เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy) และเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาฯ จัดส่ง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy) ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy) จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลกในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน ๑.๕ – ๒ องศาเซลเซียส โดยมุ่งสู่การปล่อยก๊าชเรือนกระจกของโลกในระดับสูงสุดโดยเร็วที่สุดและดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ตามข้อ ๔ วรรค ๑๙ ของความตกลงปารีส ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศจัดทำขึ้นและสื่อสารยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ โดยคำนึงถึงหลักความรับผิดชอบร่วมกันที่แตกต่าง(Common but differentiated responsibilities and respective capabilities, CBDR) ของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีระดับการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสูงสุด ณ ปีคริสต์ศักราช ๒๐๓๐ มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emissions) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีความพยายามในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปีคริสต์ศักราช ๒๐๖๕ ในขณะที่การยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้ ซึ่งยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ของประเทศไทยจัดทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนและสอดคล้องตามแนวทางการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลก กรณี ๒ องศาเซลเซียส ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) และมีเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีคริสต์ศักราช ๒๐๖๕
ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและขนส่งอย่างเร่งด่วน รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าการลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปีคริสต์ศักราช ๒๐๕๐ และช่วยลดผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านพลังงานหรือการลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจากการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (co-benefit) อื่นด้วย เช่น ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรมีปริมาณลดลงทำให้มลพิษทางอากาศ ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ PM 2.5 ลดลง โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ