ในวันอังคารที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ให้การต้อนรับ พลเรือจัตวา โทมัส โจโรเก งางะ (Brigadier Thomas Njoroge Ng’ang’a) หัวหน้าคณะผู้แทนจากวิทยาลัยป้องกันประเทศสาธารณรัฐเคนยา และคณะ (๒๐ นาย) พร้อมด้วย นายคิปทิเนสส์ ลินด์ซีย์ คิมโวเล (Mr. Kiptiness Lindsay Kimwole) เอกอัครราชทูตเคนยาประจำประเทศไทย ณ ห้องพระบารมีปกเกล้า ในศาลาว่าการกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยระหว่าง ๓ – ๑๑ เมษายน ๒๕๖๖ เพื่อศึกษาดูงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สำคัญของไทย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม การท่าเรือแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) รวมทั้ง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทย – เคนยา นั้น มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาอย่างยาวนาน โดยในปีนี้จะครบรอบ ๕๖ ปี ของการสถาปนาทางการทูตระหว่างกัน (สถาปนาฯ เมื่อ ๒๕ ก.ค.๑๐) เคนยาถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญในทวีปแอฟริกา รวมถึงมีศักยภาพในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเคนยาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในอนุภูมิภาค แอฟริกาตะวันออก และเป็นประเทศเดียวในทวีปแอฟริกาที่มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission – JC) กับไทยนอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านการทหาร โดยไทยชื่นชมหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอานาจักรเคนยา ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านความมั่นคงที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เข้ารับการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน ให้มีความ เป็นผู้นำที่มีความรู้ความสามารถในการมีส่วนร่วมในกิจการความมั่นคงและการป้องกันประเทศได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ สำหรับการเข้าพบในวันนี้ กระทรวงกลาโหมหวังว่าจะเป็นประโยชน์และเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ รวมทั้งจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันต่อไป โดยในการเข้าเยี่ยมคำนับครั้งนี้ คณะผู้แทนจากวิทยาลัยป้องกันประเทศสาธารณรัฐเคนยา ยังได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเอกสารที่สำคัญและวัตถุพิพิธภัณฑ์โบราณที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม ตั้งอยู่ชั้นที่หนึ่งอาคารศาลาว่าการกลาโหมทิศตะวันตก มีพื้นที่จัดแสดง ๘ พื้นที่ ประกอบด้วย (๑) ห้องประวัติจากโรงทหารหน้าสู่ศาลาว่าการกลาโหม (๒) ผังพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งปืนใหญ่โบราณหน้าศาลาว่าการกลาโหม (๓) สมุดรายชื่อทหารไทยกองอาสา ไปสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ทวีปยุโรป รวม ๑,๔๒๔ นาย (๔) สมุดไทยดำบันทึกยอดไพร่พล (๕) ประวัติ พญาคชสีห์ด้านหน้าศาลาว่าการกลาโหม (๖) แบบเรียนตำราแบบฝึกทางการทหารสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗) ภาพประวัติศาสตร์ศาลาว่าการกลาโหม และ (๘) หัวเสาธงชาติ ต่อมาได้พัฒนาเป็นห้องบรรยายประวัติกระทรวงกลาโหมทางวิดีทัศน์ เพื่อให้กำลังพลและประชาชนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชม
11
เม.ย.