อดีตนายกรัฐมนตรี ลีกวนยูของสิงคโปร์นั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้ประเทศสิงคโปร์กลายเป็นดินแดนที่มีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “อาเซียน” ตลอดจนทำให้สิงคโปร์สามารถก้าวผ่านจากความสำเร็จในระดับภูมิภาคไปสู่ความเป็น “ดินแดนแห่งการค้าและความสำเร็จ” (Land of Trade and Triumph) ที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกในที่สุด ซึ่งนอกจากความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจแล้ว นายลีกวนยูยังมีบทบาทอย่างสูงในด้านความมั่นคงของสิงคโปร์ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทัพในช่วงแรกของการได้รับเอกราช จนส่งผลให้กองทัพสิงคโปร์มีประสิทธิภาพที่น่าเกรงขามกองทัพหนึ่งของอาเซียนดังเช่นในปัจจุบัน
ในอดีตที่ผ่านมากองทัพสิงคโปร์ถูกมองจากโลกภายนอกว่าเป็นกองทัพที่มีเพียงแต่ยุทโธปกรณ์อันทรงอานุภาพ แต่อาจต้องประสบปัญหาหากต้องเข้าสู่สนามรบจริง โดยมีการเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางช่วงที่ประเทศคูเวต ซึ่งมีลักษณะการจัดกองทัพคล้ายกับประเทศสิงคโปร์ และมีเศรษฐกิจที่ร่ำรวย ตลอดจนมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทรงประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานการบุกของกองทัพอิรัก ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ได้ อย่างไรก็ตามความแตกต่างของกองทัพสิงคโปร์และกองทัพคูเวตที่เห็นได้ชัดคือ การมีมาตรฐานการจัดกำ ลังรบ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริง ที่ประกอบไปด้วยกำลังทหารที่มีจิตใจห้าวหาญ รุกรบและพร้อมที่จะรับมือกับการรุกรานจากภายนอกประเทศสิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่การก่อตั้งกองทัพสิงคโปร์ว่ามีรากฐานมาจากที่ใด
ในหนังสือเรื่อง “จากประเทศโลกที่สามสู่ความเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง : เรื่องราวของสิงคโปร์ ๑๙๖๕ – ๒๐๐๐” (From Third World to First : The Singapore Story 1965-2000) เขียนโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ลีกวนยู ได้เปิดเผยเรื่องราวที่ถูกปกปิดมานานกว่า ๔๐ ปีว่า กองทัพสิงคโปร์นั้นแท้จริงแล้วได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยกองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces) ตั้งแต่สิงคโปร์ประกาศเอกราชจากมาเลเซียเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ แม้ว่าในเวลานั้นอินเดียและอียิปต์ได้เสนอความช่วยเหลือในการจัดตั้งกองทัพสิงคโปร์เช่นเดียวกันก็ตาม แต่ได้รับการปฏิเสธอย่างนุ่มนวลจากนายลีกวนยูในช่วงต้นๆ ของการประกาศเอกราชกองทัพสิงคโปร์มีกำลังทหารป้องกันอธิปไตยเพียง ๒ กรมทหารราบเท่านั้น ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารอังกฤษ อีกทั้งทหารจำนวน ๒ ใน ๓ ก็ไม่ได้เป็นประชากรสิงคโปร์ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนแรกของสิงคโปร์คือ นายโก๊ะ เคง สวี (Goh Keng Swee) จึงได้ติดต่อไปยังอดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยคือ นายมอร์เดชาอี ไคดรอน (Mordechai Kidron) เพื่อขอรับการสนับสนุนในการจัดตั้งกองทัพเนื่องจากในขณะนั้นสิงคโปร์และอิสราเอลยังไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตจนถึงระดับที่มีการตั้งสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในสิงคโปร์เลย (อิสราเอลเปิดสถานทูตของตนในสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒) และในเวลาไม่กี่วันไคดรอน ก็เดินทางมาถึงสิงคโปร์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วย “มอสซาด” (Mossad) ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับชื่อก้องโลกของอิสราเอล
รัฐมนตรีว่าการกลาโหมสิงคโปร์ได้พาชาวอิสราเอลทั้งสองคนพร้อมกับภารกิจลับที่สุด เดินทางเข้าพบนายลีกวนยู เพื่อร่วมหารือกัน การหารือดังกล่าวส่งผลให้นายยิตซัค ราบิน (Yitzhak Rabin) เสนาธิการทหารของกองทัพอิสราเอล (ต่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๕ ของอิสราเอล) ได้อนุมัติให้ส่งพลตรีเรฮาวาม เซ’อีวี (Rehavam Ze’evi) หรือที่มีสมญาว่า “คานธี” (Gandhi) ซึ่งดำรงตำแหน่งรองเจ้ากรมยุทธการของกองทัพอิสราเอลเดินทางมาสิงคโปร์เพื่อเตรียมการทั้งหมดโดย “คานธี” ได้กล่าวกับนายลีกวนยูและฝ่ายสิงคโปร์ว่า “.. แทนที่จะสร้างกระทรวงกลาโหมและฝ่ายเสนาธิการ เราต้องการจะสร้างกองทัพบกสิงคโปร์ที่มีศักยภาพยอดเยี่ยม และมันเป็นการสร้างบางสิ่งบางอย่างที่อิสราเอลไม่เคยกระทำมาก่อน ..”
การเดินทางเข้ามาของที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลในภารกิจนี้เป็นความลับ ดังที่นายลีกวนยูได้อธิบายในหนังสือของเขาว่า สิงคโปร์ต้องมั่นใจว่า การส่งความช่วยเหลือของอิสราเอลเข้ามาในสิงคโปร์จะต้องไม่ถูกแพร่งพรายออกไปเพราะในเวลานั้นอิสราเอลกำลังมีปัญหากับชาติมุสลิมอาหรับและในขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน และมีที่ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศมุสลิมคือมาเลเซียและอินโดนีเซีย “..เราต้องปกปิดแม้กระทั่งเรียกพวกอิสราเอลว่า “พวกเม็กซิกัน” (Mexican) ..” นายลีกวนยูบันทึกไว้ในหนังสือของเขา
ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลจำนวน ๖ นายก็เดินทางมายังสิงคโปร์เพื่อปฏิบัติภารกิจในการจัดตั้งหน่วยทหารราบของกองทัพสิงคโปร์ตลอดจนกำหนดหลักนิยมในการรบบนพื้นฐานของการสร้างกองทัพสิงคโปร์ให้สามารถยืนหยัดและก้าวไปสู่ความเป็นกองทัพมืออาชีพด้วยลำแข้งของตนเอง มิใช่การสร้างสิงคโปร์ให้เป็นอาณานิคมของอิสราเอลเหมือนดังที่มหาอำนาจตะวันตกบางประเทศกำลังดำเนินการอยู่ในอินโดจีนขณะนั้น ภารกิจแรกของพวกเขาคือการสร้างนักเรียนนายร้อยชาวสิงคโปร์เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นผู้บังคับบัญชาและครูฝึกของกองทัพ ภารกิจที่สองคือการมอบหมายให้นักเรียนนายร้อยที่กำลังได้รับการฝึกให้เป็นนายทหารเหล่านั้น เขียนคู่มือการปฏิบัติการรบต่างๆ ขึ้นเองตามธรรมชาติของการรบในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งแตกต่างจากการรบในทะเลทรายของอิสราเอล โดยมีที่ปรึกษาทางทหารชาวอิสราเอลทั้งหมดคอยปรับแต่งเนื้อหาให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และภารกิจที่สามคือการฝึกภาคปฏิบัติที่มีครูฝึกของกองทัพสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการฝึก นับแต่นั้นมาที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลก็เริ่มทำการฝึกทหารสิงคโปร์จำนวน ๓๐๐ นายที่คัดเลือกมาจากผู้สมัครจำนวนกว่า ๒,๕๐๐ นาย พร้อมกับจัดหลักสูตรผู้บังคับหมวดและหลักสูตรนายทหารตามแผนการฝึกขั้นพื้นฐานที่ส่งตรงมาจากประเทศอิสราเอล ไม่นานนักก็มีนายทหารสิงคโปร์จำนวน ๑๑๗ นายจากทั้งหมด ๓๐๐ นายที่สามารถผ่านการฝึกเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ส่วนที่เหลือได้รับการพิจารณาว่าไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะเป็นนายทหาร แต่ก็ยังคงอยู่ในกองทัพต่อไปโดยมีชั้นยศนายสิบ ซึ่งต่อไปนายสิบเหล่านี้จะกลายเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญของกองทัพสิงคโปร์เช่นเดียวกับนายทหารสัญญาบัตรเมื่อมีนายทหารและกำลังพลที่มีความเป็นทหารอาชีพมากพอที่จะเปิดหลักสูตรนายทหารฝ่ายเสนาธิการแล้ว ที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลก็เริ่มขยายขนาดของกองทัพ มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกของกองทัพสิงคโปร์ขึ้น (Training Centre of Singapore Armed Forces) ที่เมือง “ปาเซอร์ ลาบา” (Pasir Laba) และเริ่มการเกณฑ์ชายหนุ่มสิงคโปร์ที่มีอายุระหว่าง ๑๘ – ๒๔ ปีเข้าเป็นทหาร เพื่อจัดตั้งกรมทหารราบเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม ๒ กรมเป็น ๔ กรม แต่ละกรมมีผังการจัดตามแบบของกองทัพอิสราเอล คือในแต่ละกรมจะมีกองร้อยปืนเล็กยาวจำนวน ๓ กองร้อยและกองร้อยสนับสนุน ๑ กองร้อยพร้อมกองร้อยกองบังคับการกรม มีกำลังพลรวม ๖๐๐ นาย ทหารอิสราเอลพบว่าการเกณฑ์ทหารในสิงคโปร์มีปัญหามาก เนื่องจากสิงคโปร์มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีน มีการศึกษาดีและมีงานทำ เหลือเพียงคนว่างงานเท่านั้นที่ต้องการหรือสมัครใจเป็นทหารเพียงเพื่อหาเลี้ยงชีพ การเกณฑ์ทหารในสิงคโปร์ในระยะแรกจึงกลายเป็นแหล่งสำหรับคนว่างงานและไร้การศึกษา
ที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลพยายามอธิบายให้นายลีกวนยู เข้าใจว่าคุณภาพทางการศึกษาของทหารมีความสำคัญมากเพียงใด และหากได้ทหารเกณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ การสร้างกองทัพจะมีอุปสรรคแต่นายลีกวนยู และนายโก๊ะเคงสวี รัฐมนตรีกลาโหมของสิงคโปร์ในขณะนั้นชี้แจงว่า การสู้รบในสิงคโปร์ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ทหารอังกฤษส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงกว่าทหารญี่ปุ่นแต่การศึกษาไม่ได้ทำให้อังกฤษชนะสงครามในทางตรงข้ามทหารญี่ปุ่นที่มีความคิดและการศึกษาขั้นพื้นฐานธรรมดาต่างหากที่เป็นฝ่ายกำชัยชนะ อีกทั้งทหารญี่ปุ่นยังเป็นทหารที่ยอดเยี่ยมในการปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดและปราศจากข้อโต้แย้ง
ที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลโต้แย้งนายลีกวนยูว่า ชัยชนะที่เกิดขึ้นในการรบสิงคโปร์นั้นเกิดขึ้นเพราะทหารญี่ปุ่นมีแรงจูงใจที่พร้อมจะสละชีวิตเพื่อองค์จักรพรรดิ์ และเพื่อความยิ่งใหญ่ของประเทศ ส่วนทหารอังกฤษนั้นมีแรงจูงใจน้อยกว่าเพราะพวกเขาต่อสู้ห่างจากบ้านเกิดเมืองนอนนับพันกิโลเมตรคำว่า “แรงจูงใจ” นี้เองที่ทำให้นายลีกวนยูคล้อยตาม และเริ่มการสร้างแรงจูงใจให้กับชาวสิงคโปร์ในการพัฒนาประเทศและพัฒนากองทัพอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเมื่อที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลวางแผนสร้างทหารอาชีพและทหารกองประจำการแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการสร้างกองกำลังสำรองตามแบบฉบับของอิสราเอล นั่นคือ ประชากรสิงคโปร์ทุกคนต้องเป็นทหารและเมื่อเข้ารับราชการครบตามกำหนด ๒ ปีแล้ว จะต้องรับใช้ชาติต่อไปอีก ๑๓ ปีหรือจนกระทั่งอายุ ๓๓ ปี รวมทั้งมีการวางระบบการเรียกกำลังสำรองเข้าทำการฝึกแบบไม่คาดหมายและไม่มีการแจ้งล่วงหน้า (surprise call-up exercise) โดยการฝึกกำลังสำรองดังกล่าว สิงคโปร์ได้ใช้พื้นที่ของมิตรประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงเป็นสถานที่ฝึก เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่ทำให้สิงคโปร์ไม่เหมาะสมกับการฝึกด้วยกระสุนจริง
หลังจากที่กองทัพสิงคโปร์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว นายลีกวนยูจึงขอให้ที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลวางแผนการฝึกให้กับทหารสิงคโปร์ โดยทหารอิสราเอลต่างทำการศึกษายุทธวิธีการรบของทหารญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเจาะลึกว่า เพราะเหตุใดทหารญี่ปุ่นจึงประสบความสำเร็จในการยึดมาเลเซียและสิงคโปร์ การศึกษานี้ทำให้มีการจัดตั้งกองกำลังทางเรือขึ้น โดยอิสราเอลได้ส่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการ สังกัดกรมยุทธการ กองทัพเรืออิสราเอล ผู้ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีแบบ “เกเบรียล” (Gabriel) อันลือชื่อของอิสราเอล มาวางแผนสร้าง “กองเรือยุคใหม่” ให้กับกองทัพเรือสิงคโปร์ มีการจัดตั้งโรงเรียนทหารเรือสิงคโปร์ที่เกาะ “เซนโตซ่า” (Sentosa) ซึ่งมีนักเรียนนายเรือรุ่นแรกจำนวน๑๖๐ นายเข้ารับการฝึกศึกษา และได้รับการสนับสนุนครูฝึกจากกองทัพเรือนิวซีแลนด์หลังจากนั้นเรือตรวจการณ์ความเร็วสูงลำแรกของกองทัพเรือสิงคโปร์ที่ผลิตในอังกฤษก็ได้รับการปล่อยลงน้ำ นั่นคือเรือ อาร์เอสเอส อินดี เพนเดนซ์ (RSS Independence) ซึ่งเรือชุดนี้มีทั้งหมด ๖ ลำ สองลำแรกผลิตในอังกฤษ ส่วนเรือที่เหลืออีก ๔ ลำ สิงคโปร์ทำการผลิตเองในประเทศ ก่อนที่จะขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมต่อเรือที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทัพเรือสิงคโปร์สามารถต่อเรือหลายๆ ชนิดได้ตามความต้องการของตน พร้อมกับส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกดังเช่นในปัจจุบันในส่วนของกองทัพบกสิงคโปร์ ซึ่งมีการจัดระบบกองทัพแบบอิสราเอล ด้วยการใช้กำลังทหารประจำการจำนวนไม่มากนักและใช้เท่าที่จำเป็น ตลอดจนใช้แนวคิด “การทวีกำลังรบ” (Force Multiplier) คือ แม้มีกำลังพลน้อยแต่ก็ยกระดับให้มีอำนาจกำลังรบสูง โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการประสานงานการรบของทั้งสามเหล่าทัพ โดยกำลังพลส่วนใหญ่คือทหารกองประจำการและกองกำลังสำรอง แต่กำลังทหารทั้งกองประจำการ ทหารเกณฑ์และกองกำลังสำรองจะได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่องปีละหลายครั้ง ส่วนใหญ่การฝึกเหล่านี้จะมีขึ้นในต่างประเทศ เช่นออสเตรเลีย บรูไน ไต้หวัน ไทย และสหรัฐฯ ซึ่งการฝึกเหล่านี้ส่งผลให้ทหารสิงคโปร์ได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่หลากหลายจากกองทัพนานาประเทศ ทำให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นทหารมืออาชีพที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ เป็นต้นมา กองทัพบกสิงคโปร์ได้ส่งกำลังพลเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการรักษาสันติภาพทั้งในกรอบของสหประชาชาติและในกรอบขององค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ อันเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจของทหารสิงคโปร์ให้สูงเพิ่มมากขึ้นไปอีกด้วย
แนวคิดหนึ่งที่นายลีกวนยู มุ่งเน้นในการสร้างกองทัพสิงคโปร์คือ พยายามให้อิสราเอลถ่ายทอดวิทยาการต่างๆ ให้กับสิงคโปร์อย่างได้ผล โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ ซึ่งอิสราเอลได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แนวคิดนี้ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีสูงที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีด้วยรีโมทคอนโทรล, ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์, ระบบตรวจการณ์หาข่าว, ระบบการควบคุมสั่งการ การมีกองทัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงประกอบกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ส่งผลให้กองทัพสิงคโปร์มีการใช้ขีปนาวุธและอาวุธปล่อยนำวิถีทั้งจากอากาศพื้นดินและพื้นน้ำเป็นอาวุธหลักชนิดหนึ่งในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของตน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดของอิสราเอลในการใช้เครือ่ งบนิ รบทีมี่เทคโนโลยีทันสมัยในการครองความเป็นเจ้าอากาศเหนือน่านฟ้า ซึ่งกองทัพอิสราเอลเคยใช้และประสบความสำเร็จในการรบมาโดยตลอด ได้ส่งผลให้สิงคโปร์มีกองทัพอากาศที่ทรงประสิทธิภาพและแข็งแกร่งที่สุดกองทัพหนึ่งในอาเซียน
ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและการทุ่มเทอย่างมากของอดีตนายกรัฐมนตรี ลีกวนยู ตลอดจนที่ปรึกษาทางทหารของอิสราเอลในการพัฒนากองทัพสิงคโปร์นี้เอง ที่ส่งผลให้กองทัพสิงคโปร์มีแนวคิดและหลักนิยมที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ ด้วยการรวมกำลังประชาชนสิงคโปร์ให้เป็นหนึ่งเดียวในกองทัพ ทั้งทหารหลักและกำลังสำรอง ดังคำกล่าวที่ว่า “ทุกคนล้วนมีหน้าที่ในการปกป้องสิงคโปร์” (Everyone involved in the defense of Singapore) ไม่ต่างจากกองทัพอิสราเอลที่เป็นต้นฉบับของการพัฒนา ซึ่งสามารถกำชัยชนะเหนือข้าศึกที่มีกำลังรบเหนือกว่าอย่างมากในตะวันออกกลางจนกลายเป็นที่ครั่นคร้ามไปทั่ว ด้วยพื้นฐานแห่งการพัฒนาที่เยี่ยมยอดดังกล่าวนี้เอง เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้กองทัพสิงคโปร์จะก้าวจากความเป็นสุดยอดของกองทัพของอาเซียน ไปสู่ความเป็นสุดยอดของกองทัพในประชาคมโลกต่อไป