11

๑. ฮะเบสสมอ

เมื่อกล่าวถึง “เสด็จเตี่ย” ท่านผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า หมายถึง “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” องค์บิดาของทหารเรือไทย ส่วนที่ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า “เสด็จเตี่ยออกศึก” นั้น ขอเรียนให้ทราบว่า ผมตั้งชื่อเอาไว้ให้ “ตื่นเต้น” เล่น ๆ เท่านั้นเอง ซึ่งความจริงแล้ว เนื้อเรื่องในบทความเรื่องนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนที่พระองค์ท่านทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์” และก็มิได้ไป “ทำศึกสงคราม” หรือไป “รบทัพจับศึก” แต่อย่างใด เพียงแต่ทำการ “ปราบจลาจล” เท่านั้น

๒. การศึกษาวิชาขั้นต้นที่ประเทศอังกฤษของพระองค์เจ้าอาภากรฯ

พระองค์เจ้าอาภากรฯได้เข้าศึกษาในโรงเรียนกินนอนส่วนบุคคล(โรงเรียนราษฎร์) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม
พ.ศ.๒๔๓๘ เป็นโรงเรียนที่สอนวิชาขั้นต้นสำหรับเตรียมเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ มีชื่อว่า “The Limes” ตั้งอยู่ที่เมืองกรีนิช (Greenwich) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน โรงเรียนนี้มีสภาพเป็น “โรงเรียนเตรียมการ” (Preparatory School) หรือ “โรงเรียนกวดวิชา” สำหรับเด็กที่จะสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายเรือโดยตรง

ผู้ปกครองและครูใหญ่ของโรงเรียนนี้คือ มิสเตอร์ลิตเติลจอห์น (W.T. Littlejohn) ซึ่งเคยเป็นครูในกองทัพเรืออังกฤษมาก่อน (Naval Instructor) มิสเตอร์ลิตเติลจอห์นเป็นบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ สามารถ
“ยัดเยียด” ความรู้ให้แก่เด็กที่สมองค่อนข้างทึบจนสามารถสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายเรือได้ มิสเตอร์ลิตเติลจอห์น มีรูปร่างเตี้ย ล่ำ และโมโหร้าย ชอบสวมเสื้อยาว (frock coat) เสมอ เครื่องช่วยการสอนสำคัญของมิสเตอร์
ลิตเติลจอห์น คือ “หวายถืออันเล็ก” (little cane) ซึ่งถือติดตัวอยู่เสมอ เวลาสอนจะเดินตรวจและ “ไล่ลูกไล่”
ลูกศิษย์เป็นรายคน ใครไม่สนใจเรียนจะถูกหวดด้วยหวายถืออย่างไม่ไว้หน้า บรรดาลูกศิษย์เรียกมิสเตอร์ลิตเติลจอห์นว่า “เฒ่าจอห์น” (Old Johns)

ถึงแม้ว่าเฒ่าจอห์นจะเข้มงวด กวดขัน และโมโหร้าย แต่ลูกศิษย์ก็ไม่ถือโกรธ เพราะเฒ่าจอห์นมีบุคลิกอย่างอื่นที่ทำให้เด็กรักและเคารพ พระองค์เจ้าอาภากรฯ ก็รักและนับถือ “เฒ่าจอห์น” เช่นเดียวกัน ตลอดเวลาที่
พระองค์เจ้าอาภากรฯ ศึกษาอยู่โรงเรียน “The Limes” แห่งนี้ พระองค์ผ่าน “การไล่ลูกไล่” อย่างเข้มงวดกวดขันมาได้ แต่พระองค์คงจะไม่ทรงถูก “เฒ่าจอห์น” กวดวิชาด้วย “หวายถือ” อย่างแน่นอน เพราะพระองค์เป็น
“ศิษย์คนโปรด” ของเฒ่าจอห์น

๓. การศึกษาวิชาการทหารเรือของพระองค์เจ้าอาภากรฯ

พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงสอบความรู้ขั้นสุดท้ายตามหลักสูตรของนักเรียนนายเรืออังกฤษ (ไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ) ได้ในเกณฑ์ดี เมื่อสอบความรู้แล้วจะต้องลงประจำเรือรบในฐานะ “นักเรียนทำการนายเรือ” (Midshipman) เพื่อฝึกหัดทางใช้การต่อไป

๔. นักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman)

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจว่า “นักเรียนทำการนายเรือ” (Midshipman) คืออะไร จึงขอเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของคำว่า “Midshipman” ของราชนาวีอังกฤษเสียก่อน เนื่องด้วยพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็น Midshipman ในราชนาวีอังกฤษ และตามด้วยเรื่องของ “นักเรียนทำการนายเรือ” (Midshipman) ของไทย เพราะกองทัพเรือไทยในสมัยก่อนก็เคยมี “นักเรียนทำการนายเรือ” มาแล้วเหมือนกัน

“บ.บุรินท์” (คุณครูพลเรือตรี บุรินท์ พงษ์สุพัฒน์) ได้เขียนบทความเรื่อง “Midshipman” ไว้ในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔ มีใจความว่า

นักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman) ในราชนาวีอังกฤษมีประวัติความเป็นมาว่า เป็นคำสำหรับใช้เรียกเด็กรับใช้ในเรือสมัยโบราณ งานในขั้นแรกสำหรับเด็กพวกนี้ก็คือ ถือคำสั่งจากนายทหารไปส่งให้แก่พวกกะลาสี ซึ่ง
ในสมัยก่อนนั้น ที่อยู่ของพวกกะลาสีอยู่ทางเก๋งตอนหัวเรือ ส่วนพวกนายทหารมีที่อยู่ทางเก๋งตอนท้ายเรือ เด็กพวกนี้จำเป็นต้องเดินติดต่อไปมาผ่านตอนกลางลำเรือ (Midship) วันละหลาย ๆ เที่ยว ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า“Midshipman”และมีฉายาว่า “Middie

ส่วนคุณครูพลเรือเอกประพัฒน์ จันทวิรัช ได้เขียนเกี่ยวกับ “นักเรียนทำการนายเรือ” ไว้ในหนังสือ
“พระราชประวัติและพระกรณียกิจ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร
เขตอุดมศักดิ์ รวบรวมจากเอกสารราชการ” มีใจความว่า

เมื่อนักเรียนทำการนายเรือได้ลงฝึกงานในเรือรบ นอกจากจะทำการฝึกเกี่ยวกับ การเรือ การเดินเรือ
การอาวุธ เครื่องจักร ตอลดจนการเรือเล็กแล้ว ยังทำหน้าที่ติดตามผู้บังคับการเรือและต้นเรือ เพื่อรับใช้ในการติดต่อคำสั่งและงานอื่น ๆ ซึ่งทำให้นักเรียนทำการนายเรือมีฉายาว่า “Doggie” เมื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของต้นหน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการจ่ายเหล้ารัมให้ทหาร ก็ได้รับฉายาว่า “Tanky” สำหรับฉายาทั่วไปของนักเรียนทำการนายเรือคือ “Snottie” เพราะที่ข้อมือเสื้อของนักเรียนทำการนายเรือมีดุม ๓ ดุม ในแนวนอน เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ข้อมือเสื้อเป็นผ้าเช็ดปาก หรือเช็ดน้ำมูก

สำหรับในราชนาวีไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้มียศ “นักเรียนทำการนายเรือ” (Midshipman) ขึ้น แต่เดิมนั้นผู้ที่สอบไล่ได้สำเร็จจากโรงเรียนนายเรือจะได้เป็น “ว่าที่นายเรือตรี” หรือ “ว่าที่นายเรือโท” (ถ้าสอบได้ชั้นโท)

ยศ “นักเรียนทำการนายเรือ” เป็นนายทหารเรืออาวุโสน้อยที่สุด ครองยศสูงกว่า “นักเรียนนายเรือ”
แต่ต่ำกว่า “นายเรือตรี”

.ศ.๒๔๕๔

นาวาเอกหลวงสำรวจวิถีสมุทร์ (ฟุ้ง  พร้อมสัมพันธ์) [1]นักเรียนนายเรือรุ่นเดียวกับ นาวาเอก พระประพิณพนยุทธ์ (พิณ พลชาติ) ได้เล่าไว้ว่า

นักเรียนนายเรือ ฟุ้ง  พร้อมสัมพันธ์ สอบไล่ออกเป็นนักเรียนทำการนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นนักเรียนทำการนายเรือชุดแรก  เดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๕๔ เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง และเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ ได้นำนักเรียนนายเรือไปฝึกภาคทะเล นักเรียนทำการนายเรือฟุ้ง  พร้อมสัมพันธ์ ประจำอยู่ใน
เรือพาลีรั้งทวีป

นายเรือเอก บุญมี  พันธุมนาวิน (พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร) เป็นผู้ควบคุมนักเรียนนายเรือ

เรือพาลีรั้งทวีป มีนาวาเอก E. Dery เป็นผู้บังคับการเรือ เรือตรี  แสง เป็นต้นเรือ

เรือสุครีพครองเมือง มีนาวาโท F. Harowitz เป็นผู้บังคับการเรือ

เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ มีเรือโท ถนอม (หลวงชัยนาวา) เป็นผู้บังคับการเรือ เรือตรี แม้น  ปรีดิขนิษฐ์ (นาวาโท พระแม่นศรจักร) เป็นต้นเรือ

การฝึกภาคทะเลครั้งนี้ นับว่าเป็นการฝึกภาคทะเลต่างประเทศ หรือ “อวดธง” เป็นครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๔ ถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๔ เส้นทางการเดินเรือในการฝึกภาคทะเลครั้งนี้ คือ สิงคโปร์ ปีนัง ภูเก็ต ตั้งใจจะไปให้ถึงย่างกุ้ง แต่สภาพอากาศไม่อำนวยจึงงดไป

.ศ.๒๔๖๐

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ สยามประกาศสงครามต่อเยอรมนี เเละออสเตรีย-ฮังการี ในคราวสงครามโลก ครั้งที่ ๑ นักเรียนทำการนายเรือ ๓ นาย ได้เเก่

๑. นักเรียนทำการนายเรือ ม.ร.ว.พงษ์  นวรัตน์

๒. นักเรียนทำการนายเรือ ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น  วิมุกตะกุล)

๓. นักเรียนทำการนายเรือ มี

ได้มีบทบาทในการเข้าสงครามครั้งนี้ร่วมกับกองจับเรือเชลย ซึ่งมีนายนาวาตรี หลวงหาญสมุท
(บุญมี พันธุมนาวิน) เป็นผู้บังคับกองจับเรือเชลย โดยยึดเรือเชลยของเยอรมนีได้ทั้งสิ้น ๒๕ ลำ

“ครั้นเมื่อได้ประกาศสงครามต่อเยอรมนี เเละออสเตรีย-ฮังการีเเล้ว ราชนาวีเป็นเหล่าเเรกที่ได้กระทำหน้าที่สงคราม คือจับคร่าห์เรือศัตรู ตามที่ได้ปรากฏมาเเล้ว”

๑ นาวาเอกหลวงสำรวจวิถีสมุทร์ (ฟุ้ง  พร้อมสัมพันธ์)

พ.ศ.๒๔๖๗

คุณครูพลเรือตรี เเชน  ปัจจุสานนท์ เเละคุณครูนาวาเอก สวัสดิ์  จันทนี ท่านก็เคยเป็นนักเรียนทำการนายเรือ คุณครูพลเรือตรี เเชนฯ ท่านเล่าไว้ว่า ท่านได้รับยศเป็นนักเรียนทำการนายเรือ ในต้นปี พ.ศ.๒๔๖๗ ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Midshipman แต่ว่า Midshipman ของราชนาวีอังกฤษนั้นยังไม่ถือว่าเป็นนายทหาร คงเป็นนักเรียนนายเรือชั้นสูง ซึ่งยังคงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายเรือ หรือประจำอยู่ในเรือฝึกนักเรียน ส่วนนักเรียนนายเรือชั้นต่ำเรียกว่า  “Cadet” (ภาษาโบราณเขียนว่า “คเดต” “ขะเด็ท”เเละ “เขด็จ”-กรีฑา) สำหรับ Midshipman ของราชนาวีไทยเป็นผู้ที่เรียนจบตามหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนนายเรือเเล้ว จึงให้กลับไปอยู่ที่บ้านของตนได้ เเละได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๖๐ บาท ฐานะของนักเรียนทำการนายเรือ จึงถือเป็นเพียงนายทหารฝึกราชการ ยังไม่ให้มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างนายทหารสัญญาบัตร เพราะจะต้องฝึกราชการในทางปฏิบัติโดยทั่ว ๆ ไปให้ครบ ๑ ปี เสียก่อน

ส่วน “ครูหวัด” (นาวาเอก สวัสดิ์  จันทนี) ท่านได้เล่าไว้ในหนังสือ “นิทานชาวไร่” เล่ม ๑ (ของสำนักพิมพ์ “ศยาม”) ว่า

ต้นปี พ.ศ.๒๔๖๗ ร.ล.เจ้าพระยา (ลำที่๑) นำนักเรียนนายเรือไปฝึกภาคต่างประเทศ “ครูหวัด” เป็นนักเรียนทำการนายเรือ เเละเพิ่งเคยไปต่างประเทศเป็นครั้งเเรก ถ้ามีเรือหลวงออกทะเลจะเป็นเรือรบ เรือช่วยรบ หรือ
เรือพระที่นั่งออกทะเล กระทรวงทหารเรือ จะต้องลงคำสั่งให้ “นักเรียนทำการนายเรือ” (น.ท.ร.) เเละ “นักเรียน
ทำการนายช่างกล” (น.ท.ช.) ไปทะเลด้วยทุกครั้ง ในปีนี้ “ครูหวัด” ท่านออกทะเล ๗ เที่ยว รวมเวลา ๕ เดือน ๒๐ วัน ขณะที่ท่านเป็นนักเรียนทำการนายเรือนั้นท่านเล่าว่า

“จะเรียกเราเป็นนายทหารยังไม่ได้”เพราะเพิ่ง “สึก” มาจากนักเรียนนายเรือ เเละก็ไปทะเลกับพวกเพื่อน ๆ จะเรียกว่า “นักเรียนโค่ง”ดูเหมือนจะเหมาะกว่า เพราะมีดุมหมายชั้นเป็นดุมสมออย่างที่กระบังหมวกนั่นเเหละ
(ดุมสมอ-มงกุฎ ที่อยู่สองข้างสายรัดคางติดกับกระบังหมวก-กรีฑา) ดุมนี้ช่างเหมือนกับดุมหมายชั้น ๑ เสียจริง ๆ ถ้ามองไม่พินิจ (ดุมหมายชั้น ๑ ของนักเรียนนายเรือ มีขนาดใกล้เคียงกับดุมสมอ-มงกุฎ ที่กระบังหมวก เเต่เป็น
ดุมทองเหลืองเกลี้ยง-กรีฑา) เล่นเอาพันจ่าบางคนคำนับนักเรียนชั้น ๑ บ่อย ๆ เหมือนกัน”

๕. นักเรียนทำการนายเรืออาภากร

ขณะที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ กำลังทรงศึกษาวิชาการทหารเรืออยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น พระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งเเรกโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๔๔๐ ระหว่างทาง พระองค์เจ้าอาภากรฯขอลามารับเสด็จพระบรมชนกนาถโดยเสด็จจากเมืองกรีนิช (Greenwich)
ประเทศอังกฤษ อันเป็นที่ตั้งโรงเรียนของมิสเตอร์ลิตเติลจอห์น เพื่อเข้ากระบวนเสด็จที่เมืองกอล(Galle) ในเกาะลังกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระองค์เจ้าอาภากรฯ รับราชการตำเเหน่งออฟฟิเซอร์ในเรือ อยู่ในบังคับกัปตันคัมมิง (Capt.R.S.D.Cumming R.N.) เพื่อได้เป็นการฝึกหัดเดินเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมี
พระราชหัตถเลขาพระราชทานเเด่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ[1](ขณะที่ทรงดำรงตำเเหน่ง
“ผู้สำเร็จราชการเเผ่นดินต่างพระองค์”) ในตอนท้ายของ ฉบับวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๐ กล่าวถึงพระองค์เจ้าอาภากรฯ ว่า

“ในเวลาเขียนหนังสืออยู่นี้ อาภากรม, หลวงสุนทร,[2]มาถึง อาภากรโตขึ้นมากเเลขาวขึ้น เขามีเครื่องเเต่งตัวเป็นมิดชิบเเมน[3]มาพร้อมเเล้ว ฉันได้มอบให้อยู่ในใต้บังคับกัปตัน[4]เป็นสิทธิขาด เว้นเเต่วันนี้เขาอนุญาต
ให้มากินเข้า[5] กับฉันวันหนึ่ง”

พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็นนักเรียนทำการนายเรืออังกฤษ ขณะที่มีพระชันษาเพียง ๑๘ ปีเท่านั้น
คือในราวปี พ.ศ.๒๔๔๐ เเละเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงฝึกงานอยู่ในเรือ Revenge ของราชนาวีอังกฤษ โดยลงประจำเรือ Revenge ในวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๐

๒ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

๓ หลวงสุนทร

๔ มิดชิบเเมน

๕ กัปตัน

๖ กินเข้า

๖. เรือ Revenge

เรือ Revenge ที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงรับการฝึก เป็นเรือประจัญบานชั้นที่ ๑ ของราชนาวีอังกฤษ
ในสมัยนั้น ปล่อยเรือลงน้ำใน ค.ศ.๑๘๙๒ (พ.ศ.๒๔๓๕) สร้างเสร็จใน ค.ศ.๑๘๙๔ (พ.ศ.๒๔๓๗) ระวางขับน้ำ ๑๔,๑๕๐ ตัน ยาว ๓๘๐ ฟุต กว้าง ๗๕ ฟุต กินน้ำลึก ๒๗ ฟุตครึ่ง เครื่องจักร ๑๓,๐๐๐  แรงม้า ความเร็วสูงสุด ๑๗.๕ นอต ระยะปฏิบัติการเมื่อใช้ความเร็ว ๑๐ นอต ๕,๐๐๐ ไมล์ มีเกราะเหล็กกล้านิคเกิลหนา ๑๘ นิ้ว ติดปืนใหญ่ขนาด ๑๓.๕ นิ้ว ป้อมคู่ ๒ ป้อม ปืนยิงเร็วขนาด ๖ นิ้ว ๑๐ กระบอก ปืนยิงเร็วขนาด ๖ ปอนด์ (๕๗ มม.) ๑๖ กระบอก ปืนยิงเร็วขนาด ๓ ปอนด์ (๔๗ มม.) ๑๒ กระบอก

ในระหว่างที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงฝึกงานอยู่ในเรือ Revenge ในฐานะนักเรียนทำการนายเรือ
มีพลเรือตรี โนเเอล (Gerard Henry U. Noel) เป็นผู้บังคับการกองเรือ ซึ่งมาเเทนพลเรือตรี แฮร์ริส (R.B. Harris) เเละมีนาวาเอก เรจินัลด์ โปรเธโร (Reginald Charles Prothero) เป็นผู้บังคับการเรือ Revenge ทั้งพลเรือตรี
โนเเอลเเละนาวาเอก โปรเธโร ทั้งคู่นี้นับว่าเป็น “นักไล่ลูกไล่” ชั้นเยี่ยมของราชนาวีอังกฤษ

นาวาเอก เรจินัลด์ โปรเธโร ผู้บังคับการเรือ Revenge มีฉายาว่า “Prothero the Bad” คู่กับนายทหารเรือ “Prothero” อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีฉายาว่า “Prothero the Good” นาวาเอก เรจินัลด์ โปรเธโร (the Bad) มีรูปร่าง
สูงใหญ่ ตาคล้ายเหยี่ยว จมูกงุ้ม ไว้เคราดำ ยาวลงมาถึงเอว ลูกน้องของท่านให้ฉายาว่า “Shylock” (ไชล็อก) มีชื่อเสียงในทาง “ไล่ลูกไล่” ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้ที่รู้จักกันดีในราชนาวีอังกฤษ เรือของท่านจะต้องเป็น
“เรือชั้นเยี่ยม” (Crack Ship) เสมอ

นาวาเอก โปรเธโร ท่านชอบกวดขัน หรือไล่ลูกไล่อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะนักเรียนทำการนายเรือ ทั้งในด้านการงาน ระเบียบวินัย เเละความสะอาดเรียบร้อยของเรือ เป็นคนชนิด “ปากว่ามือถึง” ในชั้นเเรกผู้ใต้บังคับบัญชาจะเกลียดท่านทุกคน เเต่เมื่ออยู่ด้วยกันไปนานๆ ก็จะชอบเเละเคารพท่านมาก เพราะเห็นว่าท่านเป็นคนที่มีทั้งมนุษยธรรมเเละความยุติธรรม สำหรับพระองค์เจ้าอาภากรฯ เชื่อกันว่าพระองค์จะต้องได้รับความประทับใจ เเละสำนึกในหน้าที่ ตลอดจนการปฏิบัติตามประเพณี นิติธรรมของทหารเรือ เเละทรงสามารถ “ผ่าน” การไล่ลูกไล่ของนาวาเอกโปรเธโรได้เรียบร้อย ดังจะเห็นได้จากการที่นาวาเอกโปรเธโรได้รับรองว่า การงานของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ อยู่ในระดับ “ดีมาก” (Very Good)

การที่มีชื่อเสียงในการ “ไล่ลูกไล่” เเละจากการที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ตาคล้ายเหยี่ยว จมูกงุ้ม ไว้เคราดำยาว ของนาวาเอกเรจินัลด์ โปรเธโร เช่นนี้ จึงทำให้มีผู้เขียนภาพล้อของนาวาเอกเรจินัลด์ โปรเธโร (the Bad) ขึ้น เป็นภาพที่เเสดงถึงความน่าเกรงขาม จนนกนางนวลยังต้องบินหนี เเละกะลาสีต้องวิ่งหนี ดังแสดงในภาพ

Shylock” (ไชล็อก) คืออะไร

ไชล็อก” คือตัวละครในบทละครเรื่อง “The Merchant of Venice” ของ William Shakespere
(วิลเลียม เชกสเปียร์) ระหว่างปี ค.ศ.๑๕๙๕ – ๑๕๙๗ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่เมือง Venice ประเทศอิตาลี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย
ชื่อ “เวนิสวานิช” ไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ เพื่อพระราชทานสำหรับใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนกลางและตอนปลาย หลังจากนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ต่อมา
อีกหลายสิบครั้ง สำหรับใช้เป็นแบบเรียน และหนังสืออ่านกวีนิพนธ์นอกเวลา

ไชล็อก” คือ “ยิวผู้มีทรัพย์” เป็น “ตัวเอก” แต่ไม่ใช่ “พระเอก” “อันโตนิโย” (Antonio) พ่อค้าหนุ่มแห่งเมืองเวนิสเป็น “ตัวเอก”`อีกคนหนึ่ง “นางเอก” คือ “นางปอร์เชีย” (Portia) `หญิงสาวผู้มั่งมี “พระเอก” คือ
บัสสานิโย” (Bassanio) หนุ่มเจ้าสำราญเป็นเพื่อนรักของอันโตนิโย

“ไชล็อก” เป็นชนชาติยิว (Jew) มีอาชีพในทางให้กู้เงิน โดยคิดดอกเบี้ยแพงมาก หน้าเลือด มีนิสัย รักเงิน พยาบาท เคียดแค้น อาฆาตมาดร้าย โหดเหี้ยม โลภ ตลบตะแลง ตระหนี่

ในสมัยนั้นชนชาติยิวเป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามเป็นที่น่ารังเกียจ ดังที่ “สะละรีโน” สหายคนหนึ่งของ
“อันโตนิโย” ได้กล่าวถึง “ไชล็อก” ว่า

“อ้ายนี่เป็นสัตว์ป่าทารุณสุด

มาเที่ยวปนฝูงมนุษย์อยู่นี่ได้!”

แต่นาวาเอก เรจินัลด์ โปรเธโร (Prothero the Bad) ท่านไม่ได้มีนิสัยเช่น Shylock แต่อย่างใดเลยท่านได้ฉายาว่า “Shylock” ก็ตรงที่ท่านมี “รูปร่างสูงใหญ่ ตาคล้ายเหยี่ยว จมูกงุ้ม ไว้เคราดำยาว” เหมือน Shylock เท่านั้นเอง ดังที่ได้แสดงรูปเปรียบเทียบระหว่างภาพล้อของนาวาเอกเรจินัลด์ โปรเธโร กับภาพของไชล็อกจากหนังสือ
“เวนิสวานิช”

จากที่ได้เล่ามาตั้งแต่ต้น ก็เพื่อจะได้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงมี ครู ผู้ปกครอง และผู้บังคับบัญชาที่เป็นนักกวดขันการงาน เป็นนักไล่ลูกไล่ ชั้นยอด นับตั้งแต่ มิสเตอร์ลิตเติลจอห์น พลเรือตรี โนแอล
จนถึงนาวาเอก โปรเธโร พระองค์ต้องทรงฝ่าฟัน ผ่านอุปสรรคอย่างหนักมาโดยตลอด จึงทำให้พระองค์ทรงเข้มแข็ง ทรหดอดทน แกร่งทั้งพระวรกายและพระหฤทัย มีลักษณะของผู้นำ พร้อมที่จะเป็นนายทหารเรือที่ดี

๗. การจลาจลบนเกาะครีต (Crete)

ในช่วงเวลาที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงฝึกงานอยู่ในเรือ Revenge ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediteranean) นั้น ได้เกิดความไม่สงบหรือเกิดการจลาจลขึ้นบนเกาะครีต (Crete) ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในความปกครองของประเทศตุรกี (Turkey) (OTTOMAN EMPIRE : ราชอาณาจักรออตโตมานแต่ก่อน) ประเทศตุรกีตั้งอยู่บนฝั่งของ ๒ ทวีป คือ ทั้งทวีปยุโรป (Europe) และทวีปเอเชีย (Asia) ส่วนประเทศกรีซ (Greece) นั้นตั้งอยู่โดยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศตุรกี บนเกาะครีตมีชุมชนที่นับถือศาสนาอยู่สองชุมชน คือชาวมุสลิมและชาวคริสต์ จึงเกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างสองชุมชน

ในเดือนมกราคม ค.ศ.๑๘๙๗ (พ.ศ.๒๔๔๐) ความรุนแรงและความวุ่นวายได้ทวีมากขึ้นบนเกาะครีต พลเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของตุรกี กดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม จึงก่อการจลาจลขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ.๑๘๙๗ (พ.ศ.๒๔๔๐) ชาติมหาอำนาจในยุโรป ๖ ชาติ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย อิตาลี และออสเตรียได้ส่งเรือรบไปยังเกาะครีต เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์และยับยั้ง กรีซได้ส่งเรือรบและทหารมาช่วยพลเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์ ทำให้การจลาจลไม่ลุกลามและสงบลงได้ชั่วคราว

ในเดือนกันยายน ค.ศ.๑๘๙๘ (พ.ศ.๒๔๔๑) ได้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก เมื่อทหารอังกฤษที่ขึ้นไปรักษาการณ์บนเกาะครีต ถูกชาวตุรกีโจมตี เสียชีวิตไป ๑๗ นาย อังกฤษจึงส่งกองเรือของพลเรือตรีโนแอล
(Gerard Henry U. Noel) ซึ่งมีเรือประจัญบาน Revenge เป็นเรือธง (พระองค์เจ้าอาภากรฯ เป็นนักเรียนทำการ
นายเรืออยู่ในเรือนี้ด้วย) กับเรือประจัญบาน Illustrious และเรือลาดตระเวน Venus มาที่เกาะครีต ได้ทำการยกพลขึ้นบก และบังคับเจ้าเมืองตุรกีให้ปราบปรามพวกที่เข้าโจมตีทหารอังกฤษ

 

. เสด็จเตี่ยออกศึก

พระองค์เจ้าอาภากรฯ ซึ่งเป็นนักเรียนทำการนายเรือประจำเรือ Revenge ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร
ทำการยกพลขึ้นบกไปทำการปราบจลาจลบนเกาะครีต ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีพระชันษาเพียง ๑๘ ปีเท่านั้น (คุณครู
พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช บอกว่า “ทำนองเดียวกับที่ Nelson เคยนำทหารยกพลขึ้นบกไปทำการรบตั้งแต่เป็นนักเรียนทำการนายเรือ)

ผลของการปราบจลาจล ในที่สุดตุรกีต้องถอนตัวออกจากเกาะครีต เพื่อยอมให้กรีซปกครองเกาะครีตแทนในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๘๙๘ (พ.ศ.๒๔๔๑)

พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ลูกศิษย์ก้นกุฏิของกรมหลวงชุมพรฯ ได้เขียน “ประวัติ (สังเขป) ของโรงเรียนนายเรือ (พ.ศ.๒๔๔๑ ถึง ๒๔๗๕)” ไว้เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙ ในข้อที่ ๖๐ ว่า กรมหลวงชุมพรฯ ได้เล่าให้ท่านฟังดังนี้

“เมื่อเป็นนักเรียนทำการนายเรือในราชนาวีอังกฤษได้มีโอกาสขึ้นทำการปราบจลาจลที่เกาะครีต (Crete)
ที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลาราว ๓ เดือน ต้องนอนกลางดินกินกลางทราย หนาวก็หนาว ในสนามรบต้องนอนกับศพที่ตายใหม่ ๆ และบางคราวซ้ำยังอดอาหาร ต้องจับหอยทากมาทอดเสวยกับหัวหอม ศพที่ถูกยิงที่ท้องนับว่าเหม็นร้ายกาจมาก ถึงจะเป็นศพตายใหม่ ๆ ก็ตาม”

“คุณป้อม” คือคุณจารุพันธุ์ ศุภชลาศัย (วสุธาร) เป็นธิดาลำดับที่สามของหม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร
(ท่านหญิงใหญ่) กับนาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง  ศุภชลาศัย) เป็นน้องสาวของนาวาตรี ภากร ศุภชลาศัย คุณป้อมเป็นหลานตาของกรมหลวงชุมพรฯ ได้เล่าถึงเรื่องพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทำการปราบจลาจลในครั้งนี้ ว่า

“ท่านแม่” (หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร หรือท่านหญิงใหญ่ พระธิดาองค์ใหญ่ของกรมหลวงชุมพรฯ) ได้เคยเล่าเรื่องที่เสด็จตา(กรมหลวงชุมพร)ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษเพื่อศึกษาวิชาทหารเรือว่า หลังจากที่พระองค์สอบความรู้ได้ตามหลักสูตรของโรงเรียนนายเรือแล้ว ต้องเสด็จไปศึกษาและฝึกภาคทะเลในเรือที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ในฐานะนักเรียนทำการนายเรือ ในเรือรบอังกฤษ พระองค์ได้เสด็จไปฝึกในเรือประจัญบาน Revenge ในทะเลMediteranean และในช่วงเวลาที่ฝึกงานอยู่ในเรือ Revenge นั้น ได้เกิดจลาจลขึ้นบนเกาะ Crete ซึ่งอยู่ในความปกครองของตุรกี และเหตุการณ์ได้เกิดรุนแรงขึ้น ทหารเรือในเรือรบของอังกฤษต้องยกพลขึ้นบกเพื่อไปปราบปราม พระองค์ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาทหารหมู่หนึ่ง มีครั้งหนึ่งสู้กับแขกคนหนึ่ง (หมายถึง “ทหารตุรกี” ซึ่งคนไทยมักจะเรียกว่า “แขกตุรกี”- กรีฑา) เขาล้มหงายลง พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยฆ่าเขา เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น เขาก็จะต้องฆ่าพระองค์อย่างแน่นอน”

“ภายหลังเสด็จกลับมาเมืองไทยแล้ว เวลาประชวรไข้ขึ้นสูง พระองค์ท่านจะทรงเพ้อ เห็นหน้าแขกคนนั้น เมื่อทรงหายจากพระอาการประชวรแล้ว ท่านแม่ (หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร – กรีฑา) ทูลถาม พระองค์จึงทรงเล่าเหตุการณ์นั้นให้ฟังว่า ท่านไม่อยากฆ่าเขา แต่ด้วยความจำเป็นจริง ๆ คือต้องทำ ทำให้ภาพนั้นติดตาอยู่”

ในการปราบจลาจลของพระองค์เจ้าอาภากรฯ นั้น จะเห็นได้ว่า มิใช่เป็นการสู้รบด้วยการยิงกันไปยิงกันมา แต่เป็นการต่อสู้ชนิดที่ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูอย่างประชิด ตัวต่อตัว มีอันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง

ไม่เขาก็เรา” แต่พระองค์ก็ทรง “รอดตาย” มาได้

มิฉะนั้นแล้วทหารเรือไทยก็คงไม่มี “เสด็จเตี่ย” ไม่มี “วันอาภากร” และไม่มี “องค์บิดาของทหารเรือไทย” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เจ้าชีวิต” ตอนหนึ่งว่า “นายทหารเรือไทยมักจะยกเอาเสด็จในกรมชุมพรฯ เป็นตัวอย่างเพราะท่านทรงแข็งแรงกล้าหาญไม่เกรงกลัวอันตราย
แต่อย่างใด

๙. ทิ้งสมอ

จากประสบการณ์ของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ในการปราบจลาจลที่เกาะครีต คุณครูพลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช ได้กล่าวไว้ว่า

“พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงได้รับการฝึกหัดศึกษาในระบบที่ผิดไปจากพระราชโอรสพระองค์อื่น  พระองค์ต้องทรงประสบความลำบากตรากตรำอย่างสาหัส ต้องทรงผจญภัยความเข้มงวดกวดขันจากครูและ ผู้บังคับบัญชาที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดของนักไล่ลูกไล่ของราชนาวีอังกฤษ ต้องทรงอดทนต่อระบบการ “แกล้ง” หรือ  “ซ่อม” ของนักเรียนและนายทหารรุ่นอาวุโส ฯลฯ พระองค์จึงได้รับการสร้างสรรค์ทั้งพระวรกาย และพระหฤทัยจน แข็งแกร่ง ประกอบด้วยความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนความเป็นผู้นำ ทำให้พระองค์สามารถรับภาระอันหนักยิ่งใน การสร้างสรรค์ “สานุศิษย์” และราชนาวีไทยให้เป็นกำลังของชาติได้ดียิ่งในเวลาต่อมา”

“พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ จึงทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ที่เคยนำทหารเข้าทำการรบหรือทรง “ผ่านศึก” อย่างแท้จริง”

จากการที่จะกล่าวว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ได้ทรง “ผ่านศึก” มานั้น ก่อนหน้านั้น พระองค์จะต้องทรง “ออกศึก” มาก่อน ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นคงจะเป็นที่ยอมรับได้ว่า

“เสด็จเตี่ย ออกศึก”

คำอธิบายเชิงอรรถ

นาวาเอกหลวงสำรวจวิถีสมุทร์ (ฟุ้ง พร้อมสัมพันธ์)

– นักเรียนนายเรือหมายเลข ๗๕ รุ่นเดียวกับนักเรียนนายเรือ พิณ พลชาติ (พลเรือตรี พระประพิณพนยุทธ) นักเรียนนายเรือ หมายเลข ๗๔ รุ่นนี้มีอยู่ด้วยกันแค่ ๒ นาย

– สำเร็จออกเป็นนักเรียนทำการนายเรือชุดแรก เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ ๒๔๕๔

– เนื่องในการประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐
นายเรือโท ฟุ้ง  พร้อมสัมพันธ์ ได้ร่วมกับกองจับเรือเชลย ทำการจับเรือเชลย “เรือเชียงใหม่” ของเยอรมนี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็น “เรือเดินสมุท”)

– เป็นนายเรือเอก เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

– เป็นหลวงสำรวจวิถีสมุทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๖

– เป็นนายนาวาเอก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๙

– เป็นเจ้ากรมอุทกศาสตร์ ลำดับที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ถึงวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๓

– รับราชการในกรมอุทกศาสตร์เป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า ๑๒ ปี

– ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๑

– อายุ ๙๖ ปี

 

๒ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ประสูติ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๖ สวรรคต ๒๐ ตุลาคม
พ.ศ. ๒๔๖๒)

– พระอิสริยยศเมื่อแรกประสูติ

“พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

– เฉลิมพระอิสริยยศเป็น

“พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี” โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (พ.ศ.๒๔๑๑)

– สถาปนาเป็น
“พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   (๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๑)

– สถาปนาเป็น
“พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี” โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   (๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๓)

– สถาปนาเป็น
“พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี” โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(๔กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๓)

– สถาปนาเป็น
“สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี” โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๘)

– เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น

“สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ” (เป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาตำแหน่งพระอัครมเหสีที่สมเด็จพระบรมราชินี) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๙)
ทรงดำรงตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์” (๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๐ – ๑๖ ธันวาคม
พ.ศ.๒๔๔๐)

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนี้ทรงได้รับการขานพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์” (Her Majesty Queen Saovabha Phongsri The Queen Regent)

– เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น

“สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี” โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๓)

– ออกพระนามกันว่า “สมเด็จพระพันปีหลวง” (“พันปี” คือ คำเรียก “พระราชชนนี” ว่า “สมเด็จพระพันปี

จากพจนานุกรม ฉบับ เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.๒๕๓๐)

– เฉลิมพระอิสริยยศเมื่อสวรรคตแล้วเป็น

“สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ” โดย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
(๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗)

 

 

๓ หลวงสุนทร คือ “คอยู่เหล ณ ระนอง”/“หลวงสุนทรโกษา”/“พระยาประดิพัทธภูบาล”

คอยู่เหล ณ ระนอง เป็นบุตรของ “คอซิมก๊อง”(พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี) เกิดที่เกาะปีนัง เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๑๑

จบการศึกษาเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษเป็นคนที่ ๒ ต่อจากขุนหลวงพระยาไกรสี (ขุนหลวงพระยา
ไกรสีสุภาวภักดีศรีมนธาตุราชอำมาตยคณาการ-เปล่ง เวภาระ)

เริ่มรับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็น “เจ้ากรมกองกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ” ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุนทรโกษา”

ได้ตามเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชการต่างประเทศเกือบทั่วโลก รู้ภาษาอังกฤษ มลายู และจีน

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี) ราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และหลวงสุนทรโกษา เป็นส่วนล่วงหน้า จัดการรับเสด็จฯ ที่เมืองกอล เกาะลังกา และที่เมืองโคลอมโบ

วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๐ เวลาทุ่มเศษพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ซึ่งเสด็จจากเมืองกรีนิชที่ประเทศอังกฤษ มารับเสด็จฯ กับหลวงสุนทรโกษา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี ณ เมืองกอล

ต่อมาหลวงสุนทรโกษาได้ลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพค้าขาย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ หลวงสุนทรโกษา กลับรับเข้าราชการอีกครั้ง ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ปีนัง มลายู เกาะบอร์เนียว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาประดิพัทธภูบาล”

ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ ๙๖ ปี (พ.ศ.๒๕๐๘) ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙

ปัจจุบันมีถนนในกรุงเทพฯ ๒ สาย ใช้ชื่อตามชื่อบรรดาศักดิ์ของท่านคือ “ถนนสุนทรโกษา” และ
“ถนนประดิพัทธ

๔ มิดชิบแมน คือ Midshipman / นักเรียนทำการนายเรือ

๕ กัปตัน คือ กัปตันคัมมิง (Capt.R.S.D. Cumming R.N.)

๖ กินเข้า คือ กินข้าว

 

 

 

 

 

เอกสารประกอบการเรียน

๑ หนังสือพิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ตอน “พระประวัติพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” พระนิพนธ์ในกรมพระดำรงราชานุภาพ

๒ หนังสือ “พระประวัติและพระกรณียกิจในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” โดยพลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช

๓ หนังสือ “อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ร.ต.พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน)”
ตอน “ประวัติโรงเรียนนายเรือ”

๔ หนังสือ “จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖” โดย พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยสิริ)

๕ หนังสือ”ชีวิตลูกประดู่” บันทึกความทรงจำของพลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์

๖ หนังสือ”นิทานชาวไร่” เล่ม ๑,๒,๓ โดยนาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี ฉบับสำนักพิมพ์ศยาม ๒๕๖๐

๗ นิตยสารนาวิกศาสตร์ฉบับเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔ เรื่อง “Midshipman” โดย บ.บุรินท์

๘ หนังสือ “ที่ระลึกวันสถาปนากระทรวงกลาโหม”(๘ เมษายน ๒๔๓๐ ถึง ๘ เมษายน ๒๔๙๖) ของกระทรวงกลาโหม ภาคผนวกกองทัพเรือ

๙ หนังสือ “สามสมอ ๒๔๙๘” ของโรงเรียนนายเรือ

๑๐ หนังสือ “๑๐๐ปี การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ” ของโรงเรียนนายเรือ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

๑๑ หนังสืออ่านกวีนิพนธ์เรื่อง “เวนิสวานิช” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์และแปลเรียบเรียงจากบทละครเรื่อง “The Merchant of Venice” ของ วิลเลียม เซกสเปียร์

๑๒ หนังสือ “จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์ แห่งประเทศไทย” โดย เจฟฟรี่ ไฟน์สโตน

๑๓ หนังสือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย” เล่ม ๒ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)

๑๔ หนังสือ “เจ้าชีวิต” พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พิมพ์ครั้งที่ ๙
มกราคม ๒๕๖๐

๑๕ บันทึกของจารุพันธ์ วสุธาร (ศุภชลาศัย)

๑๖ ข้อมูลจาก อภิสมัย โรจนชีวะ