12 ก.ค. 60. พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการจัดทำร่างสัญญาประชาคมว่า ขณะนี้ ได้ปรับความเหมาะสมของเนื้อหาร่างสัญญาประชาคม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างประสานความพร้อม เพื่อเตรียมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ระหว่าง 17 – 20 ก.ค.60 ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา พิษณุโลกและนครศรีธรรมราช ตามลำดับ
การจัดทำ “ร่างสัญญาประชาคม” ฉบับนี้ ได้ดึงความเห็นร่วมที่สอดคล้องและตรงกันของประชาชนในประเด็นการสร้างความสามัคคีปรองดอง จากเวทีการรับฟังทั่วประเทศที่ผ่านมา มาพิจารณาร่วมกับผลการศึกษาด้านการปฏิรูปและการปรองดองของคณะกรรมการต่างๆที่เคยมีมา เช่น คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้งรายงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า และคู่มือสันติวิธี สถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยพิจารณาถึงทิศทางร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และความสอดคล้องตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
โดย กล่าวนำถึง สภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตามสภาพแวดล้อมสังคมโลก ความไม่พร้อมต่อการปรับตัวและการบริหารจัดการที่ไม่สมดุลและเป็นธรรมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเกิดปัญหาต่างๆของสังคมตามมาเป็นวงกว้าง …“ร่างสัญญาประชาคม” ที่จัดทำขึ้น มีสาระสำคัญ ถึงความตระหนักร่วมกันต่อปัญหาที่ผ่านมา ความเข้าใจร่วมกันเพื่อการปรับตัวและความจำเป็นที่ทุกคน ต้องร่วมมือร่วมใจเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง ด้วยคำมั่นต่อกัน ที่เน้นในสำนึกหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน ในการสนับสนุน ส่งเสริม เรียนรู้และร่วมมือกันปฏิบัติ โดยยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม หลักศีลธรรมอันดีงามของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างถูกต้อง เหมาะสม ยอมรับความแตกต่างทางความคิด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นภายใต้กรอบของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ที่ยึดเอา หลักความถูกต้อง ชอบธรรม ความเสมอภาค ไม่สร้างเงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม โดยน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” เป็นภูมิคุ้มกันของสังคมร่วมกัน
พล.ต.คงชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อมูลความเห็นร่วมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากประเด็นการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่ได้รับจากประชาชนนั้น ถือว่ามีคุณค่ายิ่งต่อการบริหารงานของรัฐบาล และการจัดการร่วมกันเพื่อการปฏิรูปประเทศในทุกมิติต่อไป และเชื่อมั่นว่า การชี้แจง สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนอย่างกว้างขวางใน “ร่างสัญญาประชาคม” ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความเชื่อมั่นและไว้ใจกันของสังคม ที่จะพัฒนาไปสู่การมีส่วนร่วมและความร่วมมือร่วมใจกันอย่างเป็นรูปธรรม ในการนำพาประเทศก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง สู่จุดหมายร่วมกัน คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุข ด้วยบรรยากาศของการปรองดองสามัคคีกัน