สำนักงานแพทย์ สำนักงานสนับสนุนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

จากสถานการณ์ที่เด็กๆ และโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ ออกจากถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอนแล้ว สิ่งที่ต้องระวังหลังจากออกมานอกถ้ำนั้น คือ การติดเชื้อภายในถ้ำ  ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเชื้อไวรัสบางชนิดในถ้ำที่สามารถแพร่สู่สัตว์และคนได้

          ค้างคาวเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พิสูจน์แล้วว่า เป็นที่มาและแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสหลากหลายชนิด เนื่องด้วยปัจจัยทางชีววิทยาที่เกื้อหนุน คือ มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ อายุยืน สามารถบินได้ไกล มีการจับกลุ่มที่หนาแน่น การกระจายของประชากรค้างคาวในแต่ละพื้นที่ และระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเอกลักษณ์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าลักษณะกระดูกที่กลวงของค้างคาวเพื่อประโยชน์ในการบิน ทำให้ค้างคาว    ไม่มีไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันประเภท B cell หรือมีการสร้างน้อยลง ทำให้ค้างคาวสามารถเป็นแหล่งเชื้อไวรัสได้โดยเชื้อไม่ก่อโรคในค้างคาว ปัจจุบันสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสหลากหลายชนิดในค้างคาวหลายสายพันธุ์ เช่น เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (rabies virus) ไวรัสโรคคางทูม (mumps) ไวรัสโรคหัด (measles) เชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus) ไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV)  ไวรัสเมอร์ส (MERS-CoV)  ไวรัสโรคเชื้อสมองอักเสบนิปาห์ (Nipah virus) ไวรัส อีโบลา (Ebola virus) และ ไวรัส มาร์บวร์ก (Marburg virus) รวมถึงเชื้ออื่นจำพวกแบคทีเรียบางชนิด โปรโตซัว เชื้อรา และหนอนพยาธิ

วิธีการแพร่เชื้อจากค้างคาวไปสู่มนุษย์มีได้หลายวิธี โดยอาจจะผ่านตัวกลาง (intermediate host) เช่น คางคาวที่กินผลไม้ จะคายเศษผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายทิ้ง ซึ่งอาจจะมี สุกร ม้า หรือสัตว์ตระกูลลิงมากินต่อ  และมนุษย์ก็จะนำสัตว์ที่เป็นตัวกลางไปรับประทานเป็นอาหาร หรืออาจจะเกิดจากการสัมผัสกับตัวค้างคาวโดยตรง เช่น ถูกกัด หรือการรับประทานค้างคาวเป็นอาหาร และสุดท้ายคือ แพร่ทางละอองลอย ในกรณีที่มนุษย์เข้าไปในบริเวณถ้ำที่ค้างคาวอาศัยอยู่ ตัวอย่างโรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากค้างคาวที่จะกล่าวถึง ในบทความนี้ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Hendra) โรคสมองอักเสบนิปาห์ โรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง และโรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง

          สถานการณ์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากค้างคาวในประเทศไทย ในประเทศไทยมีกลุ่มนักวิจัยทำการศึกษาหาเชื้อในค้างคาวในบางถ้ำที่มีประชากรค้างคาวอยู่หนาแน่น พบว่า สามารถตรวจพบเชื้อไวรัส    นิปาห์ในค้างคาวแม่ไก่เกาะในเกาะทางตอนใต้ของประเทศ และค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ค้างคาวแม่ไก่ในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี อยุธยาและจังหวัดสิงห์บุรี และค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Hipposideros larvatus) ในจังหวัดชลบุรี สุราษฎร์ธานีและจังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ยังพบเชื้อ Group B Betacoronavirus ในค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ ที่เขาถ้ำแรด จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเชื้อนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสโรคซาร์ส และพบเชื้อ Group C Betacoronavirus ในมูลค้างคาวที่พบในเขาช่องพราน  จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวปากย่น (Tadarida plicata) ซึ่งเชื้อนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับเชื้อ   ไวรัสเมอร์ส ในบริเวณเขาช่องพราน มีชาวบ้านหลายครัวเรือนทำอาชีพเก็บมูลค้างคาวในถ้ำเพื่อนำมาขาย   ทำให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสละอองฝอยในถ้ำและสัมผัสกับมูลค้างคาวโดยตรง แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานของเชื้อไวรัสก่อโรคในค้างคาวแพร่ไปสู่คนก็ตาม ก็ยังเห็นสมควรที่จะต้องรณรงค์ให้ผู้มีความเสี่ยงสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการสัมผัสให้เหมาะสม ซึ่งได้แก่ เสื้อคลุม ถุงมือ และหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองที่ได้มาตรฐาน (NIOSH-N95 หรือ P2) และหากเป็นไปได้ควรใช้ชุดหน้ากากชนิดใช้แบตเตอรี่และชุดส่งผ่านอากาศ (powered air-purifying respirator) ที่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวดหลังใช้งานทุกครั้งนอกจากนี้ยังควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์ค้างคาวในแต่ละพื้นที่และชนิด เชื้อไวรัสที่ค้างคาวเหล่านั้นเป็นแหล่งรังโรคและวิธีการแพร่กระจายของโรคมาสู่คน เพื่อวางมาตรการดูแลและป้องกันมิให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในประเทศไทยต่อไป

มาตรการป้องกันและศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพ (One Health) ในการป้องกันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากสัตว์นั้น ควรใช้หลักการของ One Health เข้ามาช่วย โดย One Health เป็นหลักการระดับนานาชาติที่มองโรคติดต่อจากสัตว์ในแง่องค์รวม ทั้งในมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศน์ โดยระบบสาธารณสุขในทุกระดับจะต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อใหม่และการวินิจฉัยโรคให้ทันท่วงที ควบคุมหรือรักษาโดยการรักษาทั้งในมนุษย์ ในสัตว์ และดำเนินการป้องกันในสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย นอกจากนี้หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับสัตว์ป่าควรจะต้องดำเนินงานเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะวงจรชีวิตและจำนวนประชากรของสัตว์ที่เป็นแหล่งสะสมโรคหรือตัวกลางแพร่เชื้อ หน่วยงานที่ดูแล  เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมควรดำเนินงานเพื่อวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบชุมชนที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสัตว์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลส่วนกลางที่จะมีประโยชน์ในการตรวจหาและรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต่อไป

ด้วยความพิเศษทางด้านชีววิทยา ภูมิคุ้มกันและพฤติกรรมทางสังคมของค้างคาว ทำให้ค้างคาวเป็นสัตว์ที่สามารถอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสก่อโรคได้มากมาย ทั้งเชื้อไวรัสที่เคยก่อโรคในคนและเชื้อไวรัสใหม่ ที่ยังไม่ก่อโรคในคน ดังนั้นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากค้างคาวเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ทั้งในด้านการวิจัยเชื้อที่พบได้ในค้างคาวต่างสายพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเชื้อไวรัสและค้างคาว และหนทางแพร่เชื้อสู่มนุษย์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่จะมีประโยชน์ในอนาคต เพื่อจะช่วยในการวางแผนป้องกัน หรือเป็นแนวทางรักษาในกรณีเกิดโรคอุบัติใหม่ต่อไป

002