กองทัพอากาศสิงคโปร์ (RSAF) พร้อมจะปฏิบัติการด้วยเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศรุ่นใหม่แบบ จี-๕๕๐ (G-550) รวม ๔ เครื่อง เป็นเงิน ๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ จัดซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งฝูงบินในปีพ.ศ.๒๕๕๓ ประจำการฝูงบิน ๑๑๑ ฐานทัพอากาศเต็งกาฮ์ (Tengah Air Base) ได้รับมอบเครื่องบินชุดแรกในปี พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นเครื่องบินไอพ่นแบบจี-๕๕๐ (G-550/C-37B) สองเครื่องยนต์ นักบิน ๒ นาย บรรทุกผู้โดยสาร ๑๔ – ๑๙ ที่นั่ง, ขนาดยาว ๒๙.๘ เมตร, ช่วงปีก ๒๘.๕ เมตร, สูง ๘.๓ เมตร, น้ำหนัก ๒๑,๙๐๐ กิโลกรัม, น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด ๔๑,๓๐๐ กิโลกรัม, เครื่องยนต์ เทอร์โบแฟน บีอาร์ ๗๑๐ (BR710) ให้แรงขับขนาด ๑๕,๓๘๕ ปอนด์ (๒ เครื่อง), ความเร็วสูงสุด ๙๔๑ กิโลเมตรต่อชั่วโมง, ความเร็วเดินทาง ๙๐๔ กิโลเมตรต่อชั่วโมง, พิสัยบินไกล ๒๑,๕๐๐ กิโลเมตร, เพดานบินสูง ๑๒,๕๐๐ เมตร (๔๑,๐๐๐ ฟุต), ทำการบินได้นาน ๙ ชั่วโมง และนักบิน ๒ นายเพื่อจะประจำการทดแทนเครื่องบินเตือนภัยรุ่นเก่าแบบอี-๒ซี ฮอร์คอาย (E-2C Hawkeye)จำนวน ๔ เครื่อง ประจำการมานานกว่า ๒๓ ปี ทำการติดตั้งระบบเรดาร์ที่ประเทศอิสราเอลเป็นแบบฟัลคอน (Phalcon/IAI EL/W-2085) มีชื่อเรียกใหม่ว่า จี-๕๕๐ เออีดับเบิ้ลยู (G-550 AEW) เรดาร์จะติดตามเป้าหมายได้พร้อมกันกว่า ๑๐๐ เป้าหมาย ได้ไกลกว่า ๓๗๐ กิโลเมตร
ฝูงบิน ๑๑๑ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ประจำการด้วยเครื่องบินเตือนภัยแบบอี-๒ซี ฮอร์คอาย (E-2C Hawkeye) จัดซื้อมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นเครื่องบินที่ทันสมัยมากในยุคนั้น เป็นประเทศที่สองแห่งเอเชียแปซิฟิกที่ประจำการด้วยเครื่องบินเตือนภัยต่อจากประเทศญี่ปุ่น (JAFSDF) เพื่อใช้เตือนภัยทางอากาศจากฝูงบินขับไล่อดีตสหภาพโซเวียตจากฐานทัพอากาศในไซบีเรียห้วงสงครามเย็น ที่มีความตึงเครียดในหลายภูมิภาคของโลกรวมทั้งเอเชียแปซิฟิก(เครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยคือ MiG-25 Foxbat ความเร็วสูงสุด ๓.๒ มัค) ที่ละเมิดน่านฟ้าเพื่อที่จะทดสอบระบบป้องกันภัยทางอากาศของญี่ปุ่นว่ามีความรวดเร็วเพียงใดที่จะส่งเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๑๕เจ จากฐานทัพอากาศชิโตเซ เกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นเข้าสกัดกั้นทันทีเมื่อผ่านเข้าน่านฟ้าญี่ปุ่น(นักบินอดีตสหภาพโซเวียตคือ วิคเตอร์ บาเลนโก้ได้นำเครื่องบินขับไล่ MiG-๒๕ หลบระบบตรวจจับเรดาร์มาลงจอดที่ฐานทัพอากาศฮาโกดาเตะ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๙ ได้แสดงถึงจุดอ่อนของระบบป้องกันภัยทางอากาศญี่ปุ่นซึ่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก)
กองทัพอากาศสิงคโปร์ (RSAF) นำเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศแบบจี-๕๕๐ (G-550 AEW) ทำการฝึกในรหัส โคป ไทเกอร์ ๒๐๑๓ (Cope Tiger 2013) ที่ประเทศไทยร่วมกับเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๑๖ซี/ดี, เอฟ-๑๕เอสจี, เอฟ-๕เอส/ที และเคซี-๑๓๐ รวมทั้งสิ้น ๒๔ เครื่อง โดยทำการฝึกที่ฐานทัพอากาศโคราชระหว่างวันที่ ๑๑ – ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ นับว่าเป็นการฝึกทางอากาศขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพอากาศกลุ่มประเทศอาเซียน
เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศในเชิงรับแต่เป็นระบบที่มีค่าใช้จ่ายที่แพง (ทั้งระบบ และตลอดห้วงระยะเวลาการใช้งาน พร้อมด้วยบุคลากรที่มีความรู้) ช่วยให้มีเวลาแจ้งเตือนสำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศ ให้ทันรับการโจมตีจากเครื่องบินรบฝ่ายคุกคามที่จะเกิดขึ้น เป็นผลให้กองทัพอากาศสิงคโปร์(RSAF) มีระบบป้องกันภัยทางอากาศทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศอาเซียนในขณะนั้นระบบเรดาร์ฟัลคอน (Phalcon) เป็นระบบเรดาร์รุ่นใหม่ที่ทันสมัยแบบหนึ่งของโลก ที่ได้นำเข้าประจำการในกองทัพอิสราเอล และอิตาลี (๒ ระบบ)
กองทัพอากาศไทย (RTAF) ประจำการด้วยเครื่องบินเตือนภัยแบบซ๊าบ ๓๔๐ เออีดับเบิ้ลยู (Saab 340 AEW/S 100 Argus) ผลิตจากประเทศสวีเดน ประจำการฝูงบิน ๗๐๒ ฐานทัพอากาศสุราษฎร์ธานี ข้อมูลที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง ๖ นาย, ช่วงปีก ๒๑.๔๔ เมตร, ยาว ๒๐.๕๗ เมตร, สูง ๖.๙๗ เมตร, น้ำหนัก ๑๓,๑๕๕ กิโลกรัม, เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพ จีอี (GE, CT7-9B) ขนาด ๑,๗๕๐ แรงม้า (๒ เครื่อง), ใบพัดชนิดสี่กลีบ ความเร็วเดินทาง ๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง, ปฏิบัติการได้นาน ๗ ชั่วโมง และเพดานบินสูง ๗,๖๒๐ เมตร (๒๕,๐๐๐ ฟุต) ติดตั้งระบบเรดาร์อีรี่อาย(Erieye) เป็นระบบเรดาร์เตือนภัยที่ประจำการในหลายประเทศ ประกอบด้วย สวีเดน (๖ ระบบ), กรีซ (๒ ระบบ), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (๒ ระบบ), บราซิล (๕ ระบบ), เม็กซิโก (๑ ระบบ) และปากีสถาน (๔ ระบบ)ข้อมูลที่สำคัญของเรดาร์อีรี่อาย (Erieye) น้ำหนัก ๙๐๐ กิโลกรัม, ระบบเรดาร์อยู่เหนือลำตัวของเครื่องบินยาว ๙ เมตร ตรวจจับเป้าหมายทางอากาศได้ไกล ๓๕๐ กิโลเมตร สามารถจะติดตั้งกับเครื่องบินโดยสารได้หลายแบบตามความต้องการของประเทศลูกค้าที่ได้สั่งซื้อ (แบบ Saab 2000 กองทัพปากีสถาน และแบบ R-99/MB-145 กองทัพบราซิล/เม็กซิโก/กรีซ) เครื่องบินใช้เครื่องยนต์แบบเทอร์โบพร็อพ (turbopop)จะมีค่าใช้จ่ายประหยัดกว่าเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (turbofan) เมื่อเปรียบเทียบกับชั่วโมงบินที่ใช้งานเท่ากันหรือตลอดห้วงอายุการใช้งาน
เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศแบบ ซ๊าบ ๓๔๐ (Saab 340 AEW) กองทัพอากาศไทย (RTAF) ช่วยให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศเชิงรับมีขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถจะใช้เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศได้ไกลกว่าในอดีต รวมทั้งควบคุมสั่งการเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๑๖เอ (รุ่นปรับปรุงใหม่) และเครื่องบินขับไล่แบบกริเพ่น(Gripen JAS-39C/D) เข้าปฏิบัติการทางอากาศต่อเป้าหมายที่เป็นภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็วและได้เปรียบทางยุทธวิธี พร้อมทั้งยังสามารถจะให้ข้อมูลที่สำคัญในพื้นที่ปฏิบัติการกับเรือรบหลักคือ เรือรบหลวงนเรศวร(FFG-441, ระวางขับน้ำขนาด ๒,๙๘๐ ตัน), เรือรบหลวงตากสิน (FFG-442, ระวางขับน้ำขนาด ๒,๙๘๐ ตัน), เรือรบหลวงจักรีนฤเบศร (CV-911, ระวางขับน้ำขนาด ๑๑,๕๔๐ ตัน) และเรือฟรีเกตจรวดนำวิถีลำใหม่ (กำลังต่ออยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้ชั้น KDX-I ระวางขับน้ำขนาด ๓,๙๐๐ ตัน ประจำการปี พ.ศ.๒๕๖๑ติดตั้งระบบ Tactical Datalink รวมทั้งเรือรบที่ได้ติดตั้งระบบนี้ไปแล้วสามลำ) ระบบเตือนภัยทางล่วงหน้าทางอากาศจากเครื่องบินมีความสำคัญยิ่งในด้านความมั่นคงของประเทศในยุคปัจจุบัน และในอนาคต