วันที่ในประวัติศาสตร์ที่ได้จารึกว่าเป็นวันสำคัญของชาติ เพื่อเป็นการถวายราชสักการะแด่พระคุณอันประเสริฐและพระมหากรุณาธิคุณของอดีตบูรพมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้น ส่วนมากทางราชการจะกำหนดในวันที่เสด็จสวรรคตให้เป็นวันที่จะเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมรำลึกและร่วมถวายความจงรักภักดีซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมสากลที่ทั่วโลกที่ต่างกำหนดให้เป็นรัฐพิธี จึงทำให้ประชาชนในรุ่นปัจจุบันและอนุชนรุ่นต่อๆ ไปต่างรำลึกในวันสวรรคตของอดีตบูรพมหากษัตริย์ว่า เป็นวันสำคัญของชาติ
อย่างไรก็ตาม วันสำคัญของอดีตบูรพมหากษัตริย์ที่ประชาชนชาวไทยควรรับทราบอีกวาระหนึ่ง เนื่องเพราะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพหรือวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของอดีตบูรพมหากษัตริย์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้มีการกำหนดแนวทางในการกำหนดวันสำคัญของอดีตบูรพมหากษัตริย์ไว้ว่า เมื่อทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ให้กำหนดวันคล้ายวันพระราชสมภพหรือวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นวันสำคัญของชาติ และเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วให้กำหนดวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตเป็นวันสำคัญ ทั้งนี้ หากประชาชนชาวไทยจะรำลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพหรือวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา ก็สามารถกระทำได้ด้วยจิตใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากรุณาธิคุณของอดีตบูรพมหากษัตริย์
ผู้เขียนจึงใคร่ขอเรียนเชิญทุกท่าน ร่วมรำลึกถึงวันสำคัญอีกวันหนึ่งในปีปฏิทินสากล คือ วันที่ ๒๐ กันยายน เพราะเป็นวันแห่งปรากฏการณ์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของอดีตพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๒ พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งผู้เขียน
ขออัญเชิญพระราชประวัติขององค์ทวิราชหรืออดีตพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ ประองค์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้กรุณารับทราบถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญ กล่าวคือ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๓๙๖ (วันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู) เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑ และทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อวางรากฐานปรับปรุงประเทศไทยให้พัฒนาและเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยในยุคดังกล่าวนั้น ประเทศต่างๆ รอบประเทศไทยล้วนแล้วแต่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจคือ อังกฤษและฝรั่งเศสด้วยกันทั้งสิ้น พระองค์จึงทรงริเริ่มการพัฒนาประเทศด้วยพระปรีชาสามารถและด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล จึงทำให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างเป็นมาตรฐานสากล จนประเทศมหาอำนาจดังกล่าวไม่สามารถอ้างเหตุผลเข้ายึดครองประเทศไทยได้ ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจอันสำคัญที่ขออัญเชิญมาประดิษฐานในบทความนี้ ประกอบด้วย
๑. พระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยในวันศุกร์ที่ ๘ เมษายน ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการ ชื่อว่า ประกาศจัดการทหารด้วยการตั้งกรมยุทธนาธิการ ที่รวมกรมทหารบกและกรมทหารเรือไว้ด้วยกัน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกระดับกรมยุทธนาธิการขึ้นเป็นกระทรวงยุทธนาธิการและได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายเรือ เพื่อผลิตบุคลากรทางการทหาร ควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถทางการรบให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
๒. พระราชกรณียกิจด้านการปฏิรูประบบราชการ โดยในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการชื่อว่า ประกาศจัดตั้งเสนาบดี จึงทำให้เกิดกระทรวงจำนวน ๑๒ กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงนครบาล กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงธรรมการ กระทรวงเกษตรพานิชการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมรุธาธร กระทรวงยุทธนาธิการ กระทรวงพระคลังสมบัติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัง จึงนับเป็นการปฏิรูประบบราชการไทยครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
๓. พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนหลวงแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม เพื่อให้บุตรหลานของประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้กันอย่างเป็นระบบ พร้อมกับพัฒนาระบบการสอบไล่สามัญศึกษาขึ้น เพื่อเป็นการทดสอบความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนหลวงขึ้นอีกหลายแห่ง กระจัดกระจายไปตามวัดต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ต่อมาเมื่อการศึกษาขยายตัวเจริญขึ้นด้วยความสนใจของประชาชนที่ต้องการ
มีความรู้มากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ยังมีการพิมพ์ตำราพระราชทานเพื่อเป็นตำราในการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานด้วย
๔. พระราชกรณียกิจด้านสาธารณูปโภค ประกอบด้วย
๔.๑ กิจการไปรษณีย์โทรเลข ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและจำเป็นอย่างมากในอนาคต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมกลาโหม ดำเนินการก่อสร้างวางสายโทรเลขสายแรกของประเทศ ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๔๑๘ เส้นทางกรุงเทพฯ – ปากน้ำ (สมุทรปราการ) ระยะทาง ๔๕ กิโลเมตร และได้วางสายใต้น้ำต่อยาวออกไปจนถึงประภาคารที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับการบอกข่าวเรือเข้า – ออก ต่อมาได้วางสายโทรเลขขึ้นอีกสายหนึ่งจากกรุงเทพฯ – บางปะอิน และขยายไปทั่วถึงในเวลาต่อมา พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งเป็นกรมโทรเลข ในปี พ.ศ.๒๔๒๙ สำหรับ กิจการไปรษณีย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกิจการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๒๔ มีที่ทำการเรียกว่าไปรษณียาคาร (ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด) และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๒๖ หลังจากนั้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโทรเลขรวมเข้ากับกรมไปรษณีย์ชื่อว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข ในปี พ.ศ.๒๔๔๑
๔.๒ กิจการไฟฟ้า ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อมีโอกาสประพาสต่างประเทศ ได้ทอดพระเนตรกิจการไฟฟ้า และทรงเห็นถึงประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดจากการมีไฟฟ้า พระองค์จึงทรงมอบหมายให้ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ดำเนินการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นอย่างเป็นระบบ
ในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบหรือ วัดราชบูรณะ และพัฒนากิจการจนเป็นมาตรฐานใช้สืบต่อมาจนปัจจุบัน
๔.๓ กิจการประปา เมื่อทรงเสด็จประพาสยุโรป ได้ทอดพระเนตรเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวตะวันตก ที่มีน้ำที่สะอาดไว้ในการอุปโภคและบริโภคจากระบบการผลิตและจ่ายน้ำ ชื่อ “WATER WORKS”
จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการก่อสร้างกิจการประปาขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๕๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการสร้างการประปา โดยให้กรมสุขาภิบาลเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ จัดการที่จะนำน้ำสะอาดมาใช้ในพระนครและพัฒนากิจการจนเป็นมาตรฐานใช้สืบต่อมา
จนปัจจุบัน
๔.๔ กิจการโทรศัพท์ ทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงวิทยาการในการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมกลาโหม วางสายโทรศัพท์และนำโทรศัพท์เข้ามาทดลองใช้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ จากกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ เพื่อแจ้งข่าวเรือเข้า – ออกที่ปากน้ำ และพัฒนากิจการจนเป็นมาตรฐานใช้สืบต่อมาจนปัจจุบัน
๕. พระราชกรณียกิจด้านการพยาบาลและสาธารณสุข ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลเพื่อรักษาประชาชนด้วยวิธีการแพทย์แผนใหม่ที่เป็นมาตรฐานสากลทดแทนการรักษาแบบเดิมนั้นล้าสมัย ที่ไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นบริเวณริมคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) โดยได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวน ๑๖,๐๐๐ บาท เป็นทุนเริ่มแรกในการสร้างโรงพยาบาล ให้ใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลวังหลัง เปิดทำการรักษาแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๓๑ ต่อมา ได้พระราชทานนามโรงพยาบาลใหม่ว่า โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชธิดาที่ประสูติในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ที่สิ้นพระชนมายุเพียง ๑ ปี ๗ เดือน พร้อมกับเครื่องใช้และทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จำนวน ๕๖,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นทุนในการใช้จ่าย
๖. พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะเสนาบดีและกรมโยธาธิการสำรวจเส้นทาง เพื่อวางรากฐานการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ มีการวางแผนให้ทางรถไฟสายนี้ตัดเข้าเมืองใหญ่ๆ ในบริเวณภาคกลางของประเทศแล้วแยกเป็นชุมสายตัดเข้าสู่จังหวัดใหญ่ทางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งการสำรวจเส้นทางในการวางเส้นทางรถไฟนี้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๓๔ เสด็จพระราชดำเนินขุดดินก่อพระฤกษ์เพื่อสร้างทางรถไฟครั้งแรกในประเทศไทย
๗. พระราชกรณียกิจด้านการกฎหมาย ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่ากฎหมายในเวลานั้นล้าสมัย ทำให้ชาวต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการเอาเปรียบไทยเรื่องการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับการขึ้นศาลตัดสินคดีที่ไม่ให้ชาวต่างชาติขึ้นศาลไทย โดยตั้ศาลกงสุลพิจารณาคดีคนในบังคับต่างชาติเอง แม้ว่าจะมีคดีความกับชาวไทยก็ตาม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศ ในปี
พ.ศ.๒๔๔๐ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นสถานที่สำคัญที่ผลิตนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศและพัฒนามาจวบจนปัจจุบัน
๘. พระราชกรณียกิจด้านระบบเงินตรา ทรงมีพระราชดำริปรับปรุงระบบเงินตราของไทย โดยครั้งแรก
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำธนบัตรขึ้นเรียกว่า อัฐ เป็นกระดาษมีมูลค่าเท่ากับเหรียญทองแดง ๑ อัฐ และได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ.๒๔๕๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ออกประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกการใช้เงินพดด้วงและตราพระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ.๑๒๗ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ว่าด้วยเรื่องให้ใช้แร่ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนแร่เงิน เพื่อให้เสถียรภาพเงินตราของไทยสอดคล้องกับหลักสากล และพัฒนามาจวบจนปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๘ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ และทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจอันสำคัญที่ขออัญเชิญมาประดิษฐานในบทความนี้ ประกอบด้วย
๑. พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ และเสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่
๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ ซึ่งพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีน
ณ พื้นที่สำเพ็ง จังหวัดพระนคร พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยศในขณะนั้น)เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ เพื่อลดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนี้เป็นการประสาน
รอยร้าวที่เกิดขึ้นของพสกนิกรภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร
๒. พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา เสด็จพระราชดำเนินไปในการประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๑นอกจากนี้
ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ อาทิ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร นอกจากนี้ ยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร
๓. พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติและทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเทพศิรินทร์ นอกจากนี้ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรก ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๘๙ และหอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๘๙
๔. พระราชกรณียกิจด้านการเกษตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เพื่อทรงเป็นมิ่งขวัญให้แก่เกษตรกรชาวไทยที่เป็นพสกนิกรของพระองค์
ในโอกาสอันสำคัญคือ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนม์ ขององค์ทวิราชา คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร
มหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร นี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอเรียนเชิญทุกท่านได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระราชวงศ์จักรี พระผู้ทรงมีคุณูปการแก่ประเทศไทยด้วยกัน
ทุกท่าน ทั้งยัง จะได้ร่วมกันเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชาวไทยตลอดนิรันดร์กาลด้วยเทอญ