นับตั้งแต่กิจการบินได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยนำมาซึ่งการพัฒนานภานุภาพอย่างไม่หยุดยั้ง จากแผนกการบินมุ่งสู่การเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาคและตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองทัพอากาศได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงให้ประชาชนมั่นใจว่ากองทัพอากาศมีความพร้อมในการป้องกันประเทศ รักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และร่วมพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ และยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี
กิจการการบินของไทยเริ่มต้นจากพระปรีชาสามารถของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ พระองค์ทรงมีพระจริยวัตร และพระวิสัยทัศน์อันยาวไกล ด้วยทรงริเริ่มจัดตั้งกิจการบินขึ้นและพัฒนาสู่การเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน กองทัพอากาศจึงได้น้อมรำลึกในพระกรุณาคุณและเทิดพระเกียรติ จอมพล สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ”
ย้อนกลับไปประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ อันเป็นระยะเวลาที่ประเทศในยุโรปกำลังตื่นตัว พัฒนาการด้านการบิน ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้ทรงเห็นความจำเป็นและความสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศเช่นอารยประเทศ จึงทรงดำริจัดตั้งกิจการบินขึ้น เป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบกตั้งแต่บัดนั้น และได้ทรงจัดให้มีการคัดเลือก ได้นายทหาร ๓ นาย ส่งไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส อันได้แก่ นายพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ นายร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร และ นายร้อยโททิพย์ เกตุทัต ทั้ง ๓ ท่านนี้ ในเวลาต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ตามลำดับ คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และ นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต และ กองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น “บุพการีทหารอากาศ”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศมิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่นๆ อีกด้วย จึงได้จัดตั้ง “แผนกการบิน” ขึ้น และในปี ๒๔๕๗ ได้ยกฐานะเป็น “กองบินทหารบก” จากนั้นในปี ๒๔๖๑ ยกฐานะขึ้นเป็น “กรมอากาศยานทหารบก” เรื่อยมาจนปี ๒๔๖๔ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมอากาศยาน” และปี ๒๔๗๘ ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “กรมทหารอากาศ”
ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๐ กระทรวงกลาโหมได้ยกฐานะ “กรมทหารอากาศ” เป็น “กองทัพอากาศ” โดยมี นาวาอากาศเอก พระเวชยันตรังสฤษฏ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก กองทัพอากาศจึงได้ถือเอาวันที่ ๙ เมษายน ของทุกปีเป็น “วันกองทัพอากาศ”
นับตั้งแต่บัดนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ยังคงสืบสานเจตนารมณ์และพร้อมที่จะขับเคลื่อนกองทัพอากาศให้มุ่งสู่การเป็น “กองทัพอากาศ” ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ หรือ UNBEATABLE AIR FORCE ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญ ๘ ด้านประกอบด้วย
๑. ด้านกำลังพลและการศึกษา (Personnel & Education)
๒. ด้านข่าวกรองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Intelligence & IR)
๓. ด้านยุทธการและการฝึก (Operations & Training)
๔. ด้านการส่งกำลังบำรุง (Logistics)
๕. ด้านกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์ (Civil affairs & Public relations)
๖. ด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ICT & Cyber)
๗. ด้านสวัสดิการ (Welfare)
๘. ด้านการกำกับดูแลมาตรฐาน (Standardization)
โดยยังเน้นย้ำถึงความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ต้อง “รู้ รัก สามัคคี” คือ การรู้และรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง มีความจงรักภักดีต่อองค์กร และต้องมีความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกพื้นฐานในการพัฒนากำลังพลให้รู้รักสำนึกในหน้าที่การเป็นทหารอากาศ เพื่อนำกองทัพอากาศสู่ความแข็งแกร่งที่ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ