การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’ Meeting : ADMM  ตอนที่ ๑

พลตรี ชัยวิทย์   ชยาภินันท์

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าพิธีรับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนปี พ.ศ.๒๕๖๒ ณ ประเทศสิงคโปร์ จากนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าในปี พ.ศ.๒๕๖๒ ประเทศไทยจะดำรงบทบาทการเป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการใน ๑ ปีข้างหน้านี้ พร้อมกับได้มีการประกาศความคิดสำหรับปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนคือร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ประการคือ

๑. การก้าวไกล (Advancing) โดยให้อาเซียนมองและก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์ จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ ไปกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด และความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต

           ๒. การร่วมมือ ร่วมใจ (Partnership) ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับประเทศ
คู่เจรจาและประชาคมโลก โดยคำนึงถึงความสมดุลและประโยชน์ต่อประชาชน และเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก

๓. ความยั่งยืน (Sustainability) ด้วยการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ประกอบด้วย ความมั่นคงที่ยั่งยืน ความยั่งยืนด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับในเรื่องของการเมืองและความมั่นคงนั้น อาเซียนมีเสาหลักด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community : APSC) ที่รับผิดชอบในการดำเนินบทบาท ทั้งยังมีกลไกสำคัญ ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันของประเทศสมาชิกคือกระทรวงกลาโหมของแต่ละประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีกลไกสำคัญ
ที่เรียกว่า การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’ Meeting : ADMM)

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกันก่อนกว่าอาเซียนหรือ ASEAN คือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ ณ วังสราญรมย์  ในกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร  ซึ่งมีประเทศสมาชิกเริ่มแรก ๕ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย  ต่อมาได้มีการรับประเทศสมาชิกเพิ่มจนในปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกรวม ๑๐ ประเทศ โดยมีการยึดมั่นบนพื้นฐานของหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันและการก้าวเดินไปพร้อมๆกัน ด้วยความเสมอภาค จึงนำมาสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ในหลักการการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งอำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อประเทศสมาชิกในภูมิภาคเป็นอย่างมาก อาทิ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจที่ก้าวเดินควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการด้านความมั่นคง  ส่งผลให้บรรยากาศการการค้า การลงทุนในภูมิภาคขยายตัวไปจนเกิดความมีเสถียรภาพตามลำดับ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา ๕๐ ที่ผ่านมา อาเซียนต้องเผชิญภัยคุกคามนานาประการ โดยเฉพาะภัยคุกคามในยุคสงครามเย็นต่อเนื่องมาจนเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การเผชิญหน้าทางการทหาร  แต่เป็นการเผชิญการท้าทายจากภัยร้ายที่เกิดขึ้นภายนอกภูมิภาค แต่แพร่กระจายมาสู่ภูมิภาค พร้อมกับความเจริญก้าวหน้าทั้งทางเทคโนโลยีและแนวคิดการทำงานใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์  ประกอบด้วย  การก่อการร้าย  อาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเกิดสาธารณภัย และภัยพิบัติ   สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่อาเซียนจะต้องเผชิญ  อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้ภัยคุกคามนั้นอยู่บนความรับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่ง  อาจทำให้เกิดความสูญเสียและส่งผลกระทบวงกว้างต่อภูมิภาคได้

เนื่องจากห้วงเวลาที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตกเป็นเป้าหมายการดำเนินยุทธศาสตร์ในยุคสงครามเย็น ทำให้ประเทศสมาชิกต่างต้องดำเนินกิจกรรมการรักษาความมั่นคงทั้งภายในประเทศเอง รวมถึงการรักษาความมั่นคงภายในภูมิภาคเพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศตนเอง  การดำเนินการจึงมักใช้จะเพิ่มศักยภาพทางการทหารและยุทโธปกรณ์เพื่อการรักษาความมั่นคงของประเทศตนเอง  ผลตามมา คือ อาจเกิดความไม่สบายใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและนำมาสู่ความหวาดระแวงต่อกัน ดังนั้น ผู้นำทางทหารของประเทศสมาชิกจึงได้หามาตรการในการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน  โดยใช้การกีฬาเป็นสื่อกลางในการลดความหวาดระแวงระหว่างกัน จึงได้ตกลงจัดการกีฬาแข่งขันยิงปืนของกองทัพบกประเทศสมาชิกอาเซียน  โดยใช้ชื่อว่า การทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียน โดยได้จัดอย่างต่อเนื่องและพัฒนาขึ้นเป็นการพบปะหารือกันของผู้บัญชาการทหารบกของประเทศสมาชิก โดยใช้ชื่อว่า การประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Chief of Armies  Multilateral Meeting : ACAMM)  และมีการจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุดอาเซียนที่เป็นการพัฒนาความร่วมมือทางทหารอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ ๙ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย  ประเทศไทยได้เสนอแนวคิดเรื่องการจัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’Meeting : ADMM) ต่อที่ประชุมฯ และในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗  ณ กรุงเวียงจันทน์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ประชุมได้ให้การรับรองแนวคิดเรื่องการจัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM)  โดยที่การริเริ่มการประชุม ADMM นั้น ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือทางทหารของอาเซียนให้เทียบเท่ากับความร่วมมือในด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจ  จึงได้รับการตอบรับอย่างเป็นที่น่าพอใจจากประเทศสมาชิกอาเซียน  โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญของการประชุม ADMM กล่าวคือ

๑) เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคผ่านกลไกการหารือและความร่วมมือด้านความมั่นคง

๒) เพื่อให้คำแนะนำและแนวทางต่อเวทีการหารือและความร่วมมือที่มีอยู่แล้วของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ภายในกลุ่มประเทศอาเซียน  และระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศอื่นๆ

๓) เพื่อสนับสนุนความไว้วางใจระหว่างกันและสร้างความเชื่อมั่น  โดยการสร้างความโปร่งใส และเปิดเผย

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดและพัฒนาโครงสร้างและกลไกการประชุม ADMM ออกเป็นการประชุม ๒ เวที คือ

เวทีแรก คือ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting : ADSOM)  ซึ่งเป็นการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสในระดับปลัดกระทรวงกลาโหมหรือเทียบเท่า โดยมีหน้าที่หลักคือเตรียมการสำหรับการประชุม ADMM  ซึ่งจะพิจารณาความเหมาะสมของหัวข้อการหารือและพิจารณาแก้ไขร่างเอกสารต่างๆ ที่จะให้รัฐมนตรีกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียนรับรองในระหว่างการประชุม ADMM  อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการประชุม ADSOM นั้น จะจัดให้มี การประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน (ADSOM Working Group) เป็นการประชุมคณะทำงานในระดับผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหมหรือผู้แทน  เพื่อเตรียมการด้านสารัตถะและธุรการสำหรับการประชุม ADMM และ ADSOM โดยจะร่วมกันกำหนดหัวข้อการหารือ เตรียมการด้านเอกสารที่เกี่ยวกับการประชุมและด้านธุรการอื่นๆ

เวทีที่สอง คือ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM Retreat) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้รัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียน มีโอกาสได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย  เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน

สำหรับการประชุม ADMM ครั้งที่ ๑ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่  ๘ – ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙  ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์  ประเทศมาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยเคยได้จัดการประชุม ADMM มาแล้วหนึ่งครั้ง คือ การประชุม ADMM ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๕๒ โดยมีกิจกรรมระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ณ โรงแรม Royal Cliff Beach Resort เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้น ได้มีการประชุม ADMM อย่างต่อเนื่องอีก ๙ ครั้ง  โดยครั้งล่าสุดคือการประชุมเป็นครั้งที่ ๑๒ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ ประเทศสิงคโปร์ และมีการพัฒนาขยายผลการประชุมเพิ่มเติมอีกหนึ่งเวทีคือ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมของประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM Plus (ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ และประเทศคู่เจรจา ๘ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, รัสเซีย และ สหรัฐฯ)

ดังนั้น การประชุม ADMM ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ จึงเป็นการประชุม ADMM ครั้งที่ ๑๓ ซึ่งจะเป็นการดำเนินบทบาทของกระทรวงกลาโหมต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นที่เข้าร่วมการเจรจา จึงนำมาสู่การดำเนินบทบาทด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมและการทหารในระดับเวทีสากลที่นำเกียรติภูมิมาสู่ประเทศไทย
สมดังภารกิจที่ประเทศไทยได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๒ กล่าวคือ

“ มาตรา ๕๒ รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ

           แห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคง

           ของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร

           การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ

456