แนะนำอาวุธเพื่อนบ้าน เครื่องบินโจมตีแบบ เอ-๒๙ ซูเปอร์ทูคาโน

1

กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ (PAF) จัดหาเครื่องบินฝึกโจมตีเบาแบบซูเปอร์ทูคาโน (A-29 Super Tucano)     รวม ๖ เครื่อง เป็นเงิน ๙๙ ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ สาเหตุมาจากห้วงเกิดการรบที่เมืองมาราวี (Battle of Marawi) ระหว่างวันที่ ๒๓ พฤษภาคม – วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐         กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ไม่มีเครื่องบินโจมตีที่แท้จริงและพร้อมรบประจำการในขณะนั้น ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเรียกว่า สนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด (CAS : Close Air Support) ได้เกิดขึ้นรวมสองครั้ง (วันที่ ๓๑พฤษภาคม และวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงไม่สามารถที่จะลดขีดความสามารถในการรบของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มมาอูเต้ (Maute) และกลุ่มอาบูซายัฟ (Abu Sayyaf)         ที่ได้เข้ายึดเมืองมาราวี (Marawi) ไว้ได้ให้หมดสภาพอย่างรวดเร็วจึง เป็นการรบที่ยืดเยื้อ เมื่อการรบได้ยุติลงตัวเมืองมาราวีได้รับความเสียหายอย่างหนักทั้งเมือง (ใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่กว่า ๑,๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ) กองทัพอากาศฟิลิปปินส์จะได้นำเข้าประจำการทดแทนเครื่องบินโจมตีรุ่นเก่าแบบโอวี-๑๐   (OV-10A Bronco) ประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๔ ฝูงบินที่ ๑๖ ฐานทัพอากาศดานิโล อะเทียซ่า (Danilo Atienza) อ่าวมนิลา เกาะลูซอน ปัจจุบันมีปัญหาทางด้านการส่งกำลังและซ่อมบำรุง (กองทัพสหรัฐอเมริกา  ปลดประจำการปี พ.ศ.๒๕๓๘) กองทัพอากาศฟิลิปปินส์จะได้รับมอบเครื่องบินนำเข้าประจำการปี พ.ศ.๒๕๖๒     ฟิลิปปินส์พื้นที่ขนาด ๓๔๓,๔๔๘_ตารางกิโลเมตร มีเกาะประมาณ ๗,๖๔๑ เกาะ ชายฝั่งทะเลขนาด ๓๖,๒๘๙ กิโลเมตร ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีความขัดแย้งในปัญหาหมู่เกาะสแปรตส์กับประเทศเพื่อนบ้านรวม ๕ ประเทศ       การลาดตระเวนทางอากาศจึงมีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ

เครื่องบินฝึกชนิดสองที่นั่งแบบซูเปอร์ทูคาโน (EMB 314 Super Tucano/A-29) สร้างเครื่องบินต้นแบบขึ้นรวมสามเครื่องเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ เครื่องบินต้นแบบทำการขึ้นบินครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อมูลที่สำคัญคือ ยาว ๑๑.­๓๘ เมตร สูง ๓.๙๗ เมตร ช่วงปี ๑๑.๑๔ เมตร พื้นที่ปีก ๑๙.๔ ตารางเมตร น้ำหนักปกติ ๓,๒๐๐ กิโลกรัม น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด ๕,๔๐๐ กิโลกรัม เครื่องยนต์ เทอร์โบพรอฟ (PT6A-68C) ขนาด ๑,๖๐๐ แรงม้า ความเร็ว ๕๙๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รัศมีทำการรบ ๕๕๐ กิโลเมตร       บินนาน ๘ ชั่วโมง (กับอีก ๒๔ นาที) เพดานบินสูง ๑๐,๖๖๘ เมตร (๓๕,๐๐๐ ฟุต) ติดตั้งปืนกลอากาศขนาด ๑๒.๗ มิลลิเมตร (รวม ๒ กระบอก) ติดตั้งอาวุธได้ ๕ จุด (ใต้ปีกด้านละสองจุดและใต้ลำตัวหนึ่งจุด) น้ำหนักรวม ๑,๑๕๐ กิโลกรัม (๓,๓๐๐ ปอนด์) ประกอบด้วย จรวดนำวิถีโจมตีภาคพื้นดิน ระเบิดโจมตีภาคพื้นดิน       และจรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยาน งบประมาณใช้ในการพัฒนาเครื่องบินเป็นเงินประมาณ ๒๐๐ – ๓๐๐      ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตออกมาสองรุ่นคือ เอ-๒๙เอ (A-29A) รุ่นติดอาวุธทำการลาดตระเวนโจมตีเบา          และเอ-๒๙บี (A-29B) รุ่นฝึกนักบินกองทัพอากาศบราซิลนำเข้าประจำการ ๙๙ เครื่อง ประกอบด้วย รุ่นเอ-๒๙เอ รวม ๓๓ เครื่อง และรุ่นเอ-๒๙บี รวม ๖๖ เครื่อง ประจำการ ๔ ฝูงบิน ปัจจุบันมิตรประเทศนำเข้าประจำการ ๑๗ ประเทศ ผลิตขึ้นทั้งสิ้นกว่า ๒๔๗ เครื่อง เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีเบาที่มีค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการที่ต่ำกว่าเครื่องบินโจมตีแบบไอพ่นแต่มีความแม่นยำสูงเนื่องจากมีความเร็วเหมาะที่จะทำการโจมตีเป้าหมายทางพื้นดิน     พร้อมด้วยระบบนำวิถีของระเบิดมีความทันสมัย

ประเทศนำออกปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญประกอบด้วย บราซิล (นำออกโจมตีขบวนการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดนเพื่อนบ้าน เช่น โบลิเวีย โคลัมเบีย อุรุกวัย อาร์เจนตินา ปารากวัย และเปรู ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๔) โคลัมเบีย (จัดหาเครื่องบินรวม ๒๕ เป็นเงิน ๒๓๔ ล้านเหรียญสหรัฐ พ.ศ.๒๕๔๙     นำออกปฏิบัติการทางทหารโจมตีกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฟาร์ก มีกำลังพลประมาณ ๗,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ คน   มีที่ตั้งตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน สามารถจะทำลายเป้าหมายที่สำคัญได้หลายครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๙ – ๒๕๕๕) และอัฟกานิสถาน กองทัพอากาศอัฟกานิสถาน (AAF) ประจำการด้วนเครื่องบินฝึกโจมตีเบารุ่นใหม่แบบ ซูเปอร์ทูคาโน (EMB 314 Super Tucano) จำนวน ๒๐ เครื่อง เป็นเงิน ๔๒๗ ล้านเหรียญสหรัฐ(สหรัฐอเมริกาจัดหาให้ครั้งแรก ๑๕ เครื่อง และจัดหาเพิ่มเติมอีก ๕ เครื่อง) ได้รับมอบชุดแรกรวม ๔ เครื่อง  ประจำการที่สนามบินนานาชาติฮามิดคาร์ไซ (Hamid Karzai) เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้รับการฝึกนักบินชุดแรก ๑๗ นาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้นดิน ๔๘ นาย (เป็นเจ้าหน้าที่ชุดแรก)    กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาลดกำลังทหารประจำการอยู่ที่ประเทศอัฟกานิสถาน พร้อมทั้งทยอยปลดเครื่องบินโจมตีแบบเอ-๑๐ (A-10 Thunderbolt-II) จึงต้องให้กองทัพอากาศอัฟกานิสถาน ประจำการด้วยเครื่องบินโจมตี นำออกปฏิบัติการทางทหารปี พ.ศ.๒๕๖๐ ทำการโจมตีรวม ๒,๐๐๐ เที่ยวบิน เดือนตุลาคม ได้รับภารกิจมากกว่า ๘๐ ภารกิจบิน (ระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์) ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ รับมอบประจำการ ๑๒ เครื่อง กองทัพอากาศอัฟกานิสถานทำการโจมตีกองกำลังติดอาวุธทาลิบัน (Taliban) ที่จังหวัดฟาราห์ (Farah) ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศ ด้วยจรวดนำวิถีด้วยแสงเลเซอร์แบบจีบียู-๕๘ (GBU-58 Paveway-II)  ขนาด ๒๕๐ ปอนด์ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑

2

กองทัพอากาศอินโดนีเซีย (TNI-AU) ประจำการด้วยเครื่องบินโจมตีเบาแบบเอ-๒๙ ฝูงบินที่ ๒๑     ฐานทัพอากาศอับดุล รัชมัน ซาเลาะฮ์ (Abdul Rachman Saleh) จังหวัดชวาตะวันออก เพื่อจะนำประจำการทดแทนเครื่องบินโจมตีรุ่นเก่าแบบโอวี-๑๐ (OV-10 Bronco) ประจำการมาเป็นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ จัดหาครั้งแรก ๘ เครื่อง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ (รับมอบชุดแรกรวม ๔ เครื่อง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕)   ต่อมาได้จัดหาเพิ่มเติมอีก ๘ เครื่อง เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕ พร้อมด้วยเครื่องฝึกบินจำลอง     รวมจัดหาทั้งสิ้น ๑๖ เครื่อง ต่อมาเครื่องบินโจมตีเบาเอ-๒๙ ได้ประสบอุบัติเหตุตก เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ขณะทำการฝึกบินตามวงรอบปกติ นักบินสามารถดีดตัวออกมาได้ (ต่อมาได้เสียชีวิต) ปัจจุบันคงเหลือประจำการรวม ๑๕ เครื่อง อินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่พื้นที่ขนาด ๑.๙ ล้านตารางกิโลเมตร มีเกาะประมาณ ๑๘,๓๐๗ เกาะ ชายฝั่งทะเลยาว ๕๔,๗๒๐ กิโลเมตร ความยาวจากทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ขนาด ๕,๑๒๐ กิโลเมตร และความกว้าง ทิศเหนือ – ทิศใต้ ขนาด ๑,๗๖๐ กิโลเมตร การลาดตระเวนทางอากาศสามารถทำการบินตรวจการณ์ตามแนวชายแดนได้อย่างรวดเร็วและเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่                 จึงมีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ