พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. เปิดเผยว่า เมื่อ 10 ต.ค.59 เวลา 10.00 น. นาย Steve Trent ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิ Environmental Justice Foundation (EJF) และคณะ ได้เข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม.และรมว.กห. ณ ศาลาว่าการกลาโหม โดยมี รมว.กษ. รมว.รง. ปล.กห. และ ผบ.ทร. ร่วมคณะ
นาย Steve Trent กล่าวถึงความร่วมมือของมูลนิธิ EJF กับไทย ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ที่ผ่านมาว่า ปัญหาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยได้พิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนาทางการเมืองและความคืบหน้าในเชิงบวกกับการจัดการปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงถือว่าความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ปัญหาดังกล่าว มีผลสำคัญต่อภูมิภาคและโลกด้วย
พร้อมกันนี้ มูลนิธิ EJF ได้เน้นย้ำและให้คำแนะนำที่สำคัญใน 3 ประเด็น คือ 1) การพิจารณาความเหมาะสมของกฎหมายแรงงานเพื่อให้สามารถคุ้มครองทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติในทุกภาคส่วน 2) การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อการบริหารจัดการและควบคุมเรือประมง 3) การลดจำนวนเรือประมง ให้มีความเหมาะสมกับทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่
พร้อมทั้ง กล่าวชื่นชมถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลและเห็นถึงความเป็นผู้นำของประเทศไทยต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวในภูมิภาค และหวังว่าไทยจะสามารถดำเนินการได้ทันเวลา ก่อนการตัดสินเรื่อง IUU จากสหภาพยุโรป ( EU )
พล.อ.ประวิตรฯ รอง นรม.และรมว.กห. ได้กล่าวขอบคุณมูลนิธิ EJF สำหรับคำแนะนำดังกล่าว และขอขอบคุณที่ให้การสนับสนุนและให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU ) มาโดยตลอด ส่งผลให้การแก้ปัญหาดังกล่าว มีพัฒนาการและความคืบหน้ามาตามลำดับ โดยการดำเนินการที่ผ่านมา เราอยู่ระหว่างการพิจารณาให้สัตยาบันเข้าสู่การดำเนินการกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้เหมาะสม ขณะเดียวกัน เรากำลังเดินหน้าสู่แผนควบคุมบริหารจัดการเรือประมงที่ยั่งยืน โดยได้ลดจำนวนเรือประมงลงแล้วกว่า 2,000 ลำ และอยู่ระหว่างลดจำนวนวันทำประมงลง เพื่อให้การจับปลามีความสมดุลกัน พร้อมทั้งขอเชิญเจ้าหน้าที่ มูลนิธิ EJF เข้าร่วมชมการปฏิบัติงานและให้คำแนะนำควบคู่กันไป เพื่อพัฒนาการของการแก้ปัญหาในภาพรวม
ทั้งนี้ รองนรม.และรมว.กห. กล่าวย้ำและยืนยันว่า “ รัฐบาลปัจจุบัน ตระหนักและเห็นความสำคัญต่อปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายฯ โดยได้พยายามทุ่มเทขับเคลื่อนแก้ปัญหาสำคัญนี้มาโดยตลอด และจะพยายามทำต่อไปให้ดีที่สุด เพื่อยกระดับการทำประมงของไทยให้มีมาตรฐานและเป็นไปตามหลักกฎหมายสากล และเพื่อการดูแลผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลของโลกที่ยั่งยืนร่วมกัน”