กองทัพเรือได้กำหนดให้วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันอาภากร เนื่องจากเป็นวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” วารสารหลักเมืองฉบับเดือนพฤษภาคมนี้ จึงขอน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้ทรงพัฒนากิจการทหารเรือให้มีความเข้มแข็งมั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ มาตราบเท่าทุกวันนี้
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์” เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๓ ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษา และเข้ารับราชการทหารเรือแล้ว พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ และริเริ่มการใช้ระบบการปกครองบังคับบัญชาตามระเบียบการปกครองในเรือรบ คือ การแบ่งให้นักเรียนชั้นสูง บังคับบัญชารองลงมานอกจากนั้น ทรงจัดเพิ่มวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือขึ้น เพื่อให้สำเร็จผู้การศึกษา สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต พีชคณิต ฯลฯ
ในปี ๒๔๔๓ พระองค์ได้ทรงเข้ารับราชการในกรมทหารเรือโดยได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท (เทียบเท่า นาวาตรี ในปัจจุบัน)
พระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกองทัพเรือกำหนดแบบสัญญาณธงสองมือและโคมไฟทรงริเริ่มกำหนดแบบสัญญาณธงสองมือและโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพลอาณัติสัญญาณ(ทัศนสัญญาณ) ขึ้นเป็นครั้งแรก ทหารเหล่าทัศนสัญญาณ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปีนี้ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงทำการในตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือจนถึง พ.ศ.๒๔๔๙ จึงได้ทรงเป็น เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ เมื่อพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือแล้วได้ทรงแก้ไข ปรับปรุงการศึกษาระเบียบการในโรงเรียนนายเรือทุกอย่าง ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายวิชาการ ให้รัดกุมทัดเทียมอารยประเทศ เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนี้เป็นนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถเสมอด้วยกับนายทหารเรือต่างประเทศ และสามารถทำการแทน ในตำแหน่งชาวต่างประเทศที่รับราชการอยู่ในกองทัพเรือในขณะนั้นอีกด้วย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแก้ไข ปรับปรุงระเบียบการศึกษาให้มีความก้าวหน้า แต่สถานที่ตั้งโรงเรียนนายเรือนั้นไม่มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งที่มั่นคงต้องโยกย้ายสถานที่เรียนบ่อยๆ ซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนนายเรือไม่ดีเท่าที่ควร พระองค์จึงทรงพยายามทุกวิถีทาง ที่จะปรับปรุงกิจการด้านนี้ให้ก้าวหน้าจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานที่เพื่อตั้งเป็นโรงเรียนนายเรือ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๙ ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่งคงนับแต่นั้น และกองทัพเรือได้ยึดถือเอาวันดังกล่าวของทุกปีเป็นวัน “กองทัพเรือ”
ในด้านการดนตรี พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก็มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง เพลงพระนิพนธ์ของกรมหลวงชุมพรฯ ทุกเพลง จะมีเนื้อหาปลุกใจ ให้มีความรักชาติ กล้าหาญ ยอมสละชีวิตเพื่อชาติ อาทิ เพลงดอกประดู่ เพลงเดินหน้า เพลงดาบของชาติ เป็นต้น ซึ่งเพลงพระนิพนธ์ของพระองค์ท่านนับว่าเป็นเพลงปลุกใจที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เพราะทหารเรือทุกนายได้ขับร้องเพลงเหล่านี้สืบต่อกันมาตราบจนปัจจุบันนับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๘๐ ปี ดังนั้นจึงนับได้ว่าเพลงปลุกใจของพระองค์ จึงเป็นเพลงอมตะของทหารเรือ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเป็นอมตะอยู่ในจิตใจของทหารเรือตลอดเวลา
ในด้านการแพทย์นอกจากพระองค์จะทรงเป็นนักยุทธศาสตร์แล้ว ด้านการแพทย์แผนโบราณ พระองค์ก็ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง โดยในขณะที่เสด็จในกรมฯ ได้ทรงออกจากประจำการชั่วคราว ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๕๔- พ.ศ.๒๔๕๙ พระองค์ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองโดยทรงตั้งชื่อตำรายาเล่มนี้ว่า “พระคัมภีร์อติสาระวรรคโบราณะกรรมและปัจจุบันนะกรรม” ซึ่งสมุดเล่มดังกล่าวปัจจุบันได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือสมุทรปราการ
ในด้านการรักษาพยาบาลพระองค์ได้ทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนจีน จนกระทั่งชาวจีนย่านสำเพ็งซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณเรียกพระองค์ท่านว่า “เตี่ย” (พ่อ) ซึ่งต่อมาทหารเรือได้เรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” ขณะที่คนไข้ชาวไทยมักเรียกพระองค์ว่า “หมอพร”
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักด์ ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในขณะที่ประทับอยู่ที่หาดทรายรีปากน้ำเมืองชุมพร เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๖ สิริพระชนมายุได้ ๔๔ พรรษา
ถึงแม้ว่า พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จะสิ้นพระชนม์มาเป็นระยะเวลานานถึง ๙๒ ปี แล้วก็ตาม แต่พระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพเรืออย่างมหาศาลนั้น ทำให้กิจการของกองทัพเรือเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ ที่พระองค์ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการ ทหารเรือไทยให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงมีสมรรถภาพ สามารถทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติทางทะเลได้เป็นอย่างดีตลอดมา จนทหารเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างก็ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างมิรู้ลืม จึงพร้อมใจกันถวายสมัญญานาม พระองค์ท่านว่า“องค์บิดาของทหารเรือไทย” และถือเอาวันที่๑๙ พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันอาภากร