เดือนตุลาคมที่จะมาถึงนี้ เป็นเวลาแห่งการเกษียณอายุสำหรับข้าราชการบางท่านที่มีอายุครบ ๖๐ ปี หรืออาจไม่ถึงในกรณีของการ early retire ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะหมายถึงว่าบุคคลนั้นกำลังจะพ้นจากวัยทอง สู่วัยสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การปลดจากภาระความรับผิดชอบในการทำงานประจำของตนส่งผลให้ผู้เกษียณที่มิได้มีงานเสริมอื่นๆมีเวลาว่างเกินไปจนรู้สึกเหงาได้ บางรายอาจทำให้เกิดความรู้สึกสูญเสียจากบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เกี่ยวข้องกับเรื่องของสังขารสืบเนื่องมาจากวัยที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งบางท่านเริ่มมีปัญหาสุขภาพตั้งแต่เข้าสู่วัยทองแล้ว เมื่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป จากการที่เคยมีกิจกรรมทั้งด้านร่างกายและสมอง กลายเป็นการพักผ่อนมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดความเสื่อมของร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้น หากมีการปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

 

อย่างไรก็ตามบุคคลในวัยเกษียณสามารถเลือกที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยังคงมีความสุขได้ในห้วงเวลาของช่วงชีวิตบั้นปลาย หรืออาจมีความสุขมากขึ้นก็ได้ เพราะความจริงแล้ววัยเกษียณ เป็นวัยที่ได้ปลดระวางความเครียดหลายๆ ประการและสามารถเริ่มต้นทำกิจกรรมหลายๆ อย่างที่อยากทำในช่วงเวลาทำงาน แต่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเวลาไม่เอื้ออำนวยประกอบกับภาระต่างๆ ที่เคยมีมากมายในวัยทำงานเพียงแต่การดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในวัยเกษียณ ต้องมีการเตรียมการแต่เนิ่นๆ ในวัยที่ยังทำงานเพราะปัจจัยที่สำคัญยิ่งของการมีสุขภาพที่ดีในวัยเกษียณ คือ การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม หรือมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ ตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ หรือวัยทำงานซึ่งแน่นอนว่าวัยผู้ใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ต้องเกิดจากพื้นฐานในวัยเด็ก ผูกพันกันเป็นลูกโซ่ ดังนั้น บุคคลใดที่ได้รับการทำนุบำรุงสุขภาพอย่างเหมาะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดจนเติบโตเข้าวัยผู้ใหญ่ ถือได้ว่าเป็นผู้มีต้นทุนที่ดีในการดำเนินชีวิตช่วงวัยเกษียณอายุสุขภาพดีต้องมาก่อนเพราะคำว่า “ไม่เป็นไร” ใช้ไม่ได้กับเรื่องสุขภาพ จึงควรปฏิบัติตามข้อแนะนำคือหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงและอาการซึ่งเป็นสัญญาณเตือนต่างๆ เช่น อาการปวดหัวเป็นประจำ นอนไม่หลับ น้ำหนักเพิ่ม หรือลดผิดปกติ เพื่อจะได้รีบปรึกษาแพทย์บริโภคอาหารให้เหมาะสมกับวัยเช่น เลือกทานอาหารที่มีไขมันแต่พอควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เป็นต้น ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และให้เหมาะสม

กับสภาพร่างกายของแต่ละคนและสุดท้ายทำจิตใจให้แจ่มใส สนใจบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มากขึ้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บโดยดำเนินชีวิตแบบ Healthy Life Style ได้แก่

 

๑. การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัดและอาหารที่มีสารปนเปื้อนต่างๆ

 

๒. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความแข็งแรงของหัวใจ กล้ามเนื้อกระดูกและยังส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีด้วย

 

๓. การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและปลอดจากมลภาวะต่างๆ

 

๔. ดูแลสุขภาพจิตและจัดการกับความเครียดในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม ควรพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ ๖ – ๘ ชั่วโมง และผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น การนั่งสมาธิ จะช่วยให้สุขภาพกายและจิตใจแจ่มใสขึ้น
๕. ควรรับการตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไปเช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์

 

๖. งด หรือหลีกเลี่ยงสารเสพติด เช่น บุหรี่แอลกอฮอล์ ฯลฯ

 

๗. ควรมีการเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณอายุแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่อยู่ในวัยทำงาน ได้แก่การเตรียมความพร้อมทางเศรษฐกิจคือมีระบบการออมเงินไว้ใช้ยามชรา การมีระบบเงินบำนาญและการมีระบบเงินสนับสนุนยามเจ็บป่วยเรื้อรัง การเตรียมความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และถูกสุขลักษณะตลอดจนวางแผนการใช้เวลาหลังเกษียณให้เกิดประโยชน์และได้พัฒนาตนเองเพื่อชะลอการเสื่อมถอยของร่างกายหากทุกท่านปฏิบัติได้ดังกล่าวข้างต้นเท่ากับท่านได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยทองและวัยเกษียณอายุที่มีคุณภาพ พอจะเป็นหลักประกันได้ว่าท่านจะเป็นผู้เกษียณอายุที่มีความสุขตามอัตภาพอย่างแน่นอน