ในวันอังคารที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๘นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชน การบรรเทาสาธารณภัย และการพัฒนาประเทศของกระทรวงกลาโหม ณ บริเวณโถงชั้น ๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายภูมิธรรมเวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ
การจัดแสดงนิทรรศการ “การบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงกลาโหม” ได้นำเสนอศักยภาพและขีดความสามารถของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมอย่างเป็นรูปธรรม โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๒ หัวข้อหลักที่สะท้อนภารกิจสำคัญในการปกป้องและช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต ดังนี้
ภารกิจที่หนึ่ง การค้นหาและกู้ภัยอาคารถล่มและแผ่นดินไหว หัวข้อนี้ได้จำลองสถานการณ์และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของชุดปฏิบัติการพิเศษต่าง ๆ ที่ถูกฝึกฝนมาเพื่อรับมือกับภัยพิบัติร้ายแรง เช่น อาคารถล่มและแผ่นดินไหว โดยมีการนำเสนอชุดปฏิบัติการที่สำคัญดังนี้
ชุดค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue: USAR) ชุดปฏิบัติการนี้ มีความเชี่ยวชาญในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารที่พังทลาย กำลังพลได้รับการฝึกฝนเทคนิคการเข้าถึงพื้นที่เสี่ยง การใช้อุปกรณ์พิเศษในการเจาะ ตัด ถ่าง โครงสร้าง ที่เสียหายและการประเมินความปลอดภัยของพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
ชุดแพทย์เผชิญเหตุ (Medical Emergency Response Team : MERT) พร้อม Drone ทางการแพทย์ ทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็ว (MERT) มีความพร้อมในการให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุอย่างทันท่วงที มีความเชี่ยวชาญในการประเมินอาการผู้ป่วย การให้การรักษาฉุกเฉิน และการลำเลียงผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็ว (MERT) ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมานอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยี Drone ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถใช้ในการสำรวจพื้นที่ประสบภัย ส่งเวชภัณฑ์เบื้องต้น หรือแม้กระทั่งช่วยในการประเมินสถานการณ์และติดต่อสื่อสารในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก
งานวิจัยหุ่นยนต์ค้นหาและกู้ภัย ส่วนนี้เป็นการแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่กระทรวงกลาโหมพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานกู้ภัย หุ่นยนต์ค้นหาและกู้ภัย สามารถเข้าไปสำรวจในพื้นที่อันตรายที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เช่น ช่องแคบ ใต้ซากปรักหักพัง หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว หุ่นยนต์เหล่านี้มักติดตั้งกล้อง เซ็นเซอร์ และอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เพื่อส่งข้อมูลภาพ เสียง และสภาพแวดล้อมกลับมายังทีมควบคุม ทำให้สามารถค้นหาผู้ประสบภัยและประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ









