ในวันนี้ (27 ธันวาคม 2566) นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมดัวย พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI เพื่อรับทราบถึงหน่วยงานที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงกลาโหม ในการสร้างเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ โดยปรับเปลี่ยนบางส่วนของกระทรวงกลาโหม ให้สามารถหารายได้ให้กับประเทศทั้งในด้านการลดการนำเข้า และสร้างการส่งออก ชึ่งเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของหน่วยงานในการริเริ่มปรับเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้ซื้อ ผู้ใช้ เป็นประเทศผู้คิด ผู้ผลิต และผู้ขายในผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคง ซึ่งส่งผลดีให้กับประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้รัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ได้ให้การสนับสนุน การดำเนินการของ DTI ในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด ทั้งในด้านของงบประมาณในการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรมด้านความมั่นคง การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมให้กับประเทศไทยรวมถึงการเป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม
ในการนี้ พล.ร.ต.ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ผลงานโดดเด่นที่ผ่านมาของ DTI ประกอบด้วย
1) ด้านงานวิจัยและพัฒนา มีต้นแบบผลงานวิจัยและพัฒนาที่สำเร็จและผ่านการรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์ทางทหารและพร้อมที่จะต่อยอดสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จำนวนแล้ว 6 รายการ ได้แก่ หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด รุ่น D-Empir V.4 /หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด รุ่น Noonar V.4 / Mini UAV (Hand Launch) รุ่น Deyes 02 / ยานเกราะล้อยาง แบบ 8×8 Amphibious Armored Personnel Carrier (AAPC) / เรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล / กระสุนฝึก 30×165 มิลลิเมตร และ 30×173 มิลลิเมตร
2) ด้านการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้แก่ บริษัท Thai Defence Industry หรือ TDI เพื่อประกอบกิจการผลิตและขายยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 , บริษัท Aero Technology Industry หรือ ATIL เพื่อประกอบกิจการผลิตและขายอากาศยานไร้คนขับ , บริษัท Weapon Manufacture Industry หรือ WMI เพื่อประกอบกิจการผลิตและขายอาวุธและกระสุน , บริษัท Advance Defence Technology and Innovation หรือ ADTI เพื่อประกอบกิจการผลิตและขายยานเกราะล้อยางแบบ 8×8 และกิจการค้าร่วมระหว่าง สทป. กับ บริษัท จีซีเอส กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อประกอบกิจการ การให้บริการฝึกอบรมนักบินระบบอากาศยานไร้คนขับ นอกจากนี้ สทป. ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมความมั่นคง ซึ่งถือเป็นโครงการที่สำคัญเพื่อการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนเป็น Ecosystem ที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป