๑ ต่อมาได้ย้ายไปเจรจากันที่ ตำบลปันมุมจอม (Punmumjom) แต่ก็ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ยังมีการรบพุ่งปะทะกันทั้งทางบกและการโจมตีทางอากาศ อย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง
การเจรจามาประสบความสำเร็จ ในยุคของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ คือประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซ็นฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ซึ่งท่านได้พยายามแสวงหาหนทางการยุติข้อขัดแย้ง และมาลงตัวกันที่การหยุดยิง (Truce) เท่านั้น โดยในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๕๓ ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างรับข้อตกลงหยุดยิงกัน ซึ่งกำหนดให้เส้นขนานที่ ๓๘ เป็นเขตปลอดทหาร และสหรัฐฯ ได้วางกำลังไว้ที่เกาหลีใต้เพื่อค้ำประกันความมั่นคงประมาณ ๒๘,๐๐๐ คน ไม่น่าเชื่อที่สนามรบกลับกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังกว่าที่ใดๆ ของเกาหลีใต้
เมื่อมองให้ลึกถึงระดับผู้นำของโซเวียตและจีนแล้ว มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การพักรบเกิดขึ้น ในปีที่การหยุดยิงเกิดขึ้นได้นั้น เป็นปีที่สตาลินเสียชีวิตและท่านครุสชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev) ขึ้นเป็นผู้นำแทน ท่านผู้นำคนใหม่นี้มีความขัดแย้งกับท่านประธานเหมามากในทุกเรื่องราว อาจเป็นเพราะเคมีที่ไม่ตรงกันมาก่อน ทำให้จีนเองต้องระวังที่จะถลำตัวในสงครามเกาหลี ไม่มีใครช่วยในเรื่องเงินและอาวุธ ต้องจ่ายเพียงคนเดียวในราคาที่แสนแพง จะส่งผลทำให้จีนตกต่ำอย่างต่อเนื่องจากสงครามนอกบ้าน เพราะประเทศตนเองก็เพิ่งเริ่มนับหนึ่งจากสงครามภายในกับเจียงไคเช็คแห่งไต้หวัน
อีกอย่างหนึ่งในเชิงนักรบหรือความเป็นอธิปไตย สตาลินอาจจะกดขี่เหมามามาก แต่ท่านเหมาก็คงพูดไม่ได้เพราะต้องพึ่งพากันอยู่มากในช่วงนั้น ก็เป็นได้ นับว่าเป็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระดับสูงของผู้นำทหาร เรื่องนี้สำคัญมากแม้ในยุคปัจจุบัน
แต่ภายหลังจากสงครามเกาหลี จีนก็จับคู่ทำสงครามตัวแทนอีกในช่วงต้นของสงครามกับสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม ซึ่งเริ่มในปี ๑๙๖๕ มีวลีที่เป็นที่จดจำของชาวโลกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชาติมหาอำนาจในยุคนั้น ที่มีจีนซึ่งกำลังเสื่อมในความสัมพันธ์กับโซเวียต ภายใต้การนำของครุสชอฟ และสหรัฐฯ คือ “Enemy’s enemies are friendly : ศัตรูของศัตรูคือเพื่อนของฉัน” เราจึงได้เห็น กีฬาปิงปองถูกนำมาเชื่อมเป็นเครื่องมือของการเมืองระหว่างประเทศ (Ping-Pong Diplomacy) ซึ่งช่วงนี้ สหรัฐอเมริกา อยู่ในยุคประธานาธิบดี นิกสัน (Richard Milhous Nixon)
เมื่อสภาวะของสงครามยังคงอยู่ ดังนั้นสงครามเย็นจึงต้องเกิดขึ้น แต่เป็นสงครามเย็นของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ แต่ต่างฝ่ายก็ยังมีคู่คิดของพวกเขาอยู่เช่นเดิม เกาหลีเหนือมุ่งมั่นไปในทางการทหาร สะสมกำลังและพัฒนาอาวุธขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่สร้างปัญหาใหญ่ให้เกิดขึ้นบนคาบสมุทรแห่งนี้ และถือเป็นปัญหาของนานาชาติไปด้วย คือการพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ ที่พวกเขาต้อการให้ยิงไปไกลถึงชายฝั่งอเมริกาด้านตะวันตก ญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ตามแนวของระยะยิง ก็ยิ่งหวาดผวาถึงภัยคุกคามที่ใกล้ตัวและก้าวร้าวเช่นนี้ เพราะเรื่อราวในอดีตที่เคยรุกรานคอยตามหลอนตลอดเวลา โดยการเปิดประเด็นของจีนและเกาหลี ซึ่งหมายถึงทั้งเหนือและใต้
เกาหลีใต้นั้น มุ่งเน้นพัฒนาบ้านเมืองในด้านเศรษฐกิจ ให้ประชาชนมีความผาสุก อยู่ดี กินดี ภายใต้การสนับสนุนเทคโนโลยีค้ำประกันความมั่นคงทางหารให้อย่างเต็มที่จากสหรัฐฯและญี่ปุ่น จนถึงขั้นที่ประเทศนี้ในยุค ๒๐๑๘ มีระดับเศรษฐกิจที่สูงมาก บ้านเมืองเจริญทัดเทียมประเทศตะวันตกที่เจริญแล้ว ส่งออกเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมายจนเป็นที่ยำเกรงของประเทศที่เคยเป็นแถวหน้าอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น และที่น่าจับตามองมากๆ คือความสามารถยกระดับในการเข้ามามีส่วนแบ่งมหาศาลในตลาดการค้าเทคโนโลยีทางทหารได้อย่างมั่นคง ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในบรรดาลูกค้าของเกาหลีใต้ด้วย คือการสั่งซื้อเครื่องบินฝึกไอพ่นขั้นสูงแบบ T-50 เครื่องบินรบรุ่นนี้ ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะสั่งซื้อ อิรัก อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่นำเข้าประจำการไปแล้ว