หากจะตั้งคำถามต่อประชาชนชาวไทยว่า ท่านทราบหรือไม่ว่าวันที่ ๒๕ เมษายนเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศนี้ คงจะมีเพียงน้อยคนที่จะทราบว่าวันดังกล่าวมีความสำคัญอะไรต่อประวัติศาสตร์ของชาติซึ่งแม้แต่ในอดีตผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าไม่ทราบจริงๆ ว่ามีความสำคัญอย่างไร จนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ได้มีโอกาสเป็นผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมไปร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี จึงทำให้ทราบถึงความสำคัญของวันที่ ๒๕ เมษายน

ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะตำหนิประชาชนชาวไทยหลายคนที่ไม่ทราบถึงความสำคัญของวันที่ ๒๕ เมษายนแต่อย่างใด หากแต่ขอแสดงความเสียใจต่อสังคมไทยที่เราขาดความรับรู้ในข้อมูลข่าวสารทางประวัติศาสตร์และขอบอกเตือนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าท่านควรให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้แก่สังคมไทยได้รับทราบให้มากกว่านี้

ผู้เขียนขอเรียนว่า เดิมทีมีความยินดีที่ทางจังหวัดสุพรรณบุรีจัดงานวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นวันถวายการรำลึกถึงองค์มหาราชที่ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติบ้านเมือง ทรงกู้เอกราชและทรงปลดแอกความเป็นประเทศราชของประเทศคู่สงครามในอดีตจนประเทศไทยมีความเป็นไทเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่เมื่อติดตามการบริหารจัดการแล้วขอเรียนตามตรงว่า ค่อนข้างไม่สบายใจว่าเหตุใดเราจึงอ่อนด้อยในเรื่องการให้ข่าวสารอันเป็นประโยชน์ทางประวัติศาสตร์หรือทางสังคมต่อพี่น้องประชาชนถึงเพียงนี้ งานวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่ควรเป็นเพียงงานของอำเภอหรืองานของจังหวัดเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นงานของประชาชนชาวไทยทุกคน และกิจกรรมที่สำคัญของการจัดงานควรเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นเพียงงานออกร้านจำหน่ายสินค้าหรือจัดคอนเสิร์ตของวงดนตรีเพื่อชีวิตที่มีความจงรักภักดีจัดแสดงให้ประชาชนบางส่วนร่วมกิจกรรม

ท่านผู้อ่านคงทราบดีว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงตรากตรำพระวรกายเป็นอย่างมากเพื่อการกอบกู้เอกราช การสร้างความมั่นคงของชาติ และการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ชาติบ้านเมือง ซึ่งพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือทรงประกาศอิสรภาพณ เมืองแครง ในปีพุทธศักราช ๒๑๒๕ และทรงแสดงพระกฤษฎานุภาพมีชัยในยุทธหัตถีต่อพระมหาอุปราชา ในปีพุทธศักราช ๒๑๓๕ นอกจากนี้ ยังทรงกระทำศึกสงครามเพื่อประเทศชาติตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์แม้ในกาลสวรรคตเมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๔๘ ก็ทรงอยู่ระหว่างการดำเนินพระราชกรณียกิจการศึกสงครามของบ้านเมือง ซึ่งเป็นการเดินทัพเพื่อเข้าตีกรุงหงสาวดีในคราวที่ ๓ หลังจากดำเนินการไม่สำเร็จในปีพุทธศักราช ๒๑๓๙ และ๒๑๔๒ เนื่องจากการเตรียมพร้อมในเรื่องของเสบียงอาหารไม่เพียงพอและไม่พร้อมที่จะรับศึกหลายด้าน กล่าวคือ กองทัพจากเมืองตองอูกองทัพจากเมืองอังวะ และกองทัพจากเมืองแปร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนการที่ทัพหงสาวดีได้เคยยกกองทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ซึ่งตามบันทึกในแบบเรียนประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่า

“…สมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกกองทัพออกจากพระนครเมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง (พุทธศักราช ๒๑๔๘) เสด็จโดยกระบวนเรือจากพระตำหนักป่าโมก แล้วเสด็จขึ้นบกที่ตำบลเอกราชไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลพระหล่อ แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพชรสู่เมืองเชียงใหม่ ครั้นเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่หนึ่งเดือน แล้วโปรดให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝางส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ครั้นเสด็จถึงเมืองหางแล้วก็ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทงุ่ แก้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์แล้ว กลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้าสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จฯ มาถึงได้ ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง (ตรงกับวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๑๔๘) สิริพระชนมพรรษา ๔๙ พรรษาเศษ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๔ ปีเศษ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยา…”

ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพทรงพระวิริยะ อุตสาหะ ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ นับแต่ยังทรงพระเยาว์เพื่อเป็นองค์ประกัน ณ ประเทศคู่สงคราม ทรงพระราชกรณียกิจราชการสงครามน้อยใหญ่เพื่อปกป้องพระราชอาณาเขตสยาม รวมถึง ๑๕ ครั้ง ทรงปราบปรามอริราชศัตรู ขจัดภัยสงคราม และทรงนำพสกนิกรชาวสยามให้มีความรักชาติดำรงความกล้าหาญ จนสามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติสุข พระวีรกรรมของพระองค์ในฐานะวีรกษัตริย์ของชาติ พระองค์ได้ตราบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ เพื่อทรงประกอบพระราชกรณียกิจ โดยเฉพาะการทำสงครามกอบกู้เอกราชของชาติ และทรงพิทักษ์ปกป้องรักษาผืนแผ่นดินผืนนี้ไว้ ให้เป็นสมบัติของอนุชนชาวสยามโดยมิได้ทรงคำนึงถึงความยากลำบากตรากตรำพระวรกาย ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ทรนงองอาจ กล้าเผชิญปัญหาความมั่นคงของชาติทุกประการ

ในวโรกาส ๔๑๐ ปี แห่งกาลสวรรคตขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๘ นี้ผู้เขียนใคร่ขอเรียนเชิญประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ เพื่อดำรงไว้ซึง่ ประโยชนส์ ขุ และเกยี รตภิ มู ขิ องประเทศชาติรวมทั้ง ความสงบสุขของบ้านเมืองและประชาชนส่วนรวม พร้อมกับขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมกันตระหนักและสำนึกในบุญคุณของประเทศชาติ ดำรงความมุ่งมั่นสร้างสรรค์คุณประโยชน์ และเจริญรอยตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในการร่วมใจกันปกป้องราชอาณาจักรไทยผืนนี้ให้มีความยั่งยืนมั่นคงตราบจิรัฐิติกาลต่อไป