เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรือ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 กองทัพเรือ จึงได้ถือเป็น “วันกองทัพเรือ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการก่อตั้งสถาบันหลักของกองทัพเรือ ซึ่งถือเป็นรากฐานของการพัฒนากิจการทหารเรือให้มีความเจริญก้าวหน้า และมั่นคงมาจนถึงปัจจุบันนี้
ประวัติวันกองทัพเรือ
ในสมัยโบราณยังมิได้มีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มมีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก เมื่อครั้งเริ่มแรกตั้งกรมทหารเรือนั้น กิจการทหารเรือบางประเภทยังขาดบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ จำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อาทิ ผู้บังคับการเรือและผู้บัญชาการป้อมต่างๆ
ต่อมาภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรส เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังประเทศอังกฤษ
ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ และกลับมารับราชการในกรมทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารเรือ จัดการฝึกสอนวิชาการทหารเรือขึ้น โดยเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรกที่บริเวณอู่หลวงใต้วัดระฆัง ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ สำหรับอบรมนายทหารชั้นประทวน หรือฝ่ายช่างกลและเดินเรือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 ได้ตั้งโรงเรียนนายสิบขึ้น และในปี พ.ศ. 2440 ได้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรือขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2442 ได้จัดตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้น สถานที่ตั้งโรงเรียนนายเรือครั้งแรก อยู่ที่วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) มีนาวาโทไซเดอลิน (Seidelin) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับได้ว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทาน พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กับได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียน ความว่า
“วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เหนการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบต่อไปในภายน่า”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิทักษ์รักษา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ การปฏิบัติภารกิจการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงและรักษาผลประโยชน์ของชาติ และการสนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนซึ่งถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญยิ่ง สำหรับในปีงบประมาณ 2567 นี้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กำหนดคำขวัญประจำปี ว่า “เทิดทูนสถาบัน ยึดมั่นระเบียบวินัย ประชาชนภูมิใจ ทะเลไทยมั่นคง” และได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานของกำลังพลกองทัพเรือไว้ 7 ด้าน ประกอบด้วย
1. จะปกป้องและรักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2. จะนำนโยบายรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม
3. จะกวดขันระเบียบวินัยกำลังพลให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจัง
4. จะดูแลสิทธิประโยชน์ สวัสดิการกำลังพลทุกระดับ เพื่อให้มีขวัญกำลังใจที่จะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
5.จะดูแลความมั่นคงทางทะเล ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย และนำยุทโธปกรณ์สนับสนุนรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศให้เจริญรุ่งเรือง
6. จะทำให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานที่ประชาชนชาวไทยเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ
7.จะเป็นหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลประสิทธิภาพ ทำให้ทะเลไทยปลอดภัยและมีความมั่นคง
ภายใต้การบริหารที่จะเป็นการปฏิบัติอย่างจริงจัง FIT for the FUTURE เพื่อนำไปสู่การเป็น “กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ” ตลอดไป