สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ ๗ โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ มหาวิยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจุดประกายความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุ่งหวังปูพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) ให้กับเยาวชนไทย สู่การพัฒนาทักษะและความรู้ เติบโตสู่การเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศ ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและอุตสาหกรรม S-Curve
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้เปิดโอกาสให้กับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์ – คณิต จำนวน ๕๐ คน ผู้เป็นตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดทางภาคเหนือเข้าร่วมกิจกรรมโดยในครั้งนี้ สทป. ขนทัพนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ สทป. รับหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ และเป็นพี่เลี้ยงดูแลการลงมือปฏิบัติของน้องๆ เยาวชนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เยาวชนเกิดความเข้าใจในการนำวิชาภาคทฤษฏีไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมส่งเสริมการเรียนรู้โดยการลงมือทำซึ่งช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในกระบวนการเรียนรู้ที่ครบวงจร

สำหรับค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ ๗ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดค่ายในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้เยาวชน ได้เข้าใจถึงการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ในการวิจัยพัฒนาจรวด สร้างแรงบันดาลใจในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้โจทย์ทางเทคนิค ด้วยการนำน้ำตาลมาเป็นส่วนผสมในการทำดินขับจรวด (Candy Rocket) ซึ่งเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงแข็งที่นำมาใช้แทนเชื้อเพลิงคอมโพสิท พร้อมกับปลูกฝังเจตคติที่ดีในการทำงานร่วมกันเป็นทีม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์การนำเสนอการทำงานเป็นทีมและมิตรภาพจากเพื่อนใหม่ต่างโรงเรียน

ซึ่งกิจกรรมเริ่มต้นการแบ่งปันความรู้ด้านฟิสิกส์ของจรวดและถ่ายทอดความรู้ในวิชาเคมีที่เกี่ยวข้องกับจรวดและดินขับ เพื่อเป็นการให้ความรู้พื้นฐานให้กับนักเรียนก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการทางเคมี ทดลองออกแบบส่วนผสมของสารสร้างปฏิกิริยาเคมีโดยการจำลองการหล่อแท่งดิน ตลอดจนการออกแบบจรวดและสร้างจรวดประดิษฐ์ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการแก้โจทย์ทางวิศวกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักการเรียนรู้โดยการลงมือทำ ซึ่งทำให้เยาวชนเกิดความเข้าใจในทฤษฎีได้อย่างถ่องแท้ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดจิตนาการในการเป็นตัวช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ สร้างอิสระในการเรียนรู้ การคิดแบบเป็นระบบและตรรกะในการแก้ไขปัญหาและแก้โจทย์ เป็นการเรียนที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การท่องจำเพื่อใช้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้จริง ด้วยกระบวนการ คิดวิเคราะห์ วางแผน ลงมือประดิษฐ์ และนำผลงานมาทดสอบ ก่อให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างพื้นฐานสำหรับต่อยอดการเป็นกำลังสำคัญในการสร้างบุคคลากรด้านวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ในสาขาทางด้านวิศวกรรมอีกเป็นจำนวนมาก มาเป็นส่วนหนึ่งในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งในปัจจุบันได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งใน S-Curve ที่ ๑๑ ซึ่งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีความสำคัญต่อความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตและสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยได้อย่างมหาศาล

สทป. ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม จึงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จากองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอด พัฒนาต่อยอดสู่สายการผลิต บูรณาการการทำงานเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มีความเข้มแข็งในการพัฒนานวัตกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์  เพื่อตอบสนองการใช้งานของเหล่าทัพที่มีความต้องการหลากหลายมิติ นำไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม       ลดการพึ่งพาต่างประเทศและพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องสำหรับการใช้ประโยชน์ทางภาคสังคม และเป็นการสร้างบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญและทันสมัยในเทคโนโลยีต่างๆ มุ่งเน้นให้เกิดการทำงานในรูปแบบประชารัฐ เพื่อผลิตไปสู่การใช้งานในราชการและในเชิงพาณิชย์ และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องสำหรับการใช้ประโยชน์ทางภาคสังคม ให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน นำสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาต่างชาติ เพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน

 cats