27 ก.พ.62 – การประชุมคณะทำงานฝ่ายกลาโหมจากประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา วางแนวทางการหารือ ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนหรือ ADMM ครั้งที่ 13 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM-Plus ครั้งที่ 6 ในปี 2562
พลเอกรักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน (ADSOM WG) และการประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียนกับเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมประเทศคู่เจรจา(ADSOM-PLUS WG)ในวันที่ 26 ก.พ. – 1 มี.ค.62 ณ โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า จ.ภูเก็ต เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่กระทรวงกลาโหมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนหรือ ADMM และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM-Plus ในเดือนพฤศจิกายนปี 2562
สำหรับวันนี้ เป็นการประชุมคณะทำงานฝ่ายกลาโหมระดับผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหมจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ และผู้แทนเลขาธิการอาเซียน เพื่อร่วมกำหนดหัวข้อในการหารือ รวมทั้งเตรียมการด้านเอกสารที่เกี่ยวกับการประชุม และด้านธุรการอื่นๆ เช่น รายงานความคืบหน้าของความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบอาเซียน การพิจารณาร่างปฏิญญาร่วมและร่างแถลงการร่วมต่างๆ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 13 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 6 การหารือถึงความเป็นไปได้ในการเป็นประธานร่วมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญต่างๆในกรอบ ADMM-Plus ในวงรอบใหม่ (เม.ย.63-เม.ย.66) การหารือการคัดเลือกประเทศผู้สังเกตการณ์ของคณะทำงาน รวมถึงความคืบหน้าด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสมาชิกอาเซียน ซึ่งในประเทศไทย ทางกระทรวงกลาโหมได้พยายามผลักดันให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านยุทโธปกรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อจะนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เข้มแข็งต่อไป
นอกจากนี้ในที่ประชุมฯ ทางไทยยังได้มีการนำเสนอความคิดริเริ่มใหม่ๆสำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียน ทั้งเอกสารประเมินการดำเนินการของแต่ละความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุม ADMM ที่มุ่งเน้นการลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานด้านความมั่นคงเพื่อใช้ทรัพยากรต่างๆได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เอกสารว่าด้วยบทบาทฝ่ายทหารอาเซียนในการสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดน รวมทั้ง เอกสารการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้ความควบคุมของภูมิภาค ซึ่งฝ่ายทหารสามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยให้การยอมรับเอกสารการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามหลักสากลที่ไทยจะจัดทำขึ้น ซึ่งเอกสารนี้ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายและเป็นไปตามความสมัครใจของกลาโหมอาเซียน
27
ก.พ.