จากรายงานประจำปี ๒๐๑๐ ของUS Air Force’s National Air and Space Intelligence Center หรือเรียกกันว่า NASIC รายงานว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองทัพอากาศจีนได้พัฒนาขีดความสามารถของกำลังทางอากาศให้ขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศชั้นนำของกำลังทางอากาศทั่วโลก โดยที่กองทัพอากาศจีนมีแผนการพัฒนากำลังทางอากาศให้ทันสมัยและเป็นกองทัพอากาศชั้นยอดในปี ๒๐๒๐

กองทัพอากาศจีนได้เริ่มแสดงนภานุภาพให้เห็นถึงความก้าวหน้า โดยการเปิดตัวเครื่องบินรบ ล่องหน J-20 เมื่อเดือนมกราคม ๒๐๑๑ ซึ่งกองทัพอากาศจีนซื้อใบอนุญาตการผลิตจากรัสเซีย และสร้างโดยบริษัทยักษ์ใหญ่สองบริษัทคือ Shenyang Aircraft Corp. และ Chengdu Aircraft Industry Group.

การพัฒนากำลังทางอากาศของกองทัพอากาศจีน ไม่ใช่เน้นเฉพาะเครื่องบินรบอย่างเดียว หากแต่เป็นทุกด้านของกำลังทางอากาศอย่างเช่น อาวุธจรวดนำวิถี, เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ H-6, เครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศ (EWA : Early Warning Aircraft), ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งเมื่อคิดแบบบูรณาการของการพัฒนากำลังทางอากาศของกองทัพอากาศจีนแล้ว อาจกล่าวได้ว่า พวกเขากำลังไล่ล่าความเป็นเจ้าอากาศ “The Hunt for Control of the Air”

Geopolitical Response

อิทธิพลทางความคิดในการพัฒนากำลังทางอากาศของกองทัพอากาศจีน มาจากวิกฤตช่องแคบไต้หวันเมื่อปี ๑๙๙๖ โดยจีนข่มขู่หรือคุกคามไต้หวันทางอ้อมโดยการทดสอบขีปนาวุธระยะใกล้และซ้อมรบทางทหารขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่มีผลในการบีบบังคับไต้หวัน เนื่องจากกองเรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ B-2 ที่เตรียมพร้อม ณ ที่ห่างไกล ได้เคลื่อนย้ายกำลังเข้ามาช่องแคบไต้หวัน เพื่อเป็นการแสดงกำลังหรือป้องปรามจีนด้วยเช่นเดียวกัน จึงทำให้จีนทำอะไรได้ไม่สะดวกดีนัก เนื่องจากเห็นว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาชนะกำลังทางเรือและทางอากาศที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ครั้งนั้นทำให้จีนต้องหันมามองกองทัพของตนเอง ซึ่งก็เป็นการจุดประกายแนวความคิดในการพัฒนากำลังทางทหารของจีนให้ทันสมัยและแข็งแกร่งทัดเทียมกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา เพื่อต่อกรกับสหรัฐฯ ในกรณีข้อพิพาทไต้หวันที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะจุดยืนที่มั่นคงของจีนคือการรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน และหนทางที่จะเสริมความเป็นไปได้ในการรวมไต้หวันทางหนึ่งคือ การสร้างความแข็งแกร่งทางทหาร เพื่อครอบครองความแข็งแกร่งทางภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค

China’s Fighter Modernization: เครื่องบินรบ ยุคใหม่ที่ทันสมัยของกองทัพอากาศจีน

กองทัพอากาศจีนได้เริ่มพัฒนากำลังทางอากาศจากการเปลี่ยนแปลงกำลังทางอากาศขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องบินที่ค่อนข้างเก่าตั้งแต่ในปี ๑๙๖๐ มาเป็นกำลังทางอากาศที่มีขนาดเล็กลงแต่เพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้นโดยในปัจจุบันแนวความคิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดนี้ เริ่มจากการสั่งซื้อเครื่องบินรบที่ทันสมัยจากรัสเซียรวมถึงการซื้อสิทธิบัตรในการเปิดสายการผลิตเอง โดยสองบริษัทสร้างเครื่องบินใหญ่สกุลจีนเองสองบริษัทคือ Shenyang Aircraft Corp. และ Chengdo Aircraft Industry Group. จนกระทั่งยุคปี๒๐๑๓ กองทัพอากาศจีนมีเครื่องบินที่ทันสมัยตามหลักอากาศพลศาสตร์ที่พัฒนาแล้วรวมถึงระบบอาวุธชั้นยอดเป็นเขี้ยวเล็บติดตัวมากกว่า๔๐๐ เครื่องเลยทีเดียว ซึ่งอยู่ในระดับที่เกือบใกล้เคียงกับกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบข้อมูลจากรายงานของเพนตากอนในปี ๒๐๑๒ เกี่ยวกับพลังอำนาจทางทหารของจีน ซึ่งรายงานว่า กองทัพอากาศจีนมีเครื่องบินรบ ๑,๕๗๐ เครื่อง, เครื่องบินทิ้งระเบิด ๕๕๐ เครื่อง, เครื่องบินลำเลียง๓๐๐ เครื่อง และเครื่องบินเก่าๆ ที่จอดทิ้งหรือรอซ่อมหรืออาจใช้งานได้อยู่อีก ๑,๔๕๐ เครื่อง โดยภาพรวมที่เข้าใจกันง่ายๆ ของผู้ที่เข้าใจในกำลังทางอากาศ สามารถบอกได้ว่ากองทัพอากาศจีนได้ก้าวเข้าสู่กำลังทางอากาศในยุคที่สี่ที่ทันสมัยในปัจจุบันแล้ว อีกทั้งยังมีการคาดการณ์จาก The International Assessment and Strategy Center ไว้ว่าเครื่องบินในยุคที่สี่ของกองทัพอากาศจีนจะเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นกว่า ๑,๐๐๐ เครื่องในปี ๒๐๒๐ ซึ่งพระเอกหลักๆ ของเครื่องบินรบยุคที่สี่ของจีนที่ติดจรวดนำวิถีที่พัฒนาอย่างสุดๆ แล้วเช่นกัน ทั้ง Short-Medium and Long Range Guided Missile คือ J-8, J-10, J-11 และ SU-30

Stealth Competition : การแข่งขันในเทคโนโลยีเครื่องบินล่องหน

กำลังทางอากาศที่ทันสมัยในยุคที่สี่นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเทคโนโลยีเพื่อการยากต่อการตรวจจับเครื่องบินหรือ เครื่องบินล่องหน (Stealth) กองทัพอากาศจีนภายใต้การสนับสนุนของ AVIC (China’s Aviation Industry Corp.) ได้พัฒนาและทดสอบ J-20 และ J-31 แข่งขันกับสหรัฐฯ ของ Lockheed Martin ซึ่งมี X-35 และ Boeing X-32 เป็นเครื่องบินล่องหนต้นแบบในยุคที่สี่ โดย Lockheed Martin เริ่มโครงการตั้งแต่ปี ๒๐๐๑

“Mighty Dragon” หรือ J-20 เริ่มบินทดสอบเมื่อปี ๒๐๐๙ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม ๒๐๑๑ ในช่วงการเยือนจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งกองทัพอากาศจีนประกาศว่าเครื่องบินล่องหนของกองทัพอากาศจีนจะเริ่มเข้าประจำการในอีก ๘ – ๑๐ ปีข้างหน้า ซึ่งก็ตรงกับการคาดการณ์ ของ The International Assessment and Strategy Center ที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น

The Chengdu J-20 : Mighty Dragon มีทรวดทรงทางอากาศพลศาสตร์เหมือน F-22 ของสหรัฐฯ มาก ใช้เครื่องยนต์ทรงพลังค่ายรัสเซียแบบ AL-315F ทำความเร็วได้เกิน1 Mach โดยที่ไม่ต้องใช้สันดาปท้าย (After Burner) เพื่อเพิ่มแรงขับ อีกทั้งยังเพิ่มความน่ากลัว โดยสามารถติดตั้ง Long Range Cruise Missile, Air to Air Missile และ Anti-Ship Missile ที่พัฒนาแล้วอีกด้วย

The Shenyang J-31 ซึ่งยังไม่มีนามเรียกขาน เป็นเครื่องบินล่องหนที่อยู่ในขั้นก้าวหน้าที่สุดของกองทัพอากาศจีน โดยรูปลักษณ์เหมือน F-35 ของสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์เทคโนโลยีทางทหารมีความเห็นว่า J-31 นั้นออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องบินรบประจำบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งจีนก็กำลังพัฒนาและสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบินด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศจีนนั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักแต่ก็เป็นกำลังทางอากาศที่ประมาทไม่ได้เหตุผลส่วนหนึ่งที่ไม่มีการพัฒนานั้นมาจากกำลังทางอากาศทั่วโลกโดยส่วนใหญ่แล้ว มีหลักนิยมที่เปลี่ยนไปของเครื่องบินทิ้งระเบิด ดังนั้นกองทัพอากาศจีนจึงเป็นเพียงกำลังทางอากาศไม่กี่ประเทศที่ยังมีฝูงบินทิ้งระเบิดอยู่ ซึ่งเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศจีนแบบH-6 เป็นเครื่องบินที่ได้รับการพัฒนามาจากTU-16 (Badger) ของรัสเซีย และในปัจจุบันนี้กองทัพแห่งชาติจีนมี H-6 อยู่มากถึง ๑๕๐ เครื่องมีใช้กันอยู่ทั้ง กองทัพอากาศ และกองทัพเรือจีน และมี H-6 บางส่วนถูกดัดแปลงเป็น เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศในกลางทศวรรษที่๑๙๙๐ แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดสายพันธุ์นี้ มีสิ่งที่น่าสนใจคือกองทัพอากาศจีนพัฒนาให้ติดขีปนาวุธแบบ Cruise Long Range Missile เพื่อการไล่ล่า เครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเช่น E-3C (AWACS) และ E-2C/D (Hawkeye)เป็นต้น รวมไปถึงการติดตั้งขีปนาวุธแบบAnti-Ship ด้วย

ในส่วนของ Long Range Cruise Missile แบบ DH-10 ที่มีฐานยิงจากภาคพื้นดินนั้น คาดการณ์กันว่าในปัจจุบันจีนมีประมาณ๒๐๐ – ๕๐๐ หน่วยยิง ซึ่งรัศมีการยิงนั้นไปได้ไกลกว่า ๙๓๐ ไมล์ คืออยู่ในระดับข้ามทวีปกันเลยทีเดียว

ด้วยกำลังทางอากาศขนาดนี้ของกองทัพอากาศจีน โดยเฉพาะ H-6 และ DH-10 สามารถคุกคามกองกำลังของสหรัฐฯ ที่GUAM และทุกที่ในย่านแปซิฟิก

ในเรื่องของระบบ AWACS หรือเครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศนั้น เดิมทีในปี ๒๐๐๐ จีนมีความพยายามจะซื้อระบบนี้จากอิสราเอล แต่ถูกสหรัฐฯ ขัดขวาง จึงต้องล้มเลิกไป และหันกลับมาศึกษาพัฒนาด้วยตนเอง จนสามารถสร้าง Airborne Radar KJ-2000 สำเร็จโดยติดตั้งกับเครื่องบินแบบ II-76 นอกจากนั้น กองทัพอากาศจีนก็กำลังพัฒนา Boeing 737-800 ให้เป็นเครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศอีกด้วย

ระบบป้องกันภัยทางอากาศภาคพื้นดินนั้น นอกเหนือจากจรวดแบบ SA-2 ที่มีมาตั้งแต่ปี ๑๙๕๘ และได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นตระกูล SAM อีกหลายรุ่น และตอนนี้ กองทัพอากาศจีนมีจรวดต่อสู้อากาศยานที่พัฒนาขึ้นมาเองคือ HQ-9 ซึ่งคาดการว่าจรวดต่อสู้อากาศยานแบบล่าสุดนี้มีประจำการประมาณ ๑๙๒ ชุดยิง และอีก ๔๙๐ ชุดยิงนั้นเป็น SAM รัศมีการยิงอยู่ระหว่าง ๕๐-๑๒๔ ไมล์ แล้วแต่จะเป็นแท่นยิงแบบใด แท่นยิงหรือฐานยิงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ประจำที่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จะมีการเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ ซึ่งกองทัพแห่งชาติจีนมีความเชี่ยวชาญการฝึกในเรื่องของการเคลื่อนย้ายแท่นยิงในเวลากลางคืนเป็นอย่างดี

กองทัพเรือจีนได้พัฒนา HQ-9 เป็นแบบยิงจากฐานในทะเลซึ่งก็คือจากเรือประจัญบาน (Destroyer) นั่นเองเรียกว่า HHQ-9 มีระยะยิงประมาณ ๔๗ – ๙๓ ไมล์ ถ้าคิดระยะจากแผ่นดินใหญ่แล้ว ก็อยู่ที่ว่ากองทัพเรือจีนจะไปได้ไกลแค่ไหน

Carrier Aviation Prospects : ความคาดหวังในกองเรือบรรทุกเครื่องบิน
ควบคู่ไปกับการพัฒนา เครื่องบินล่องหนกองทัพเรือจีนก็ได้พัฒนากำลังทางอากาศที่มีฐานจากเรือบรรทุกเครื่องบินด้วย จีนได้ซื้อเรือบรรทุกเครื่องบินเก่าระวางขับน้ำ ๖๕,๐๐๐ ตัน จากอดีตสหภาพโซเวียตคือ Varyage ซึ่งเป็นเรือลำที่สองของเรือในชั้น Kuznetsov ในปี ๑๙๙๘ โดยลากจูงจากทะเลดำนำมาปรับปรุงใหม่ในจีน แล้วกลับลงทะเลเพื่อทดสอบระบบครั้งใหม่หลังจากปรับปรุงแล้วในเดือนสิงหาคม ๒๐๑๑เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยตามแผนงาน เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า Liaoning และจัดพิธีปล่อยเรืออย่างเป็นทางการเมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๐๑๒ โดยมีประธานาธิบดี Hu Jintao เป็นประธานในพิธี

ครั้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๐๑๒ เครื่องบินรบ 2J-15 ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินขึ้น/ลง บนเรือบรรทุกเครื่องบิน Liaoning สำหรับ J-15 นี้ก็เป็นเครื่องบินรบ ที่จีนพัฒนามาจาก SU-33 (Upgrade จาก SU-27) ซึ่งซื้อจากยูเครนในปี ๒๐๐๑ ซึ่งออกแบบหรือพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะ ส่วน J-15 นั้นจีนวางแผนจะเข้าสู่สายการผลิตอย่างเต็มที่ในปี ๒๐๑๕ – ๒๐๑๗ ตามแผนการณ์ที่จะให้เรือบรรทุกเครื่องบินสามารถบรรทุกเครื่องบินรบได้ ๓๐ เครื่องและเฮลิคอปเตอร์ด้วยบางส่วน

ความสำเร็จของการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินและกำลังทางอากาศบนเรือบรรทุกเครื่องบินครั้งนี้ทำให้ กองทัพเรือจีนและกำลังทางอากาศบนเรือบรรทุกเครื่องบิน สามารถปฏิบัติภารกิจได้กว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมทั้งภูมิภาค Asia-Pacific หรือน่านน้ำสากลทั่วโลก

แม้ว่าความพยายามของจีนในการพัฒนากำลังทางอากาศจะประสบความสำเร็จเป็นลำดับด้วยดีก็ตาม แต่จีนก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ยังไม่มีนักบินรบที่มีประสบการณ์จากสมรภูมิใดๆ เลยที่จะถ่ายกองทัพอากาศกลยุทธ์ต่างๆ ที่สำคัญในกลุ่มของนักบินเอง สมรภูมิล่าสุดที่นักบินจีนมีคือ สงครามเวียดนาม ซึ่งนักบินรุ่นนั้นก็ร่วงโรยไปแล้ว อีกทั้งก็ยังเป็นการใช้กำลังทางอากาศกันคนละยุค รวมไปถึงการฝึกร่วมแลกเปลี่ยนกันระหว่างมิตรประเทศของจีนก็ยังมีไม่มากนัก จะมีเพียงแค่การฝึกร่วมกับตุรกีในปี ๒๐๑๐ เท่านั้น

NASIC ได้สรุปเป็นภาพรวมของการพัฒนาศักยภาพทางทหาร โดยเฉพาะกำลังทางอากาศของจีนไว้ว่า เทคโนโลยีทางทหารสหรัฐฯ ยังนำหน้าจีนอยู่ ๑๕ ปี แต่ถ้าจีนก้าวหน้าได้รวดเร็วในเทคโนโลยี เครื่องบินล่องหนแล้ว ทุกอย่างคงต้องกลับมาทบทวนกันใหม่