“คาถาศักดิ์สิทธิ์และตราประจำโรงทหารหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๕”
ท่านใดที่เดินทางผ่านไปมาด้านหน้าศาลาว่าการกลาโหม ถ้าลองสังเกตให้ดี นอกจากความสวยงามและสีสันที่ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของตัวอาคารแล้ว บริเวณหน้าบัน (โครงสร้างหลังคาบริเวณสามเหลี่ยมหน้าจั่ว) ของตัวอาคารยังมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้รูปแบบสถาปัตยกรรม นั่นคือการประดับตราสัญลักษณ์ที่สำคัญเอาไว้ ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับกระทรวงกลาโหม วันนี้แอดมินจะพาไปทำความรู้จักกันค่ะ …
ตราสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนหน้าบันของอาคารศาลาว่าการกลาโหมในปัจจุบันนี้ เป็นพระคาถาหรือตราประจำโรงทหารหน้า (กระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) มาแต่เดิม ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ ในขณะที่กำลังก่อสร้างอาคารโรงทหารหน้าใกล้แล้วเสร็จ รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ผู้บังคับการกรมทหารหน้า ในขณะนั้น เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม โดยพระองค์มีพระราชประสงค์พระคาถาสำหรับประจำตรากรมทหารหน้า
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ทรงผูกคาถาถวายทั้งหมด ๔ คาถา ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงคัดเลือกบทพระคาถาบาลีจำนวน ๑ บทจากทั้งหมด ๔ บท คือ “วิเชฺตฺวา พลตาภูปํ รฏเฐ สาเธตฺ วุทฺฒิโย” แปลว่า “ขอให้พระมหากษัตริย์เจ้า พร้อมด้วยปวงทหาร จงมีชัยชนะ ยังความเจริญสำเร็จในแผ่นดินเทอญ” ให้เป็นตราประจำทหารหน้า และพระคาถาบทดังกล่าวได้ถูกนำมาประดับไว้บนหน้าบันของอาคารโรงทหารหน้ามาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลากว่า ๑๓๔ ปีมาแล้ว อีกทั้งพระคาถานี้ยังได้ถูกใช้เป็นตราต่างๆ ของทหารหน้าในขณะนั้นอีกด้วย
คาถาดังกล่าว ประกอบด้วย พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ อยู่เหนือจักรและช้างสามเศียร ขนาบข้างด้วยพระคชสีห์และพระราชสีห์เชิญพระมหาเศวตฉัตรขนาบจักรและพระเกี้ยว ถัดลงมาคือลายเครือเถาว์หรือพันธุ์พฤกษา และด้านล่างสุดมีแถบผ้าหรือริบบิ้นที่เขียนพระคาถาภาษาบาลีดังกล่าว ซึ่งสัญลักษณ์ต่างๆ ที่นำมาใช้มีความหมาย ดังนี้
– พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ หมายถึง พระราชลัญจกรรัชกาลที่ ๕
– จักรและช้างสามเศียร หมายถึง ราชวงศ์จักรีปกครองประเทศสยาม
– พระคชสีห์และพระราชสีห์ เป็นตัวแทนฝ่ายทหารและพลเรือน ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์
ในโอกาสหน้า ถ้าท่านใดผ่านมาหน้าศาลาว่าการกลาโหม ลองสังเกตกันดูนะคะ ว่านอกจากหน้าบันที่มีพระคาถาหรือตราสัญลักษณ์ที่แอดมินได้นำเสนอแล้ว ยังมีสิ่งไหนของตัวอาคารที่น่าสนใจอีกบ้าง บางทีสิ่งที่เราเห็นจนชินตา อาจมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ในนั้นก็ได้ค่ะ 🙂
เอกสารอ้างอิง
– กระทรวงกลาโหม. ๑๓๒ เรื่องเล่าศาลาว่าการกลาโหม. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ๒๕๖๒.
– สุรศักดิ์มนตรี (เจิม). ประวัติการของจอมพล เจ้าพระยา
สุรศักดิ์มนตรี. [ม.ป.ท.]:ม.ป.พ. ๒๔๗๖. สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๔. จาก https://digital.library.tu.ac.th/…/Info/item/dc:48266.
– สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม. ตามรอยคชสีห์. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ม.ป.พ.
หน้าบันของอาคารศาลาว่าการกลาโหม ที่ยังคงประดับตราสัญลักษณ์ประจำโรงทหารหน้า มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๗ จนถึงปัจจุบัน
พระคาถาที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามได้ทรงผูกถวายรัชกาลที่ ๕ และพระองค์ทรงเลือกพระคาถานี้ จาก ๑ ใน ๔ บท ซึ่งนำมาใช้เป็นพระคาถาสำหรับประจำตรากรมทหารหน้าในขณะนั้น อ่านว่า “วิเชฺตฺวา พลตาภูปํ รฏเฐ สาเธตฺ วุทฺฒิโย” แปลว่า “ขอให้พระมหากษัตริย์เจ้า พร้อมด้วยปวงทหาร จงมีชัยชนะ ยังความเจริญสำเร็จในแผ่นดินเทอญ”
ภาพกราฟฟิกแสดงรายละเอียดที่ประกอบขึ้นเป็นตราสัญลักษณ์ดังกล่าว