รองศาสตราจารย์ สรนิต ศีลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กับ กระทรวงกลาโหม (กห.) ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เมื่อวันที่
๒๖ ก.ย.๖๐ ณ ห้องสุรศักดิ์มนตรี ในศาลาว่าการกลาโหม โดยมี ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และ พลโท นเรศรักษ์ ฐิตะฐาน เจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เป็นผู้ร่วมลงนาม
การลงนามบันทึกความร่วมมือ ฯ ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง วท. และ กห. ที่ดำเนินการต่อเนื่องนับตั้งแต่การจัดทำบันทึกความร่วมมือ ฯ ร่วมกันเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถบุคลากร พัฒนาเทคโนโลยี และบูรณาการทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (หน่วยในสังกัด วท.) และ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม (หน่วยในสังกัด กห.) เป็นหน่วยปฏิบัติในการประสานความร่วมมือ
ปัจจุบันเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น สามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม จนกระทั่งมีการริเริ่มจัดทำโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นหน่วยรับผิดชอบโครงการ ฯ ซึ่งจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจแบบครบวงจร ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ มีความครอบคลุมงานวิจัย การพัฒนาบุคลากร การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การนำไปใช้งาน และต่อยอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีแผนดำเนินงานบางส่วนเกี่ยวข้องกับงานความมั่นคงโดยตรง เช่น การจัดหาภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง การพัฒนาสถานีบังคับควบคุมดาวเทียมสำรวจของ กห. ซึ่งจะส่งผลให้ วท. และ กห. ขยายขอบเขตความร่วมมือร่วมกันในอนาคต และเป็นเหตุผลสำคัญนำไปสู่การปรับปรุงบันทึกความร่วมมือ ฯ ฉบับเดิมให้มีความทันสมัย ครอบคลุม จนมีการจัดทำบันทึกความร่วมมือ ฯ ฉบับใหม่
ในครั้งนี้ ที่มีสาระสำคัญคือ กห. จะสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้กับ วท. และ วท. จะสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากรด้านกิจการอวกาศและภูมิสารสนเทศให้กับ กห. พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาขีดความสามารถบุคลากร และเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ หรือ สถานการณ์ที่ฉุกเฉินร้ายแรงของประเทศ เพื่อให้สามารถแก้ไขบรรเทาปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจ สามารถประยุกต์ใช้ในงานความมั่นคงในการผลิตภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อสร้างความรับรู้ ให้สามารถเข้าใจสภาพภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อม และองค์ประกอบต่างๆ บนพื้นโลก สำหรับการวางแผน กำกับดูแล และติดตามภารกิจต่างๆ ทั้งที่เป็นการปฏิบัติการทางทหาร และการปฏิบัติการทางทหารที่นอกเหนือจากสงคราม ตลอดจนการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในการรักษาความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยของประเทศ
สุดท้ายนี้ วท. และ กห. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ในการพัฒนาขีดความสามารถ บุคลากร เทคโนโลยี และบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน ร่วมกัน เพื่อให้สามารถนำประโยชน์เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจทางด้านความมั่นคง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ต่อไป