ถึงแม้คำว่า “สงคราม” จะเป็นคำที่ฟังดูแล้วโหดร้าย สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน
เป็นอย่างมาก แต่ในความโหดร้ายนั้นก็มักมีความภาคภูมิใจตามมาด้วยเสมอ ดังเช่นในสงครามโลกครั้งที่ ๑
ที่เหล่าทหารกล้าได้เดินทางไปร่วมรบสงครามครั้งใหญ่ในทวีปยุโรป เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของตนเอง รวมทั้งทหารอาสาของประเทศไทย จำนวน ๑,๒๘๔ คน ที่ได้เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนั้น นับเป็นการแสดงแสนยานุภาพของทหารไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในต่างแดน ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากนานาประเทศ และเป็นการเสริมสร้างเกียรติภูมิให้แก่ประเทศไทยมาจวบจนปัจจุบัน
สำหรับสาเหตุการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๕๗
จากความขัดแย้งที่น่าจะเป็นแค่สงครามท้องถิ่นกลับประทุกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายเยอรมัน ประกอบด้วย ออสเตรีย – ฮังการี บัลแกเรีย ตุรกี และฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบด้วย รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ รวม ๒๕ ประเทศ สำหรับประเทศไทยขณะนั้นอยู่ภายใต้
การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน และออสเตรีย – ฮังการี โดยทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศสงคราม เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๖๐ โดยมีการส่งทหารอาสาไทยเข้าร่วมรบในสงคราม ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรก
ของประเทศไทยที่มีการส่งทหารไทยไปร่วมรบในแดนไกลถึงทวีปยุโรป
สงครามยืดเยื้อกินระยะเวลายาวนานถึง ๔ ปี โดยได้ก่อความเสียหายนานัปการแก่มวลมนุษยชาติ แต่ในที่สุดสันติภาพของโลกก็กลับคืนมา เมื่อเยอรมันติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขอเจรจาสงบศึก ในวันที่
๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ จากนั้นในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ โดยฝ่ายสัมพันธมิตร และฝ่ายเยอรมัน
ได้ร่วมลงนามในสัญญาสงบศึกบนรถไฟ ณ เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศส ถึงแม้ว่ากองทหารอาสาของไทยจะเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศสได้ไม่นานจนสงครามยุติลง แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ เช่น เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๖๑ กองทหารบกรถยนต์ได้ยกพลไปสู่เขตหน้าแห่งยุทธบริเวณ
ได้ทำการลำเลียงกำลังพลแก่กองทัพบกฝรั่งเศสภายในย่านกระสุนตกด้วยความกล้าหาญ รัฐบาลฝรั่งเศส
จึงได้มอบเหรียญตราครัวซ์เดอแกร์ (Croix de guerre) ประดับธงชัยเฉลิมพลของกองทหารบกรถยนต์
เพื่อเป็นเกียรติยศ
โดยผลจากสงครามในครั้งนั้น ทำให้ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ชนะสงคราม ได้รับประโยชน์หลายประการ อาทิ ชาติต่าง ๆ ในยุโรป ๑๓ ประเทศ ที่เคยทำสัญญาผูกมัดประเทศไทย ยอมแก้ไขสัญญาที่ทำไว้เดิม โดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจศาลกงศุล ทำให้ชาวต่างชาติที่กระทำความผิดในประเทศไทย
มาขึ้นศาลไทย และยังได้อิสรภาพที่จะกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ได้รับการยกย่องให้มีฐานะและสิทธิเท่าเทียมกับอารยประเทศ ตลอดจนได้ร่วมเป็นสมาชิกริเริ่ม
ในองค์การสันนิบาตชาติ รวมทั้งยังได้นำประสบการณ์จากสงครามมาปรับปรุงวิชาการทหารของประเทศไทย
ให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งวีรกรรมของทหารไทยที่ไปร่วมรบในครั้งนั้นได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของต่างชาติ และยังประโยชน์ให้บังเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล
– ๒ –
สำหรับในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปีนี้
องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนรุ่นหลัง
ได้รำลึกถึงวีรกรรมของทหารไทยในสมรภูมิต่างแดน ด้วยการจัดให้มีพิธีต่าง ๆ ในวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ โดยในช่วงเช้าจัดพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาพุทธ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของทหารอาสาผู้ล่วงลับ จากนั้นในเวลา ๐๙.๓๐ น. จัดให้มีพิธีวางพวงมาลา เพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงวีรกรรมและความเสียสละของทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดย พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์วางพวงมาลา
ณ อนุสาวรีย์ทหารอาสาฯ บริเวณท้องสนามหลวง นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคมมูลนิธิ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย ตลอดจนทายาททหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ มาร่วมวางพวงมาลา นอกจากนี้ ภายในบริเวณงานยังได้มีการจัดนิทรรศการประวัติความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป และเยาวชนของชาติ