พระเจ้าบุเรงนองมหาราชของอาณาจักรพม่าในยุคที่สอง อาณาจักรมีความเข้มแข็งทางทหารเนื่องจากมีอาวุธใหม่คือปืนคาบศิลาจากชาวโปรตุเกสและพระเจ้าบุเรงนองทรงมีการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ดี ได้ขยายอาณาจักรสู่เพื่อนบ้าน อาณาจักรพม่าก้าวขึ้นสู่อำนาจทางทหารอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น อาณาจักรที่กว้างใหญ่ขึ้นกว่าในอดีตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กองทัพพม่าในยุคที่สองมีอานุภาพทางทหารมาก พระองค์อยู่ในราชสมบัตินานถึง ๓๐ ปี จึงมีเวลาในการขยายอำนาจทางทหาร ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของการเป็นมหาอำนาจทางทหารแห่งอุษาคเนย์มีอาณาจักรขนาดใหญ่ บทความนี้กล่าวช่วงปลายของราชวงศ์ตองอู

๑.กล่าวทั่วไป

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งราชวงศ์ตองอูสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๑๒๔ กรุงศรีอยุธยาได้ประกาศอิสรภาพในปีพ.ศ.๒๑๒๗ พระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งราชวงศ์ตองอูต้องแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรหงสาวดียังคงมีอำนาจที่เข้มแข็งอยู่ต้องทำศึกใหญ่กับอยุธยาถึง ๕ ครั้ง โดยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องสูญเสียอย่างมากทั้งจำนวนทหาร(มีผลให้ขาดแคลนกำลังพลที่เป็นผู้ชายในการเพาะปลูก)และอาวุธถูกทำลายสูญเสียในการรบเป็นจำนวนมากทั้งดาบ ปืนคาบศิลาและปืนใหญ่ ต้องสูญเสียเงินในท้องพระคลังเป็นจำนวนมากและเริ่มร่อยหรอลง

พ.ศ.๒๑๓๖ พม่าเกิดกาฬโรคระบาดก่อให้เกิดการสูญเสียในหลายด้านอย่างมาก เป็นผลให้ศูนย์กลางของอำนาจปกครองจากหงสาวดีเริ่มอ่อนกำลังลง พม่าตอนล่างประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมอญที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้มาเป็นเวลานานและเป็นคู่ศึกมาอันยาวนานในประวัติศาสตร์แห่งลุ่มแม่น้ำอิระวดี ไม่ยอมรับอำนาจของหงสาวดีจึงเกิดความวุ่นวายเกิดขึ้น แม้ว่ากองทัพพม่าเข้าปราบปรามหัวเมืองมอญอย่างเด็ดขาด แต่ก็ต้องสูญเสียทั้งเวลาและเงินในท้องพระคลังมากยิ่งขึ้น หัวเมืองมอญทางตอนใต้ก็เข้ามาอยู่กับอยุธยา เป็นผลให้เกิดความแตกแยกในราชวงศ์ตองอู พร้อมทั้งอำนาจที่เคยยิ่งใหญ่ก็เริ่มอ่อนลงเป็นลำดับกรุงศรีอยุธยาเริ่มเข้มแข็งขึ้น กองทัพอยุธยาเป็นฝ่ายเข้าตีอาณาจักรพม่าโดยการเดินทัพผ่านทางเมืองเมาะตะมะและมุ่งเข้าประชิดกรุงหงสาวดี

๒. ความวุ่นวายในราชวงศ์ตองอูหลังสงครามยุทธหัตถี ๒๑๓๕

๒.๑ ราชวงศ์ตองอู
ราชวงศ์ตองอูของพระเจ้า บุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี ได้ส่งพระญาติที่สนิทไปครองเมืองต่างๆ ของอาณาจักรตองอู เพื่อความมั่นคงของอาณาจักร พระเจ้าตองอู (เมงเยสีหตู/Minye Thi Hathu) พระอนุชาของพระเจ้าบุเรงนอง มีพระโอรสคือเจ้าชายนัดจินหน่อง (Natshinnaung) กับพระนางเมงขิ่นสอ(Min Khin Saw) แต่ชาวสยามจะเรียกว่าเจ้าชายสังขทัต พระเจ้าบุเรงนองทรงมีพระราชโอรสที่สำคัญอีกพระองค์หนึ่งกับพระมเหสีราชเทวี(พระมเหสีตำหนักกลาง) ชื่อว่าเจ้าชายมังนรธาสอ (Nawrahta Minsaw)หรือเจ้าชายสารวดี ต่อมาทรงเป็นปฐมราชวงศ์ของชาวพม่าที่ปกครองแคว้นล้านนา (ห้วงปี พ.ศ.๒๑๒๑-๒๑๕๐ นาน ๒๙ ปี)

พระเจ้านันทบุเรงหรือเจ้าวังหน้า (เจ้าชายงาสู่ดายะ) เป็นพระโอรสของพระเจ้าบุเรงนองกับพระอัครมเหสี (พระอัครมเหสีตำหนักใต้) หรือพระนางอตุลสิริมหาราชเทวี (ตะขิ่นจี) ทรงเป็นพระพี่นางของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้พระเจ้านันทบุเรงมีพระราชโอรสคือเจ้าชายเมงกะยอชวาหรือพระมหาอุปราชา ที่ชาวสยามจะเรียกว่ามังสามเกียด ประสูติจากพระอัครมเหสีเมงพยู

เมื่ออาณาจักรหงสาวดีสูญเสียพระมหาอุปราชาในศึกยุทธหัตถีปี พ.ศ.๒๑๓๕ เป็นผลให้การปกครองของพระเจ้านันทบุเรงมีความยุ่งยากในการแต่งตั้งรัชทายาท แต่พระองค์ทรงมีพระอนุชาที่ครองเมืองใหญ่ในอาณาจักรพม่าคือเมืองเชียงใหม่ (แคว้นล้านนา) และเมืองอังวะ

พ.ศ.๒๑๔๒ กองทัพเรือยะไข่ (อาระกัน) มีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส (มีผู้นำคือ ฟิลิป เดอบริโต นิโคเต) เข้าโจมตีเมืองสิเรียม (เป็นเมืองท่าที่สำคัญตั้งอยู่บริเวณที่ปากแม่น้ำอิระวดี)และยึดไว้ได้ ขณะเดียวกันกองทัพเมืองตองอูได้เข้าประชิดกรุงหงสาวดี กองทัพเรือยะไข่อีกกองหนึ่งได้ส่งกำลังทหารบกเข้าร่วมกับกองทัพตองอูเพื่อจะเข้ายึดกรุงหงสาวดี สภาพของกรุงหงสาวดีอ่อนกำลังลงอย่างมาก กองทัพยะไข่เข้าปล้นสะดมกรุงหงสาวดีนำสิ่งของที่เป็นประเภททองคำและสิ่งของที่มีค่าเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งนำตัวพระราชธิดาของพระเจ้านันทบุเรงนอง รวมทั้งช้างเผือกหลายเชือกกลับสู่เมืองยะไข่ กองทัพตองอูได้นำสิ่งของที่มีค่ารวมทั้งพระเขี้ยวแก้วกลับสู่เมืองตองอู

๒.๒ การศึกกับอยุธยา
พ.ศ.๒๑๔๒ กองทัพกรุงศรีอยุธยาเดินทัพสู่กรุงหงสาวดี พระเจ้าตองอูทรงเชิญพระเจ้านันทบุเรงให้เสด็จไปประทับที่เมืองตองอู เป็นผลให้กรุงหงสาวดีขาดผู้ปกครองเมืองเป็นเมืองร้าง เป็นอีกครั้งหนึ่งเมืองที่เคยยิ่งใหญ่เป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งอุษาคเนย์เหนืออาณาจักรลุ่มแม่น้ำอิระวดี, ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อผ่านมา ๑๘ ปี ก็เสียหายยับเยินถึงกาลล่มสลาย

กองทัพอยุธยาเดินทัพมาทางเมืองเมาะตะมะ(เสียเวลาปราบปรามมอญ ที่พระเจ้าตองอูยุยงให้กระด้างกระเดื่องที่ได้รับคำแนะนำจากพระมหาเถระเสียมเพรียมนานถึง ๓ เดือน) ถึงชานกรุงหงสาวดี เมื่อพระเจ้านันทบุเรงถูกเจ้าเมืองตองอูเชิญ (คุมตัว) หนีไปได้ ๘ วัน สภาพของกรุงหงสาวดีที่ถูกไฟเผาผลาญเมืองเสียหายเป็นจำนวนมาก กองทัพอยุธยาได้ตั้งค่ายพักที่กรุงหงสาวดี ต่อมาจึงเคลื่อนทัพขึ้นไปทางเหนืออีก ๑๘๐ กิโลเมตร ไปยังเมืองตองอูและเข้าล้อมเมือง แต่ด้วยสภาพเมืองตองอูที่มีป้อมแข็งแรงกองทัพยะไข่และกองทัพตองอูร่วมกันทำสงครามกองโจรโจมตีกองทัพอยุธยาประกอบกับเส้นทางการส่งเสบียงอาหารที่อยู่ห่างไกลมีความยุ่งยากในการขนส่ง (ถูกกองโจรของกองทัพยะไข่ซุ่มโจมตี) จึงเกิดการขาดแคลนเสบียงอาหาร หลังจากที่ล้อมเมืองอยู่นาน ๒ เดือนเศษ ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงตัดสินพระทัยยกกองทัพกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่กองทัพสยามทำการเข้าตีถึงกรุงหงสาวดีซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรพม่าในยุคที่สอง และสองอาณาจักรไม่มีสงครามเกิดขึ้นนานถึง ๒๖๑ ปี (อาณาจักรพม่าอ่อนกำลังลงและไม่มีเมืองใดที่เข้มแข็งที่จะสามารถรวมอาณาจักรพม่าให้เป็นหนึ่งเดียวจนถึงพม่าในยุคที่สาม ในราชวงศ์อลองพญาที่รู้จักในชื่อศึกอลองพญาในปี พ.ศ.๒๓๐๓)

เมื่อกองทัพสยามได้ถอนกำลังกลับไปแล้วพระเจ้าตองอูก็ยังคงจับตัวพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเป็นตัวประกันต่อไปเพื่อหวังว่าจะได้เป็นรัชทายาทของกรุงหงสาวดี เป็นผลให้เมืองต่าง ๆ รอบเมืองตองอูไม่พอใจซึ่งมีความมุ่งหวังที่จะเป็นใหญ่เช่นกัน โดยส่วนใหญ่เจ้าเมืองก็มีเชื้อสายของพระเจ้าบุเรงนอง (ทั้งสายตรงและสายอ้อม) ต่างก็จะมาแย่งชิงพระเจ้านันทบุเรงจึงนำความวุ่นวายมาสู่เมืองตองอูตลอดเวลา เป็นผลให้เจ้าชายนัดจินหน่องหรือเจ้าชายสังขทัตที่ดำรงตำแหล่งรัชทายาทของพระเจ้าตองอู ทรงเห็นว่าความวุ่นวายเกิดจากพระเจ้านันทบุเรงทรงประทับอยู่ที่เมืองตองอูเพื่อจะแก้ไขปัญหาที่นำเมืองตองอูมาสู่ความวุ่นวายที่เจ้าเมืองต่าง ๆ ยกกองทัพเข้าประชิดเมืองตองอู จึงตกลงใจที่จะลอบวางยาพิษเพื่อจะปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงแห่งราชวงศ์ตองอู เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๑๔๒ พระเจ้านันทบุเรงสิ้นพระชนม์ในวัย๖๔ พรรษา ทรงครองราชสมบัตินาน ๑๘ ปี

๓. บทสรุป

พ.ศ.๒๑๓๕ หลังสงครามยุทธหัตถีอาณาจักรหงสาวดีแห่งราชวงศ์ตองอูเริ่มอ่อนแอเนื่องจากต้องสูญเสียกำลังทหารและอาวุธเป็นจำนวนมาก ศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรหงสาวดีจากราชวงศ์ตองอูเริ่มที่จะอ่อนกำลังเมืองต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในการปกครองของหงสาวดีเริ่มที่จะแยกตัวเป็นอิสระอาณาจักรกรุงหงสาวดีแห่งราชวงศ์ตองอูยังไม่สามารถที่จะปราบปรามอยุธยาให้อยู่ภายใต้อำนาจได้ เริ่มที่จะต้องทำสงครามใหญ่กับเมืองต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจของกรุงหงสาวดีของพระเจ้าบุเรงนองในอดีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนกับอาณาจักรพุกามในยุคที่หนึ่งก็ล่มสลายลงตามกาลเวลา