อาณาจักรพม่าแห่งพุกามถูกสถาปนาโดยพระเจ้าอโนรธามหาราชเมื่อปี พ.ศ.๑๕๘๗ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๕๘๗ – ๑๖๒๐ นาน ๓๓ ปี) เมื่อมีอำนาจเหนือพม่าตอนล่างจึงเป็นการก้าวสู่จักรวรรดิครั้งที่หนึ่ง อยู่ในอำนาจสู่จุดสูงสุดนาน ๒๔๓ ปี ก่อนที่จะล่มสลายลงจากการโจมตีของกองทัพจากตอนเหนือแห่งอาณาจักรมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนขณะมีอำนาจเหนือจีน เป็นผลให้มีการอพยพลงมาทางใต้ เมื่อพระเจ้าเมงจีโย (Mingyinyo) ได้สถาปนาอาณาจักรพม่าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ปี พ.ศ.๒๐๒๙ เป็นผลให้เมืองตองอูแห่งพม่าได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นจักรวรรดิครั้งที่สอง…………..บทความนี้ กล่าวถึงการเริ่มต้นของจักรวรรดิพม่าครั้งที่สอง
๑. สถานการณ์ทั่วไป
เจ้าชายตะบินเฉว่ที (Tabinshwehti) หรือชาวสยามรู้จักในชื่อเจ้าชายตะเบ็ง ชะเวตี้ (แปลว่า สุวรรณเอกฉัตร) ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๔ ทรงมีความคิดที่จะขยายอาณาจักรให้กว้างใหญ่ขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดาคือพระเจ้าเมงจีโย (Mingyinyo) ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๒๙ – ๒๐๗๔ เป็นระยะเวลานาน ๔๕ ปีมีอำนาจเหนืออาณาจักรต่าง ๆ แห่งลุ่มแม่น้ำอิระวดี
๒. การขยายอาณาจักร
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกกองทัพตีเมืองเมาะตะมะโดยใช้เวลาปิดล้อมนาน ๗ เดือนทหารราบพม่าได้ใช้ปืนคาบศิลาเป็นอาวุธประจำกายแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะตีหักเอาเมืองได้ ทหารมอญที่รักษาเมืองเมาะตะมะได้ต่อสู้อย่างเข้มแข็งพร้อมทั้งใช้ปืนใหญ่ (สร้างจากอาณาจักรโปรตุเกส) ประจำเมืองยิงต่อต้านพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็สามารถเข้าตีและยึดเมืองเมาะตะมะได้ในปี พ.ศ.๒๐๘๔ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงสั่งประหารชีวิตเจ้าเมืองเมาะตะมะและครอบครัวรวมทั้งกำลังทหารที่ป้องกันเมือง เมืองเมาะละแหม่ง (Maulrmein)และเมืองบริเวณใกล้เคียงต่างก็ยอมขึ้นกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (ก่อนนั้นพระองค์ทรงยกกองทัพพม่าเข้าควบคุมดินแดนของมอญอยู่ในพม่าตอนล่างได้เข้ายึดเมืองเชียงกรานปีพ.ศ.๒๐๘๑ เป็นหัวเมืองที่อยู่ปลายแดนของกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นสาเหตุของสงครามของสองอาณาจักรที่ต่อสู้เป็นเวลานานแม้ว่าจะเปลี่ยนราชวงศ์และอาณาจักร)
เวลาต่อมาพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกกองทัพเข้าล้อมเมืองแปรปี พ.ศ.๒๐๘๕ ต้องใช้เวลาล้อมนาน ๕ เดือน เจ้าเมืองแปรขอความช่วยเหลือจากเมืองยะไข่ (อะรากัน) ที่มีอำนาจทางทหารบกและมีกองทัพเรือพร้อมทั้งมีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสในกองทัพ เมืองยะไข่มีอำนาจมากขึ้นเมื่อเมืองเมาะตะมะแตกกองทัพบกยะไข่เดินทัพผ่านทางช่องเขาแอนน์(ช่องเขาปาดุง) พร้อมทั้งส่งกองทัพเรือมาช่วย เมื่อกองทัพบกยะไข่ได้ผ่านช่องเขาก็ได้ปะทะกับกองทัพของแม่ทัพใหญ่พม่า ในที่สุดกองทัพบกยะไข่ก็พ่ายแพ้ กองทัพเรือยะไข่ยึดได้เมืองพะสิม แต่เมื่อทราบว่ากองทัพบกยะไข่พ่ายแพ้ก็ถอยทัพ ในที่สุดเมืองแปรก็ถูกตีแตก และพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงประหารชีวิตเจ้าเมืองและผู้ปกป้องเมืองเช่นเดียวกับการเข้าตีเมืองเมาะตะมะ อาณาจักรพม่าเริ่มมีอำนาจปกครองเมืองทางตอนใต้ที่เป็นมอญ จึงมีเขตแดนที่กว้างใหญ่ขึ้นสามารถที่จะควบคุมการค้าของเมืองท่าต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งอันดามันพร้อมทั้งนำความมั่งคั่งมาสู่อาณาจักร
พ.ศ.๒๐๘๙ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกกองทัพไปตีเมืองยะไข่ กองทัพพม่าก็มีชาวโปรตุเกสเข้าร่วมในกองทัพ ที่สำคัญคือดิเอโก ซัวเรส เดอ เมลโล (Diogo Soaresde Mello) ซึ่งมีอาวุธที่ทันสมัย แม่ทัพใหญ่บาเยนองจอแดงนรธา (Bayinnaung Kyawhtin Nawrahta) หรือชาวสยามรู้จักในชื่อบุเรงนอง ยกไปทางบก พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกกองทัพเรือไปทางทะเล มีเรือโปรตุเกสร่วมไปด้วย ๒ ลำ ขณะนั้นทรงทราบว่ามีความขัดแย้งบริเวณเมืองตะนาวศรีกับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงรีบเจรจาสงบศึกกับเจ้าเมืองยะไข่ แล้วจึงรีบเสด็จกลับมายังกรุงหงสาวดี
๓. ความยุ่งยากของอาณาจักรพม่าแห่งหงสาวดี
หลังจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงผิดหวังจากการเข้าตีอาณาจักรสยามแห่งอยุธยาปี พ.ศ.๒๐๙๒ ด้วยกองทัพขนาดใหญ่ ทหารราบ ๓๐๐,๐๐๐ นาย ทหารม้า ๓,๐๐๐ ม้า และช้างศึก ๗๐๐ เชือก (พร้อมด้วยทหารโปรตุเกส๔๐๐ นาย) พระองค์ทรงมีแม่ทัพใหญ่ คือ บาเยนองจอแดงนรธา (Bayinnaung Kyawhtin Nawrahta) แม่ทัพใหญ่พม่ามีความเข้าใจในยุทธศาสตร์ตั้งรับของกรุงศรีอยุธยาคือใช้แนวแม่น้ำตั้งรับ และจะมีน้ำท่วมในหน้านำซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญของฝ่ายเข้าตีหรือปิดล้อม ถ้าจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยาให้แตกจะต้องเข้าตีด้วยกองทัพใหญ่ในสองทิศทางเข้าตีหลัก ความสำคัญนี้จะมีคุณค่ายิ่งในอนาคตต่อแม่ทัพใหญ่คือบาเยนองจอแดงนรธา (Bayinnaung Kyawhtin Nawrahta)
เมื่อเสด็จกลับถึงกรุงหงสาวดี (Handawaddy) ทรงเสวยแต่น้ำจัณฑ์กับพระสหายชาวโปรตุเกส (เจ้าเมืองเมาะตะมะจับตัวส่งมาให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แต่พระองค์ทรงพอพระทัย) และไม่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เกิดกบฏที่เมืองสิเรียมเจ้าเมืองคือสมิงทอ (อนุชาของพระเจ้าตากายุตปี อดีตกษัตริย์มอญแห่งกรุงหงสาวดี ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๖๙-๒๐๘๒ เป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฟ้ารั่วหรือมะกะโท) ซึ่งแม่ทัพใหญ่บาเยนองจอแดงนรธา (Bayinnaung Kyawhtin Nawrahta) ยกกองทัพจากกรุงหงสาวดีไปปราบกบฏ ขณะนั้นเจ้าเมืองสะโตงคือสมิงสอสุด (Smim Sawhtut) เป็นมอญมาทูลเชิญพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เสด็จมาคล้องช้างสำคัญ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มีรับสั่งให้อุปราชเมืองตองอู (น้องชายของแม่ทัพใหญ่) มารักษากรุงหงสาวดี และพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเสด็จไปคล้องช้างสำคัญกับเจ้าเมืองสะโตง ค่ำคืนวันหนึ่งขณะที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงบรรทมหลับอยู่ เจ้าเมืองสะโตงก็ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๐๙๓ ขณะมีพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา (อยู่ในราชสมบัตินาน ๑๕ ปี)เมื่อข่าวได้แพร่กระจายออกไปน้องชายแม่ทัพใหญ่ที่มารักษากรุงหงสาวดีรีบกลับไปเมืองตองอู เจ้าเมืองต่าง ๆ ก็ได้แยกตัวต่างก็ตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดีและตั้งตนเป็นใหญ่
๔. บทสรุป
เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กษัตริย์ลำดับที่สองแห่งราชวงศ์ตองอู มีอุปนิสัยกล้าหาญพอพระหฤทัยในการทำสงคราม ได้ขยายอาณาเขตใหมี้ขนาดใหญขึ่้นเพื่อรวมอาณาจักรพม่าให้เป็นหนึ่งเดียวตามความประสงค์ของพระราชบิดา ในที่สุดก็สามารถรวมพม่าเป็นหนึ่งเดียวทั้งพม่าตอนล่างและพม่าตอนบนมีแม่ทัพใหญ่ที่มีความสามารถได้สร้างวีรกรรมยิ่งใหญ่จากการรบที่นองโย เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถูกปลงพระชนม์จะนำมาซึ่งความยุ่งยากของอาณาจักรโดยเมืองต่าง ๆ แย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือแม่น้ำอิระวดี
– พลเอก ทรงพล ไพนุพงศ์