560000004704904 (1)

ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ส่งเสริม และดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร วางแผน อำนวยการ ประสานงาน พิจารณาเสนอความเห็น ให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายมี พลโท นรเศรษฐ ขรรทมาศ ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ปัจจุบันมีโครงการแบ่งการผลิตออกเป็น
๑. ผลิตเอง
๒. ผลิตร่วมกับเหล่าทัพ
จากการบูรณาการร่วมกับ กองทัพเรือ พิจารณาและเห็นว่าสายงานการผลิตที่มีอยู่เดิมของกองทัพเรือนั้นถ้าปรับปรุงพัฒนาเพื่อรองรับการผลิตก็จะใช้งบประมาณที่ถูกกว่าการที่ ศอว.สป. จะผลิตเองและขายให้กองทัพเรือ ดังนั้นการผลิตกระสุนทั้ง ๒ ประเภทนี้ จะให้กองทัพเรือผลิตใช้เอง คือ
๑. โครงการผลิตลูกปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๓๗ มิลลิเมตร ชนิดฝึก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้โครงการผลิตลูกปืนต่อสู้อากาศยาน ขนาด ๓๗ มิลลิเมตร ชนิดฝึก ต่อเนื่อง (ปีงบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๕) เป็นโครงการเริ่มใหม่ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ ๖ ปี ผลิตลูกปืนต่อสู้อากาศยาน ขนาด๓๗ มิลลิเมตร Type 74 ชนิดฝึกจำนวน ๒๕,๐๐๐ นัด โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ จะเป็นการจัดพัสดุสำหรับการผลิตให้กับโครงการฯ และจะเริ่มผลิตตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ – ๒๕๖๕ เพื่อขายให้กับกองทัพเรือ
๒. โครงการผลิตลูกปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๓๐x๑๗๓ มิลลิเมตร ชนิดฝึก
ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ให้โครงการผลิตลูกปืนต่อสู้อากาศยาน ขนาด ๓๐ x ๑๗๓ มิลลิเมตร ชนิดฝึก (ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ – ๒๕๖๕) เป็นโครงการเริ่มใหม่ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑ โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ๕ ปี ผลิตลูกปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๓๐ x ๑๗๓ มิลลิเมตร ชนิดฝึก จำนวน ๑๕,๐๐๐ นัด เพื่อขายให้กับกองทัพเรือ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการด้วยเงินทุนหมุนเวียนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
– กองทัพมีศักยภาพในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์
– กองทัพสามารถพึ่งพาตนเองได้
– ลดการนำเข้า และประหยัดงบประมาณของประเทศ
– เพิ่มพูนทักษะ และองค์ความรู้จากการผลิต ฯ ให้บุคลากร
– เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทั้งในและต่างประเทศ
– ลดปัจจัยเสี่ยงด้านงบประมาณ ผลิตตามความต้องการของเหล่าทัพ