พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กห. ได้เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ ๒๐ พ.ย.๖๗ เวลา ๐๙๐๐ น. นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน หรือ ADMM ครั้งที่ ๑๘ ซึ่งเป็นเป็นกลไกการหารือที่สำคัญของรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับสูงฝ่ายกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทำความคุ้นเคย สร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเป็นมิตร เพิ่มความไว้วางใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกที่ได้สร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงอีกหลายด้าน
ผลลัพธ์ของการประชุม ADMM ครั้งที่ ๑๘ ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาร่วมเวียงจันทน์ของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือเพื่อให้อาเซียนเกิดสันติสุข ความมั่นคง และความเข้มแข็งของภูมิภาค ที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียน ในการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายใต้บริบทโลกในปัจจุบัน โดยจะร่วมมือกันขับเคลื่อนความร่วมมือให้มีความเชื่อมโยง เน้นย้ำการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง อันจะเป็นการส่งเสริมการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งได้เห็นชอบเอกสารยุทธศาสตร์เพื่อการเตรียมความพร้อมของการประชุม ADMM และการประชุมADMM-Plus ให้มีความเชื่อมโยง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.2025 และสนับสนุนการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปีค.ศ.2045 เพื่อเป้าหมายให้อาเซียนมีความมั่นคง มีพลวัต และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อประเทศผู้สังเกตการณ์ในกิจกรรมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาให้มีความชัดเจน โปร่งใส และครอบคลุม เพื่อให้ภาคีนอกภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถให้กับอาเซียน โดยที่ประชุมอนุมัติให้สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา และสาธารณรัฐทูร์เคีย เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในกิจกรรมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน วงรอบปี ๒๕๖๗ – ๒๕๗๐ รวมทั้งอนุมัติให้จัดการฝึกผสมทางทะเลระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๖๘ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน – สหรัฐอเมริกา ระหว่าง ค.ศ. ๒๐๒๑ – ๒๐๒๕ ที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม ตลอดจนการส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล