fb ธงชาติ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๐ เห็นชอบตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี เสนอในโอกาสการฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี การประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย โดยกำหนดให้วันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปี เป็น “วันพระราชทานธงชาติไทย” (Thai National Flag Day) และเริ่มในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติ ในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึง การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย


ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติสยามช่วงรัชกาลที่ ๑..

ธงชาติสยาม เป็นรูปวงจักรสีขาววางกลางผืนผ้าแดง โดยวงจักรเป็นหนึ่งในของสำคัญ ๔ อย่าง ที่อยู่ในพระกรของพระนารายณ์ ได้แก่ จักร สังข์ คฑา และธรณี โดยมีความเชื่อกันว่าองค์พระนารายณ์ คือ สมมุติเทพที่เสด็จอวตาลลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ จึงทรงวางวงจักรบนผืนผ้าแดง นับเป็นสัญลักษณ์แห่งธงชาติสยามแบบแรกและวงจักรยังถือเป็นส่วนหนึ่งของพระนามแห่งราชวงศ์จักรี โดยธงวงจักรนี้ให้ใช้เฉพาะบนกำปั่นหลวงเท่านั้น ส่วนเรือของสามัญชนชาวสยามโดยทั่วไปให้ใช้ธงสีแดงเกลี้ยง

ธงชาติสยามช่วงรัชกาลที่ ๒..
ธงชาติสยามเป็นแบบช้างเผือกอยู่ในวงจักร ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ ได้ระบุไว้ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ช้างเผือกเอกเข้ามาสู่รัชกาลถึง ๓ ช้าง ได้แก่ พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา พระยาเศวตคชลักษณ์ พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าให้วางรูปช้างเผือกสีขาวไว้กลางวงจักรสีขาวบนผืนผ้าสีแดงเพื่อใช้แทนธงจักรในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยธงชาติช้างเผือกในวงจักรอนุญาตให้ใช้เฉพาะบนเรือกำปั่นหลวง ไม่อนุญาตให้ราษฎรใช้เนื่องจากมีวงจักรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระนามแห่งราชวงศ์จักรี ดังนั้นเรือของสามัญชนชาวสยามจึงใช้เพียงธงสีแดงเกลี้ยง

ธงชาติสยามช่วงรัชกาลที่ ๓ – ๖…
ธงชาติสยามที่เป็นรูปช้างเผือกเปล่า หรือช้างเผือกที่ไม่ทรงเครื่องและไม่ยืนแท่นมีการค้นพบหลักฐานว่า เริ่มใช้ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยเป็นการยุติการใช้ธงชาติสยามแบบช้างเผือกในวงจักร เนื่องด้วยประเทศสยามแบบช้างเผือกในวงจักร เนื่องด้วยประเทศสยามเป็นมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากขึ้น จำเป็นที่เรือของสามัญชนชาวสยามต้องมีธงอันเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติสยามเมื่อต้องไปเทียบท่าเมืองอื่นๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัชกาลที่ ๓ จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้ยกเอาวงจักรออกเหลือเพียงช้างเผือก เพื่อให้ราษฎรและสามัญชนทั่วไปใช้เป็นธงประจำเรือในฐานะชนชาติสยามได้ โดยมีการใช้ธงช้างเผือกเปล่าสีขาวบนผืนผ้าสีแดงจนถึงต้นรัชกาลที่ ๖ กระทั่งมีการประดับธงช้างกลับหัวรับเสด็จรัชกาลที่ ๖ พระองค์จึงยกเลิกการใช้ธงชาติช้างเผือก