กองพัฒนายุทธศาสตร์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม
จากการที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ได้พัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๓ และได้ทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว จำนวน ๖ ครั้ง รวมทั้งมีการทดสอบการยิงขีปนาวุธพิสัยไกล โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กและสามารถติดตั้งบนขีปนาวุธที่มีพิสัยการยิงข้ามทวีป จนก่อให้เกิดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีและในภูมิภาค ตลอดจนส่งผลให้มีมาตรการกดดันและคว่ำบาตรต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีมาอย่างต่อเนื่อง
มาตรการกดดันและคว่ำบาตรสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีที่นำไปสู่การเจรจา :
เมื่อ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๐ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council : UNSC) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ (๑๕ : ๐) ให้มีมาตรการคว่ำบาตรต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เพิ่มเติมจากมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐) ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยการตัดลดปริมาณน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่นานาชาติส่งไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีสูงถึงร้อยละ ๙๐ ของปริมาณที่นำเข้าปกติ กำหนดให้แรงงานสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีที่ทำงานในต่างประเทศจะต้องกลับคืนสู่ภูมิลำเนาภายในเวลา ๒ ปี และห้ามนำเข้าสินค้าที่เป็นรายได้หลักของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีหลายรายการ ทั้งนี้ มติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรและคู่ค้ารายใหญ่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งสองประเทศจะคัดค้านมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการคว่ำบาตรสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
เมื่อ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกา กับผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ณ โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซา ทั้งนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ โดยนายโดนัล ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรก ที่ได้พบและหารือกับผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีในขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง สำหรับ นายคิม จอง อึน ถือเป็นผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีคนแรก ที่ได้มีการหารือทวิภาคีกับผู้นำสหรัฐอเมริกา
อย่างเป็นทางการ
สาระสำคัญของกระประชุม
เป็นการหารือแบบตัวต่อตัว และการประชุมหารือแบบเต็มคณะ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
๑) การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี : สหรัฐอเมริกาต้องการให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีขอให้สหรัฐอเมริกาให้ความมั่นใจว่า หากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องแล้ว จะมีสิ่งใดรับรองความปลอดภัยให้กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ๒) การยุติสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างสมบูรณ์ : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี มีความเห็นว่าควรมีสนธิสัญญาสันติภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่มีเพียงข้อตกลงหยุดยิงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และ ๓) การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระดับปกติกับสหรัฐอเมริกา : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีแสดงความคิดเห็นว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดสถานทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงเปียงยาง
เป็นการลงนามในบันทึกข้อตกลง จำนวน ๔ ข้อ คือ ๑) สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีให้คำมั่นว่าจะสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันครั้งใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของประชาชนทั้งสองประเทศเพื่อสันติภาพและความรุ่งเรือง ๒) สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีจะร่วมกันสร้างสันติภาพที่มั่นคงและยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี ๓) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้ากระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์แบบบนคาบสมุทรเกาหลี เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงเจตจำนงต่อปฏิญญาปันมุนจอม เมื่อ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๑ และ ๔) สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันค้นหาร่างเชลยศึกและทหารที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่สงคราม รวมทั้งส่งคืนร่างที่ค้นพบแล้วโดยเร็ว
การเจรจาและลงนามในบันทึกข้อตกลงของผู้นำทั้งสองประเทศในครั้งนี้ แม้ว่าจะทำให้คาบสมุทรเกาหลีลดความตึงเครียดลง และเป็นโอกาสที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต อย่างไรก็ตามการยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงการไม่เดินหน้าพัฒนาต่อไป ส่วนองค์ความรู้และอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่จะต้องทำลายหรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม ทั้งนี้ เชื่อว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีจะเก็บไว้เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยและอำนาจในการต่อรองสำหรับเงื่อนไขทางทหารกับสหรัฐอเมริกา และปัจจุบันสหรัฐอเมริกา ได้วางกำลังไว้ในสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน ๒๘,๐๐๐ นาย และในญี่ปุ่น จำนวน ๔๗,๐๐๐ นาย
จากการเปลี่ยนท่าทีและนโยบายอย่างคาดไม่ถึงของผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีที่เคยแข็งกร้าว และท้าทายสหรัฐอเมริกาต่อการดำเนินการโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการทดลองขีปนาวุธ มาสู่การประนีประนอมและประกาศระงับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว รวมทั้งปิดสถานที่ทดลองนิวเคลียร์ทั้งหมด ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีคลี่คลายลงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และระบบเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีอย่างรุนแรง และที่สำคัญเป็นมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรและคู่ค้าที่สำคัญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีได้ให้ความเห็นชอบด้วย
การเจรจาและลงนามในบันทึกข้อตกลงของผู้นำสหรัฐอเมริกา และผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความจริงใจของผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีในการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์โดยตรงจากการแสดงเจตนาร่วมมือกันสร้างสันติภาพที่มั่นคงและยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี ได้สร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการเผชิญหน้าทางทหารที่จะนำไปสู่การทำสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี ที่นานาชาติต่างวิตกกังวล
ที่ผ่านมามีประชาชนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีหลบหนีออกจากประเทศ และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ไทยส่งตัวกลับไปยังสาธารณรัฐเกาหลี (ปี พ.ศ.๒๕๕๙ จำนวน ๕๓๕ คน และปี พ.ศ.๒๕๖๑ จำนวน ๓๐ คน) และมีแนวโน้มจะเพิ่ม มากขึ้น จากสถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีที่สืบเนื่องจากโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และมาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ทำให้ชาวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น และจากสถานการณ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีในครั้งนี้ จะทำให้จำนวนชาวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีที่ต้องการลี้ภัยไปสาธารณรัฐเกาหลี โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านลดน้อยลงและจะหมดไปในที่สุด หากมีการรวมชาติเกาหลีเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของประชาชนของทั้งสองประเทศที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการรวมชาติ