ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอยู่ที่ประมาณ ๕๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากที่มีราคาประมาณ ๑๑๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบ
ปัจจุบันองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) เป็นกลุ่มประเทศหลักที่ผลิตน้ำมันดิบออกจำหน่ายทั่วโลก มีความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ ๒๙ ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นร้อยละ๓๕ ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกนอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบที่ไม่ได้เป็นสมาชิก OPEC ที่สำคัญเช่น สหรัฐอเมริกา และสหพันธรัฐรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน(Shale Oil) ได้จำนวนมาก แต่ยังคงมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง (๔๐ – ๖๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ OPEC มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ ๑๐ – ๒๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งทั้ง ๒ กลุ่ม มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
จากการที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันดิบลดลงส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงตามไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมา OPEC จะเป็นผู้สร้างสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำมันดิบกับปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยหากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบมีจำนวนมาก OPEC จะร่วมกันลดกำลังการผลิตเพื่อไม่ให้เกิดภาวะปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาด แต่ขณะนี้ OPEC มิได้ลดกำลังการผลิต ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกมีปริมาณสูง และส่งผลให้ราคาลดลงอย่างมาก
สาเหตุที่ OPEC ไม่ลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ จากบทวิเคราะห์ของนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ข้อคิดเห็นแยกเป็น ๒ ประเด็น ดังนี้
ประเด็นทางเศรษฐกิจเกิดจากการกำหนดทิศทางของประเทศที่ร่ำรวยใน OPEC เช่น ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย รัฐคูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ไม่ยอมลดปริมาณการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่างๆ นอก OPEC มีการพัฒนาเทคโนโลยีและค้นพบปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่สามารถผลิต Shale Oil ได้มากขึ้นจนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดบางส่วนในทวีปเอเชียจาก OPEC ทำให้ OPEC ต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อต้องการให้มีผลกระทบต่อโครงการShale Oil ของสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการผลิตสูงรวมทั้งโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นในปัจจุบัน
ประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศมีการตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายเศรษฐกิจของรัสเซีย และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน กดดันให้รัสเซียยุติการแทรกแซงปัญหาของยูเครน และกดดันให้อิหร่านยอมเจรจาหาข้อสรุปในปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ รัสเซีย และอิหร่าน มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันดิบ และปัจจุบันทั้ง ๒ ประเทศประสบปัญหาด้านการส่งออกจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอยู่แล้ว การที่น้ำมันดิบราคาตกต่ำลงจึงได้รับผลกระทบโดยตรง
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (U.S. Energy Information Administration-: EIA) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวโดยเฉลี่ยที่ ๕๘ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี ๒๕๕๘ และเพิ่มขึ้นเป็น ๗๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี ๒๕๕๙
สาเหตุที่ OPEC ไม่ลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น มีความเป็นไปได้ทั้งประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามประเด็นทางเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้สูงกว่า เนื่องจาก OPEC มีมาตรการที่ใช้ดำเนินการต่อกรณีภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำด้วยการปรับลดปริมาณการผลิต ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรทำหน้าที่รักษาดุลการผลิตน้ำมันดิบของโลกเพื่อรักษาระดับราคาของน้ำมันดิบไม่ให้ต่ำเกินไป อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า OPEC ที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นแกนหลัก ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ต่อกรณีนี้อย่างชัดเจน ด้วยการให้ความสำคัญอย่างมากกับส่วนแบ่งการตลาดเพื่อไม่ให้ประเทศตนและสมาชิกต้องสูญเสียผลประโยชน์ให้กับผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกกลุ่มOPEC อีกต่อไป ซึ่งทุกครั้งที่ OPEC ลดกำลังการผลิตลง กลุ่มประเทศนอก OPEC กลับเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของไทย เป็นโอกาสในการบริหารจัดการโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามกลไกตลาด ผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมจากต้นทุนพลังงานที่ต่ำลง และเป็นโอกาสในการปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกโดยเฉพาะรัสเซีย ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในเรื่องปริมาณนักท่องเที่ยว ปริมาณสินค้าส่งออก และธุรกิจระหว่างประเทศของไทยที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ต่ำลงอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่จะมีราคาลดลงตามต้นทุนพลังงานที่ต่ำลง ทั้งนี้ ในส่วนกระทรวงกลาโหม นั้น น่าจะส่งผลดีในด้านการส่งกำลังบำรุงในภาพรวมเนื่องจากค่าใช้จ่าย สป.๓ ลดลง ส่งผลให้การปฏิบัติภารกิจในความรับผิดชอบของหน่วยโดยเฉพาะการปฏิบัติราชการสนามชายแดนการฝึกศึกษา และการปฏิบัติงานธุรการทั่วไปเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้