ข้อมูลความเห็นร่วมของประชาชนจากเวทีปรองดอง สะท้อนถึงโอกาสและความตื่นตัวของประชาชน ต่อประเด็นต่างๆ ทั้งการปรับเปลี่ยนทางการเมือง ระบบโครงสร้างทางสังคมและการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมครั้งใหญ่
4 มิ.ย.60 : พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึง ความคืบหน้าของกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองว่า ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้ถูกรวบรวมและสังเคราะห์ตามหลักวิชาการ ร่วมกับผลการศึกษาด้านการสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีมา สู่การจัดทำ “เอกสารความเห็นร่วม” และส่งให้อนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการ โดยมีผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง “สัญญาประชาคม”
สำหรับข้อมูลจาก “เอกสารความเห็นร่วม” ซึ่งรวบรวมความเห็น ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ จากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในภาพรวมสะท้อนถึงความตื่นตัวและความสนใจในประเด็นการเมืองและการปรับเปลี่ยนทางการเมืองมากที่สุด
โดยส่วนกลาง ประชาชนให้ความสนใจ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งด้านสื่อมวลชนและการป้องกันทุจริต ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่และกลุ่มการเมืองให้ความสำคัญ ประเด็นด้านการเมือง ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ความเท่าเทียมของพรรคการเมืองเป็นหลัก หากจำแนกภาคส่วนต่างๆ มีท่าทีที่แตกต่างกัน โดย..ภาคเศรษฐกิจ ต้องการรักษาผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของตนเองเป็นสำคัญ ..ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญกับ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกๆด้านรวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่ ..องค์กรสื่อมวลชน มุ่งเน้นสิทธิเสรีภาพของตนเองและต้องการให้สื่อดูแลกันเองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงาน
ในส่วนภูมิภาค ประชาชนมีความสนใจด้านการเมืองมากที่สุดและให้ความสำคัญ ..ด้านเศรษฐกิจ สังคมการศึกษา สาธารณสุข ..ด้านความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้ง ..กระบวนการยุติธรรมตามลำดับ โดยพื้นที่ภาคกลาง มีความสนใจด้านการเมือง มากกว่าด้านอื่นๆอย่างชัดเจน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความสนใจด้านการเมือง การบุกรุกพื้นที่ป่าและด้านสังคม. ส่วนพื้นที่ภาคเหนือให้ความสนใจด้านการเมืองและต้องการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีความสนใจด้านความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ
หากจำแนกลักษณะของผู้ให้ความคิดเห็นตามกลุ่มต่างๆ สามารถระบุท่าทีที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มการเมือง จะมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเป็นธรรม ขณะที่กลุ่มนักวิชาการ นักศึกษาและสื่อมวลชน จะเน้นถึงกติกาทางการเมือง แนวทางการนำไปสู่การลดความขัดแย้ง ปัญหาคอร์รัปชั่น และความจริงใจของภาครัฐในการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ กลุ่มข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีความสนใจในการแก้ปัญหาระดับท้องถิ่น เช่น การเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มนายทุนต่อราคาพืชผลทางการเกษตร และการเมืองระดับท้องถิ่น ในขณะที่ กลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้าน สนใจเพิ่มเติม ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำและที่ดินทำกินในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
พล.ต.คงชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสะท้อนความคิดเห็นผ่านผู้แทนองค์กรภาคส่วนต่างๆ จากเวทีการรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศในกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ผ่านมา ถือเป็นข้อมูลที่บริสุทธิ์ซึ่งผ่านการสังเคราะห์ทางวิชาการครั้งใหญ่ ที่แสดงถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ..ปัญหาที่มีในแต่ละพื้นที่และความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน ..รวมทั้งการมองอนาคตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันติสุข ซึ่งเป็นโอกาสครั้งสำคัญยิ่งของสังคม ที่ประชาชนทุกคนจะได้ร่วมเรียนรู้และทำความเข้าใจไปด้วยกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนคลี่คลายปัญหาของสังคมครั้งใหญ่ สู่เป้าหมายร่วมคือ “การปฏิรูปประเทศ”