หลักประการที่ ๔ ให้ข้าราชการพลเรือนมีวินัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบันทึกเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงโทษข้าราชการ ที่นาย อาร์.กียอง ร่างถวาย มีข้อความในพระราชบันทึกตอนหนี่งว่า
“…ร่างพระราชบัญญัติ ควรส่งไปให้เสนาบดีออกความเห็นมาก่อน เติมคิดว่าจะให้ออกให้ทันใช้ในศกหน้ารวมกันกับระเบียบการรับข้าราชการพลเรือนเข้าทำราชการ แต่ถ้าจะออกระเบียบการลงโทษนี้เสียก่อนก็ได้ ให้เสนาบดีพิจารณาว่าจะ ๑. ควรออกพระราชบัญญัติระเบียบการลงโทษโดยเร็วหรือจะรอเอาไว้ออกพร้อมกับระเบียบการรับคนเข้าทำราชการ ๒. จะควรทำเป็นสองพระราชบัญญัติหรือรวมไปในพระราชบัญญัติเดียวกัน…”
เมื่อเป็นที่ตกลงกันว่าให้รวมระเบียบการลงโทษข้าราชการกับระเบียบการรับคนเข้าทำราชการไว้ในพระราชบัญญัติเดียวกันจึงมีคำปรารภในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พ.ศ.๒๔๗๑ ซึ่งแสดงพระราชประสงค์มีความตอนหนึ่งว่า
“…ส่วนฝ่ายข้าราชการก็ให้ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น เนื่องจากความสะพรั่งพร้อมด้วยข้าราชการซึ่งมีความสามารถและอุบายของราชการกับหน้าที่ และวินัยอันตนพึงรักษาเป็นนิตยกาล…”
พระราชบันทึกและพระราชประสงค์ตามคำปรารภในพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นหลักฐานยืนยันว่าทรงวางรากฐานระบบข้าราชการพลเรือนให้ข้าราชการพลเรือนมีวินัยด้วยทั้งนี้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้บัญญัติเกี่ยวกับวินับและการลงโทษไว้หลายประการ
สำหรับวินัยที่กำหนดให้ข้าราชการต้องถือปฏิบัติได้แก่
๑. อุทิศเวลาทั้งหมดของตนให้แก่ราชการ
๒. รักษาชื่อเสียงมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
๓. เคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา
๔. ถือประโยชน์ของราชการแผ่นดินเป็นที่ตั้ง
๕. ไม่กระทำกิจการใด ๆ อันอาจเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ส่วนวินัยที่เป็นข้อห้ามมิให้ข้าราชการปฏิบัติได้แก่
๑. ห้ามมิให้อาศัยอำนาจหน้าที่ราชการจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือแก่ญาติมิตรของตน
๒. ห้ามมิให้เป็นตัวกระทำการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใดๆ
๓. ห้ามกระทำการหาผลประโยชน์ใดๆ อันอาจเป็นทางทำให้เสียความเที่ยงธรรมในตำแหน่งหน้าที่ของตน
๔. ในการปฏิบัติราชการ ห้ามมิให้กระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตนเว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วคราว
นอกจากนี้ ยังได้บัญญัติให้ข้าราชการต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยจะเสนอทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ต้องเสนอทันที และเมื่อได้เสนอทัดทานแล้วผู้บังคับบัญชามิได้สั่งถอนหรือแก้ไขคำสั่งที่สั่งไป ข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องปฏิบัติตาม
สำหรับโทษผิดวินัยข้าราชการพลเรือน พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดไว้ ๔ สถาน
๑. ไล่ออก
๒. ลดตำแหน่งหรือลดขั้นเงินเดือน
๓. ตัดเงินเดือน
๔. ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร
การวางรากฐานของระบบข้าราชการพลเรือนด้วยหลัก ๔ ประการ ให้สัมฤทธิผลได้ ก็ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ทรงมีพระราชดำริให้วางระบบข้าราชการพลเรือน ทรงขอคำปรึกษาจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้รู้ ทรงร่วมพิจารณาร่างระเบียบฯ ทรงรับสั่งถามในข้อสงสัย การแก้ไขถ้อยคำ หาความหมาย ขณะเมื่อร่างก่อนจะเป็นพระราชบัญญัติที่สมบูรณ์ด้วยพระองค์เอง
พระราชดำริให้วางระบบข้าราชการพลเรือน ปรากฏหลักฐานตามหนังสือราชเลขาธิการทูลสมาชิกอภิรัฐมนตรีและเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพทูลเกล้าฯ ถวายและร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงโทษข้าราชการพลเรือน และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้อภิรัฐมนตรี และเสนาบดีพิจารณาถวายความเห็น
ส่วนที่ทรงขอคำแนะนำจากผู้ที่เกี่ยวข้องและรู้นั้นปรากฏว่า ทรงขอความเห็นเกี่ยวกับร่างระเบียบข้าราชการพลเรือนและร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงโทษข้าราชการพลเรือนจากอภิรัฐมนตรี และเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ตลอดจนรับฟังความเห็นของที่ปรึกษากระทรวงต่างๆ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของที่ปรึกษากระทรวง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มีอังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกัน แสดงให้เห็นว่าทรงมีความรอบคอบระมัดระวังในการริเริ่มวางหลักใหม่เป็นครั้งแรกและมีพระราชหฤทัยเป็นนักประชาธิปไตยที่จ้ะองรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะตัดสินพระราชหฤทัย
การที่ทรงรับสั่งถามข้อสงสัยในร่างระเบียบข้าราชการพลเรือน มีทั้งพระราชทานคำแนะนำ และทรงแก้ไขถ้อยคำในระเบียบฯ ดังปรากฏหลักฐานร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนที่กรรมการร่างพระราชบัญญัตินำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย มีพระราชหัตถเลขาด้วยเส้นดินสอแดงบ้าง น้ำเงินบ้าง ซึ่งราชเลขาธิการได้บันทึกไว้ว่า “มีพระราชกระแสว่าพระราชหัตถเลขาที่ทรงเขียนด้วยเส้นแดงนั้น เป็นพระราชดำรัส ส่วนที่ทรงเขียนด้วยดินสอน้ำเงินนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สอบสวน ทั้งนี้แสดงถึงว่า ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้ในหลักวิชาและระเบียบ เกี่ยวกับระเบียบข้าราชการพลเรือนอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง
ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า “ข้าราชการพลเรือน” ยังไม่ได้ใช้กันเป็นทางการ เพียงแต่มีการแบ่งเรียกข้าราชการเป็น ๒ ฝ่าย คือ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” และ “ข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ซึ่งจะมีคำว่า “ฝ่าย” อยู่ด้วย คำว่า “ข้าราชการพลเรือน” ซึ่งไม่มีคำว่า “ฝ่าย” เพิ่งจะใช้เป็นทางการ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๙๑ ขึ้น โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ตราขึ้นตามหลัก ๔ ประการที่ทรงมีพระราชดำริพระราชทานไว้ดังกล่าวข้างต้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๑ คำปรารภว่า
“…พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
โดยที่มีพระราชประสงค์ จะทรงวางระเบียบข้าราชการพลเรือนให้เป็นไปในทางเลือกสรรผู้มีความรู้และความสามารถเข้ารับราชการเป็นอาชีพ ไม่มีกังวลด้วยการแสวงผลประโยชน์ในทางอื่น ส่วนฝ่ายข้างราชการก็ให้ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น เนื่องจากความสะพรั่งพร้อมด้วยข้าราชการซึ่งมีความสามารถและรอบรู้ในวิถีและอุบายของราชการ กับทั้งหน้าที่และวินัยอันตนพึงรักษาเป็นนิตยกาล
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้…”