“เพราะธงชาติและเพลงชาติไทย คือสัญลักษณ์ของความเป็นไทย คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกราช ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นหรือ อาณานิคมของชาติใด รวมถึงความเสียสละของบรรพบุรุษไทยทุกยุคสมัย ในการปกป้องรักษาแผ่นดินให้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน”
วันที่ 28 กันยายน 2564 นี้ เป็นวันครบรอบ 104 ปี วันพระราชทานธงชาติไทย เป็นวันที่ระลึกโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6)ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460
ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2560 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย โดยประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ
สำหรับประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย เมื่อสืบค้นจากหลักฐานต่างๆ ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พุทธศักราช ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑)
เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการค้าขายทางเรือ มีลักษณะเป็นธงผ้าสีแดงเกลี้ยง โดยในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวไว้ว่า มีเรือสินค้าของฝรั่งเศสลำนึงได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงป้อมวิชัยประสิทธิ์ของไทย เรือฝรั่งเศสก็ชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายไทยยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม แต่เมื่อฝ่ายไทยชักธงขึ้นตอบบ้าง ฝ่ายฝรั่งเศสกลับไม่ยิงสลุตคำนับตอบ เพราะไทยชักธงชาติฮอลันดาขึ้น ด้วยเหตุว่าขณะนั้นไทยไม่มีธงชาติของตนใช้ (ขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย
เมื่อมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วน เป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง โดยกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กล่าวไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก ๓ ช้าง ถือเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย มีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น เนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรในพุทธศักราช ๒๓๙๘ พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดง มีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์และธงพื้นแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปซ้ำกับประเทศอื่น
สำหรับการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย โดยให้ชื่อว่า ธงเกตุ ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน
ส่วนธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมา จนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัยและทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎร ซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ มีพระราชดำริว่า ธงช้างทำยากและไม่ได้ทำแพร่หลายในประเทศ โดยธงช้างที่ขายตามท้องตลาดนั้นมักจะเป็นธงที่ผลิตจากต่างประเทศ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง จนกระทั่งกลายเป็นธงไตรรงค์ ธงชาติไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน