จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามที่จะให้สถาบันทหารออกจากการเมืองมาโดยตลอด เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและการใช้อำนาจในการบริหารบ้านเมือง แม้ในยุคที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้วิธีการได้มาซึ่งอำนาจโดยผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยวิธีหยั่งเสียงลงคะแนนตามระบบการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนราษฎร แต่สถาบันทหารก็ยังเป็นหนึ่งในเสาหลักของอำนาจที่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของบ้านเมืองในทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่สำหรับประเทศไทยการยึดอำนาจของทหารปราศจากความรุนแรง ต่างไปจากอีกหลายประเทศเท่านั้นคนไทยจำนวนไม่น้อยเรียกวิธีการเช่นนี้ว่าประชาธิปไตยแบบไทย ๆ และยอมรับโมเดลเช่นนี้ได้อย่างกลมกลืน
ต้นตำรับของทหารที่ก้าวมาสู่เวทีทางการเมือง ซึ่งหากศึกษาอัตชีวประวัติของท่านจะมีความละม้ายคล้าย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๙ เป็นอย่างยิ่งก็คือจอมพล ป.พิบูลสงคราม ความเหมือนบนความต่างที่น่าสนใจมีทั้งในเรื่องของรูปร่างหน้าตาบุคลิกลักษณะ กระทั่งเส้นทางของความเจริญก้าวหน้าในชีวิตรับราชการ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งเหลือเชื่อสำหรับหลายคนก็เป็นได้จากบันทึกเรื่องราวของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภาคปกติที่ไม่ได้พิสดารอะไร กล่าวถึงท่านผู้นี้ว่า
“เด็กคนนั้นตั้งแต่เกิดมาก็มีลักษณะท่าทางแปลกกว่าเด็กทั้งหลาย สองตายายผู้เป็นพ่อแม่ก็พลอยงงงันกับท่าทางของลูกคนนี้ไม่น้อยเพราะปู่ย่าตาทวดของตระกูลนี้ดำรงชีวิตมาด้วยการทำสวน แต่เด็กคนนี้มองดูทิวป่าและพืชไร่ที่ตระกูลของเขาอาศัยเลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคนแล้วด้วยความเฉยเมย ไม่มีท่าทีสนใจต่ออาชีพที่เป็นมรดกตกทอดมาจากต้นตระกูลแม้แต่น้อย
ตรงกันข้าม เด็กคนนี้กลับกระปรี้กระเปร่าต่อการศึกษาเล่าเรียน ดวงตาเต็มไปด้วยความใฝ่ฝันทะเยอทะยาน กิริยาวาจาเรียบร้อยและเงียบขรึม ทำการทุกอย่างด้วยความสุขุมรอบคอบอันส่อแสดงถึงนิสัยใจคอที่เด็กคนนี้จะต้องแยกเส้นทางการดำรงชีวิตออกจากสิ่งที่ตระกูลของเขาได้ทำมานมนานแล้ว ไปสู่ทิศทางใหม่ ไม่ยอมเจริญรอยตามอาชีพที่บรรพบุรุษของเขาทำมาแล้วอีกต่อไปและเพราะการเกิดมาเป็นเด็กที่มีลักษณะแปลกกว่าเด็กทั้งหลายนี่เอง นายขีด และนางสำอางค์ พ่อแม่จึงเรียกชื่อเด็กคนนี้ว่า เด็กชายแปลก”
เด็กชายแปลก มีลูกตาทั้งสองข้างเกิดอยู่เหนือระดับหูเล็กน้อย เป็นบุตรคนที่สองของนายขีด และนางสำอางค์ ขีตตะสังคะ ครอบครัวทำสวนแห่งบ้านแพ ปากคลองบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๐ ซึ่งตรงกับวันที่นักปฏิวัติในฝรั่งเศสลุกฮือทลายคุกบาสตีลแล้วจับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ กับพระนางมารี อังตัวเนตต์ ไปประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน เป็นผลสำเร็จ
เด็กชายแปลก มีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานอยู่เสมอ จึงสนใจใฝ่ศึกษาเล่าเรียนยิ่งกว่าการทำไร่ทำสวนตามพ่อแม่ เขาได้เล่าเรียนเป็นเบื้องต้นในชั้นประถมที่วัดเขมาภิรตารามเมืองนนทบุรี และมีความขยันหมั่นเพียรขะมักเขม้นดีกว่าเด็กคนอื่นในรุ่นเดียวกันดังนั้นเมื่อจบชั้นประถมด้วยความรู้พอสมควรแล้ว ยังได้โอกาสเข้าไปเรียนในโรงเรียนนายร้อย จปร. สมปรารถนา ในสมัยนั้นเด็กชาวสวนคนหนึ่งเข้าไปเรียนในโรงเรียนนายร้อย จปร. ถือว่าโก้หรูและภาคภูมิยิ่งเพราะเป็นเรื่องยากที่คนธรรมดาสามัญทั่วไปจะทำได้ แม้จะต้องหมดเปลืองขนาดไหนก็ยอมลำบากหาเงินมาส่งเสียให้ลูกเรียน
หลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๕๗ รับพระราชทานกระบี่และติดยศนายร้อยตรีเป็นนายทหารอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น แต่ ร.ต. แปลกก็ยังคงเจริญก้าวหน้าต่อมาด้วยการเข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกและสามารถสอบได้เป็นที่หนึ่ง ซึ่งจะมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศคือประเทศฝรั่งเศส กระทรวงกลาโหมได้ส่ง ร.ท.แปลกขีตตะสังคะ ไปศึกษาต่อวิชาทหารปืนใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศส ณ เมืองฟองเตนโบล ใกล้เมืองปารีส ที่พระราชวังที่ประทับของพระเจ้านโปเลียนตั้งอยู่
การเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสของ ร.ท.แปลก ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตของนายทหารผู้นี้ เพราะทำให้มีโอกาสพบปะกับนักศึกษาไทยชั้นหัวกะทิหลายท่าน อาทิ นายปรีดี พนมยงค์ นายควง อภัยวงศ์ นายร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นายร้อยตรี ทัศนัยมิตรภักดี และนายแนบ พหลโยธิน และเวลานั้นทั่วทุกมุมโลกกำลังเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การล้มล้างอำนาจเก่าที่ล้าสมัย มาสู่ระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้เกิดแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างเงียบ ๆ จากกลุ่มนักศึกษาไทยในกรุงปารีส ซึ่งเมื่อบุคคลเหล่านี้จบการศึกษาแล้วต่างก็ทยอยเดินทางกลับสู่ประเทศไทย รับราชการสนองพระเดชพระคุณตามภาระหน้าที่
จากร้อยโท แปลก เมื่อกลับมารับราชการในประเทศไทย และได้เลื่อนยศเป็นนายพันตรีในตำแหน่งหัวหน้ากองตรวจ กรมจเรทหารปืนใหญ่ และเป็นอาจารย์สอนวิชายุทธศาสตร์โรงเรียนเสนาธิการ มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และนายพันโท พระประสาสน์พิทยายุทธ เป็นผู้บังคับบัญชาตามลำดับในที่สุดก็มีส่วนร่วมประกอบการในวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ดังนั้น เมื่อการเปลี่ยนแปลงสิ้นสุดลงรัฐบาลชุดแรกในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีจึงมีชื่อ พันตรี แปลก ขีตตะสังคะ หรือ หลวงพิบูลสงคราม ร่วมเป็นรัฐมนตรีด้วย ในจำนวนคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ๑๔ คน ในขณะที่มีอายุเพียง ๓๕ ปี แต่ชื่อเสียงของหลวงพิบูลสงครามในเวลานั้นก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ ขับไล่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ
หลังจากนั้น พันตรี หลวงพิบูลสงครามได้นำชีวิตพุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอันดับที่ ๒ ของประเทศ รองจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นคนสำคัญร่วมวางแผนขับไล่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ และได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพันโท ต่อมาเมื่อเกิดกบฏบวรเดช ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ พลเอก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พร้อมนายทหารบางส่วนวางแผนช่วงชิงอำนาจทางการเมือง รัฐบาลภายใต้การนำของพันเอก พระยาพหลฯ ได้แต่งตั้งให้พันโท หลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพผสมอำนวยการปราบกบฏ จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้พันโท หลวงพิบูลสงครามมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งเมื่อสามารถปราบกองทัพกบฏได้อย่างราบคาบโดยเด็ดขาดในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๗๖ ยิ่งส่งผลให้ พันโท หลวงพิบูลสงคราม กลายเป็นวีรบุรุษ มีความดีความชอบและได้เลื่อนยศเป็น พันเอก อย่างงดงามในเวลาอันรวดเร็ว ก้าวสู่ความเป็นคนสำคัญและยิ่งใหญ่ของประเทศ มีอนาคตอันสดใสรออยู่ใกล้เอื้อม
ในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๗๗ เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่อีกครั้งพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ก็ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งของแผ่นดิน แต่ก็เต็มไปด้วยศัตรูตามมาจนต้องอยู่ท่ามกลางการอารักขาอย่างเข้มแข็งจากตำรวจและทหาร เพราะมีผู้ต้องการท่านในหลายรูปแบบหลายกลุ่มคนจนเกิดการกวาดล้างไปทั่ว
ต่อมารัฐบาลภายใต้การนำของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ประสบความยุ่งยากนานัปการ จนถึงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๘๑ มีประกาศพระบรมราชโองการยุบสภาผู้แทนราษฎร หลังจากเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทหนึ่งครั้งแรกของเมืองไทยปัญหาการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองได้เริ่มรุนแรงขึ้น พันเอก พระยาพหลฯ ประกาศล้างมือจากวงการเมืองโดยเด็ดขาด การช่วงชิงอำนาจยังดำรงต่อไป ในระหว่างผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ในที่สุด พันเอก หลวงพิบูลสงครามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก วางแผนช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการซ้อมรบป้องกันภัยทางอากาศเพื่อให้ประชาชนได้ชมแสนยานุภาพวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๑ มีการประชุมลับเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่งผ่านการเลือกตั้งใหม่ และในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากคณะผู้สำเร็จราชการ แต่งตั้งให้ พันเอก หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยวัยเพียง ๔๑ ปี
พันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี จำนวน ๒๕ นาย โดยตนเองควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กุมบังเหียนประเทศไทยในเวลาต่อมา มีการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองในหลายรูปแบบ
การขึ้นครองอำนาจในยุคแรกของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงประเพณีดั้งเดิมหลายประการ นอกจากการเปลี่ยนชื่อประเทศแล้ว โดยเปลี่ยนจาก ประเทศสยาม ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ กรุงเทพมหานคร มาเรียกขานใหม่ว่าประเทศไทย เริ่มนับวันขึ้นปีใหม่ จากเดิมวันที่ ๑ เมษายน และสิ้นปีวันที่ ๓๑ มีนาคม ซึ่งไม่ตรงกับการนับตามแบบสากลทั่วไป ให้ยึดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม และสิ้นปีในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ยังมีการเปลี่ยนแปลงประเพณีดั้งเดิมอีกหลายประการ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้นำประเทศไทยเข้าสู่สงครามร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยประกาศคำขวัญปลุกใจทั่วประเทศว่า ท่านผู้นำไปทางไหน เขาจะตามไปด้วย เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ขณะเดียวกันยังได้ปรับปรุงวัฒนธรรมแผนใหม่ขึ้นอย่างเข้มข้น อาทิ ให้ประชาชนสวมหมวก สวมรองเท้าไปติดต่อราชการต้องสวมเสื้อนอกผูกเนคไทห้ามกินหมากทั่วประเทศ สั่งตัดเครื่องพลูโค่นต้นหมากทิ้งทั้งประเทศ
ความเข้มแข็งในอำนาจของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มคลายมนต์ขลัง และรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภาด้วยการคว่ำร่าง พ.ร.บ.อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ.๒๔๘๗ ซึ่งรัฐบาล
ออกพระราชกำหนดสร้างเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่ และเกณฑ์ราษฎรไปทำงานสร้างเมืองจนเกิดการล้มตายด้วยโรคไข้ป่ามาลาเรียจำนวนมาก แม้กระนั้นรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ไม่ยอมลาออก และราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗
ต่อมา นายควง อภัยวงศ์ วางแผนโค่นอำนาจด้วยการขอให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปลด จอมพลป.พิบูลสงคราม ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแต่งตั้ง พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา แทน เพื่อสกัดกั้นเหตุร้ายอันอาจเกิดขึ้นจากการเคลื่อนกำลังทหารของจอมพล ป.
หลังจากหลุดออกจากอำนาจ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบเงียบที่บ้านพักลำลูกกา และรำพันว่าจะไม่กลับไปสู่วงการเมืองอีก ขออยู่อย่างสงบตามลำพัง ไม่เอาแล้ว เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามบุคคลสำคัญในสงครามฝ่ายอักษะตกเป็นอาชญากรสงครามกันมาก หลายคนถูกตัดสินประหารชีวิต แต่จอมพล ป. ยังโชคดีมีผู้ช่วยเหลือ ไม่ต้องรับโทษ อดีตผู้นำผู้เรืองอำนาจอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง ๖ ปี ใช้ชีวิตอย่างสงบในบ้านพัก
ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ด้วยการอาศัยมือของพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นการยึดอำนาจรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จอมพล ป. กลับมาเรืองอำนาจและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างไม่ไว้หน้าใคร และก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่อุบัติการณ์ของการกบฏและจลาจลวงเวียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีแม้แต่การทำรัฐประหารตัวเองประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ จอมพล ป.พิบูลสงคราม สามารถรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้อย่างยาวนาน จนกระทั่งเกิดการไฮด์ปาร์ค และเทเลคอนเฟอเรนซ์สัมภาษณ์ ซักถามรัฐบาลอย่างเข้มงวด
สถานการณ์การเมืองที่เลวร้าย ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้จอมพลป.พิบูลสงคราม และรัฐบาลลาออก จนกระทั่งวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ เวลา ๒๓.๐๐ น.ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยจึงได้เปิดหน้าใหม่ขึ้นมารับเหตุการณ์การรัฐประหารยึดอำนาจโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สื่อมวลชนรายงานว่า จอมพล ป.พิบูลสงครามนั่งเรือออกทะเลไปที่เกาะกง น้ำเสียงบ่งบอกความเป็นคนสุขุมลุ่มลึกดังขึ้นว่า “ต่อไปนี้ชีวิตของผมมีแต่น้ำกับฟ้า”
บั้นปลายของชีวิต จอมพล ป. ต้องลี้ภัยอยู่ในประเทศเขมรชั่วระยะหนึ่ง เวลาผ่านไปข่าวคราวของอดีตผู้นำประเทศเริ่มห่างหายจนมีข่าวสุดท้าย การถึงแก่อสัญกรรมของนายกรัฐมนตรีผู้นี้ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๒ สิริอายุ ๖๖ ปี ๑๐ เดือน ๑๑ วัน
– จุฬาพิช มณีวงศ์