ปัญหาการฆ่าตัวตายเริ่มพบมากขึ้นในสังคมไทย ล่าสุดกับกรณี น้องโอม (สงวนชื่อและนามสกุล) นักเรียนชั้น ม.๖ โดยน้องโอมได้กระโดดลงมาจากตึกเสียชีวิต ซึ่งจะมีสาเหตุอะไรบ้าง และจะมีวิธีการอย่างไรไม่ให้มีความคิดฆ่าตัวตาย ในบทความนี้ สำนักงานแพทย์ สำนักงานสนับสนุนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีข้อแนะนำมาฝากท่านผู้อ่าน ครับ
เข้าใจการฆ่าตัวตายการฆ่าตัวตาย เกิดจากหลายสาเหตุแต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนคิดอยากฆ่าตัวตายเกิดจากโรคซึมเศร้า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกเบื่ออย่างรุนแรงแทบทุกอย่างในชีวิต เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ความเศร้าที่รุนแรงมากๆ อาจทำให้คิดว่าตนเองผิด ไร้ค่าและคิดอยากฆ่าตัวตาย การตายจึงเป็นเหมือนทางออกของปัญหาในระยะสั้น เพื่อไม่ต้องเผชิญกับปัญหาอีกต่อไป ความคิดของคนที่จะฆ่าตัวตายมักไม่เห็นหนทางแก้ไขปัญหา ชีวิตมืดมนและหมดหวัง ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
อาการของโรคซึมเศร้า มักเริ่มเป็นจากอาการน้อยๆ แล้วมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถสังเกตได้ไม่ยาก ดังนี้
๑. อารมณ์ไม่สนุกสนานเหมือนเดิม ไม่มีความสุข เบื่อ ท้อแท้ หงุดหงิดและเศร้า
๒. หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก มีความสุข ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร
๓. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก (บางคนกินมากเพื่อให้หายเครียด ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น)
๔. นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าเดิม ๒ – ๓ ชั่วโมงแล้วนอนต่อไม่ได้ (บางคนนอนมากขึ้น เนื่องจากไม่อยากทำอะไร พยายามนอนแต่ไม่หลับ)
๕. เหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร
๖. ความคิดช้า การเคลื่อนไหวช้า ไม่มั่นใจตนเอง ไม่กล้าคิด ลังเลตัดสินใจลำบาก
๗. สมาธิความจำเสีย ตั้งใจทำงานไม่ได้ ลืมง่าย ความจำลดลง
๘. คิดว่าตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดไม่ดีต่อตัวเอง
๙. คิดอยากตายและพยายามฆ่าตัวตาย
โรคซึมเศร้า อาจเกิดหลังจากปัญหาความเครียดในชีวิต เช่น การสูญเสียคนรักหรือสิ่งที่รักในชีวิต ปัญหาเรื่องการเรียน การทำงาน ปัญหาอื่นๆ แต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุก็ได้ ถ้าเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยมักจะรู้ตัวและอาจมาพบจิตแพทย์ แต่ถ้ามีอาการมากอาจไม่รู้ตัวจึงไม่มารับการรักษา บางคนกลัวว่าการมาพบจิตแพทย์แสดงว่า ตนเองเป็นโรคจิต โรคประสาท ทำให้ไม่ได้รับการรักษาและโรคมีอาการมากขึ้น จนถึงระดับที่คิดอยากตายได้ จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ๑๐๐ คน มีเพียง ๑๐ คน เท่านั้น ที่มาพบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
รักษาโรคซึมเศร้า การรักษาโรคซึมเศร้า เป็นการแก้ไขสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก เนื่องจากปัจจุบันนี้ทางการแพทย์สามารถรู้ถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้าแล้วว่าเกิดจากการทำงานแปรปรวนของสารสื่อนำประสาทที่มีผลต่ออารมณ์ ยารักษาโรคซึมเศร้าช่วยให้การทำงานของสารสื่อนำประสาทนั้นกลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยร้อยละ ๘๐ รักษาให้หายได้ เมื่อได้รับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ เมื่อหายป่วยแล้วจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม โรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่โรคจิตหรือโรคประสาท แต่เป็นโรคทางอารมณ์ที่สามารถรักษาให้หายได้
หากสงสัยว่าคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า เช่น ซึมเฉย เงียบ ไม่พูดจา เฉื่อยชา เชื่องช้า ทำอะไรผิดไปจากเดิมมากๆ การเรียนหรือการทำงานเสียไป บางคนอาจใช้คำพูด เช่น “รู้สึกเบื่อจัง ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” “ฝากดูแลลูกด้วยนะ” หรือดำเนินการบางอย่างที่น่าสงสัยว่าจะไม่อยากมีชีวิตต่อไป เช่น ทำพินัยกรรม โอนทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน จึงควรให้ความห่วงใยสอบถามถึงความรู้สึก ความคิด และสังเกตอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น ทำให้ผู้ที่กำลังซึมเศร้ารู้สึกว่ามีคนห่วงใย มีเพื่อน มีที่พึ่ง ช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นและไม่คิดอยากฆ่าตัวตาย ถ้าพบว่าผู้ใดมีอาการของโรคซึมเศร้าข้างต้นเกิน ๕ ข้อ ควรแนะนำให้ผู้นั้นมาพบจิตแพทย์ เพื่อรับการตรวจและช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว การรักษาโรคซึมเศร้าได้เร็วจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้
ถ้าสงสัยว่าผู้นั้นคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ ควรถาม
การถามเรื่องการฆ่าตัวตายสามารถทำได้ เพราะอาจช่วยรักษาชีวิตเขาไว้ได้ วิธีการถามควรใช้ชุดคำถามแบบขั้นบันได ดังนี้
๑. เมื่อพบว่าใครมีอารมณ์ซึมเศร้า ให้ถามว่า“ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิตหรือไม่”
๒. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “ความรู้สึกเบื่อชีวิตนั้น ทำให้คิดอยากตายหรือไม่”
๓. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เมื่อคิดอยากตาย เคยคิดจะทำหรือไม่”
๔. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำอย่างไร”
๕. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือไม่”
๖. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำอย่างไร”
๗. สุดท้าย ให้ถามต่อไปว่า “มีอะไรยับยั้งใจ หรือหยุดความคิดนี้ได้ จนทำให้ไม่ได้ทำ”
คำถามข้อสุดท้ายไม่ว่าจะตอบอย่างไร แสดงถึงปัจจัยบวกของผู้นั้นที่ช่วยให้เขายั้งคิด และป้องกันไม่ให้ฆ่าตัวตาย ควรชมและส่งเสริมให้กำลังใจในข้อดีนี้ เพื่อให้เป็นปัจจัยป้องกันในครั้งต่อไป
บางคนเชื่อว่า การถามเรื่องฆ่าตัวตายจะไปกระตุ้นผู้ที่ยังไม่คิดให้คิด หรือกระตุ้นให้ผู้ที่คิดอยู่บ้างทำจริงๆ ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้องเพราะในความเป็นจริงการถามเรื่องนี้ไม่ได้ชักจูงหรือกระตุ้นให้คิดหรือทำ แต่สำหรับผู้ที่คิดจะทำอยู่แล้ว เมื่อมีคนถามจะรู้สึกว่ามีคนเข้าใจทำให้รู้สึกดีขึ้นจนไม่คิดอยากทำ
ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย โดย…
- สนใจ ใส่ใจ สังเกตตนเอง เพื่อนๆ และคนใกล้ชิด ว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ ถ้ามีอาการมากให้ถามถึงอาการซึมเศร้า และถามถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย
- ถ้าตนเองเกิดโรคซึมเศร้า ให้ปรึกษาทีมสุขภาพจิตโดยเร็ว
- แนะนำผู้ที่มีอาการซึมเศร้า รีบมาพบทีมสุขภาพจิต เพราะการรักษาอย่างรวดเร็วจะได้ผลดีกว่า และเพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความคิดอยากตายหรือเคยฆ่าตัวตาย