เมื่อ 27 ก.ค.60 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) กำหนดจัดการประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ครั้งที่ ๕/๒๕๖๐ ณ ห้องยุทธนาธิการ ชั้น ๒ ในศาลาว่าการกลาโหม โดยมี พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุม โดยกล่าวก่อนการประชุมว่า พอใจกับคณะผู้แทนรัฐบาลทั้ง 7 กลุ่มงาน โดยจะเน้นการปรับแผนในการดูแลประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะมาตรการรักษาความปลอดภัยเชิงรุก ในระบบกล้องซีซีทีวี ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษ ให้สมบูรณ์ที่สุด โดยที่ผ่านมา สามารถติดตามผู้ก่อเหตุจากกล้องซีซีทีวีได้จำนวนหนึ่ง โดยเป็นประโยชน์ สำหรับดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับงานด้านพลังงาน ที่ในพื้นที่ยังคงขาดแคลน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวล และที่ผ่านมา ได้มีการ อนุมัติให้ตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และโครงการดังกล่าว จะมีการผลักดันเข้า คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ จะให้จังหวัดใช้แดนใต้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการป้องกันเหตุ
ในส่วนของความคืบหน้าโครงการพาคนกลับบ้านนั้น ได้หารือกับแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อเซ็ทซีโร่ ปรับปรุงโครงการ โดยต้องพิจารณา แสกนจากยอดของคนที่อยู่ในโครงการกว่า 4,500 คน ว่าใครสมควรที่จะถูกแยกออกไป โดยขณะนี้คัดกรองออกไปได้แล้วกว่า 3,600 คน เหลือเพียง 900 คน เพื่อลดภาระของรัฐบาล ทั้งนี้พลเอกอุดมเดช ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการละทิ้ง ซึ่งต้องติดตามพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบุคคลเหล่านี้ต้องพิจารณาถึงข้อกฎหมาย หากกระทำผิดกฏหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอาญา
พลเอกอุดมเดช ยังให้ความสำคัญกับอากาศยานไร้คนขับ หรือยูเอวี สำหรับส่งเสริมหน่วยข่าวกรอง และลาดตระเวน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการจัดซื้อและนำมาทดลองใช้ในหน่วยเฉพาะกิจในการ ปฏิบัติงานจังหวัดชายแดนใต้
นอกจากนี้ พลตำรวจโทไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้แทนพิเศษรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้ข้อมูลในหลายประเด็น อาทิ การจัดตั้งกองกำกับการเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ซึ่ง สตช. บรรจุอยู่ในโครงสร้างกองบังคับการสืบสวนคดีความมั่นคงตำรวจภูธรภาค 9 / ปัญหาการขาดแคลนพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคง หลังจากมีคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ยุบเลิกตำแหน่งและเงินประจำพนักงานสอบสวน ทั่วประเทศ ส่งผลให้หลายสถานีตำรวจในพื้นที่ ไม่มีพนักงานสอบสวนทำหน้าที่ ซึ่งปัจจุบัน มีพนักงานสอบสวนจากส่วนกลางลงไปช่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้น จะต้องเตรียมเปิดตำแหน่ง สารวัตรสอบสวนและพนักงานสอบสวน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การควบรวมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. และ ตำรวจภูธรภาค 9 เบื้องต้น เห็นว่าผู้บัญชาการและรองผู้บัญชาการควรนั่งบริหารงานที่ ศชต.ส่วนหน้าจังหวัดยะลา เพื่อให้ง่ายต่อการ ทำงานร่วมกับ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนกำลังพลของตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจตระเวนชายแดน โดยเฉพาะ ตชด. ที่ขาดแคลนมากถึง 3 พันคน ส่วนการแต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำประเทศมาเลเซีย ขณะนี้ ได้เสนอชื่อให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้ว