S__32677893

S__32677894

 

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยภาครัฐ เอกชน สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมและการพัฒนามนุษย์ ณ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา

การลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ในครั้งนี้ มีสถาบันการศึกษา และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่สำคัญ ได้แก่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยฟอฏอนี สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 18 แห่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า และ ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีสาระสำคัญ คือ การร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ในการส่งเสริมและประสานความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม ระดับอุดมศึกษา

S__32677892 S__32677891

 

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ กับหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสังคมพหุวัฒนธรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เพื่อพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศ มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้หน่วยงานทางวิชาการถือว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้สังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้ยังมีความพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งด้านบุคลากร ครูอาจารย์ และสถานที่ สามารถเชิญชวนให้นักศึกษาเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งดีงามที่มีคุณค่าต่อการอยู่ร่วมกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอให้หน่วยงานต่างๆ ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” รวมทั้งศาสตร์พระราชา 23 หลักการทรงงานฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 23 “รู้ รัก สามัคคี” มาเป็นหลักในการดำเนินงานส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันบนพื้นฐานความรู้รักสามัคคี และงานก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอย่างแน่นอน