กองทัพอากาศอินโดนีเซียจัดซื้อจรวดนำวิถีแบบมาเวอริค (AGM-65K, Maverick) จำนวน ๑๘ ลูกเป็นเงิน ๒๕ ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา เอฟ-๑๖ซี/ดี (F-16C/D Block 25) รวม ๒๔ เครื่อง ต้องทำการปรับปรุงใหม่จึงนำเข้าประจำการมีชื่อเรียกใหม่ว่า เอฟ-๑๖ซี/ดี บล็อก ๕๒ไอดี (F-16C/D Block 52 ID) ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับมอบ ประจำการฝูงบินที่ ๑๖ ฐานทัพอากาศสุลต่านไซริฟควาซิม-II (Sultan Syarif Qasim II) จังหวัดเปอกันบารู เกาะสุมาตรา และเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๑๖เอ/บี (F-16A/B Block 15 OCU) รวม ๑๐ เครื่อง ฝูงบินที่ ๓ ฐานทัพอากาศอิสวายูดี (Iswahyudi) จังหวัดชะวาตะวันออกและเครื่องบินโจมตีไอพ่นแบบฮอร์ค ๒๐๙ (Hawk 209) ฝูงบินโจมตีที่ ๑ ฐานทัพอากาศซูปาดิโอ(Supadio) จังหวัดกาลิมันตันตะวันตก และเครื่องบินโจมตีไอพ่นฮอร์ค ๒๐๙ (Hawk 209) ฝูงบินโจมตีที่ ๑๒ ฐานทัพอากาศสุลต่านไซริฟควาซิม-II (Sultan Syarif Qasim II) รวมทั้งสิ้น ๑๔ เครื่อง

จรวดนำวิถีแบบมาเวอริค (AGM-65,Maverick) วิจัยพัฒนาและผลิตตามความต้องการของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา(USAF) สัญญาผลิตครั้งแรกผลิตรวม ๒,๐๐๐ ลูก เป็นเงิน ๖๙.๙ ล้านเหรียญสหรัฐ ปี พ.ศ.๒๕๑๔ ประจำการในปี พ.ศ.๒๕๑๕ สามารถติดตั้งกับเครื่องบินรบของกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ทั้งกองทัพอากาศ (เอฟ-๑๖ซี/ดี, เอ-๑๐ ธันเดอร์โบลท์-II และเอฟ-๑๕อี), กองทัพเรือ (เอฟ/เอ-๑๘ซี/ดี/อี และพี-๓ซี โอไรออน) และหน่วยนาวิกโยธิน (เอวี-๘บี แฮริเออร์-II) ข้อมูลที่สำคัญ ขนาดยาว ๒.๔๙ เมตร ช่วงปีก๐.๗๒ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๓๐ เมตร น้ำหนัก ๒๑๐ กิโลกรัม (๔๖๒ ปอนด์) ความเร็ว๑,๑๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะยิงไกล ๒๒กิโลเมตร นำวิถีด้วยระบบทีวี นำวิถีด้วยระบบแสงเลเซอร์ นำวิถีด้วยระบบอินฟราเรด และหัวรบขนาด ๕๗.๐ กิโลกรัม (๑๒๖ ปอนด์)

จรวดนำวิถีแบบมาเวอริค (AGM-65,Maverick) ผลิตออกมารวม ๑๑ รุ่น มีรุ่นหลักที่สำคัญคือ รุ่นเอ เป็นรุ่นมาตรฐาน ผลิต ๑๒,๕๕๙ ลูก, รุ่นบี ผลิตรวม ๑๓,๕๗๙ ลูก, รุ่นดี นำวิถีด้วยอินฟราเรด ผลิตรวม ๑๐,๙๔๓ ลูก ปี พ.ศ.๒๕๔๒, รุ่นซี นำวิถีด้วยแสงเลเซอร์หน่วยนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา (ได้ยกเลิกก่อนเปิดสายการผลิต), รุ่นอี หัวรบหนัก ๑๓๖ กิโลกรัม นำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ หน่วยนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา ผลิตรวม ๒,๑๖๕ ลูก ปี พ.ศ.๒๕๔๒, รุ่นเอฟ นำวิถีด้วยอินฟราเรดกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ผลิตรวม ๑,๗๓๒ ลูก ปี พ.ศ.๒๕๔๒, รุ่นจี ผลิตรวม ๑๐,๔๑๔ ลูก ปี พ.ศ.๒๕๔๒, รุ่นเอช หัวรบหนัก ๕๗ กิโลกรัม, รุ่นเจ หัวรบหนัก ๑๓๖.๐ กิโลกรัมและรุ่นเค กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาเป็นรุ่นมาตรฐาน ผลิตรวม ๒,๕๐๐ ลูก พร้อมทั้งได้ขายให้กองทัพพันธมิตร (FMS) มียอดผลิตรวมทั้งสิ้นกว่า ๗๐,๐๐๐ ลูก

จรวดนำวิถีแบบมาเวอริค (Maverick) นำออกปฏิบัติการทางทหารหลายสมรภูมิทั่วโลกคือ สงครามเวียดนาม พ.ศ.๒๕๑๕ (ติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๔ดี แฟนท่อม-II และเครื่องบินโจมตีแบบ เอ-๗ คอร์แซร์-II เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๕), สงครามยมคิปปูร์พ.ศ.๒๕๑๖ (เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖),สงครามอิหร่าน-อิรัก (กองทัพอากาศอิหร่านใช้เครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๔ ใช้จรวดมาเวอริครวม ๑๒ ลูก โจมตีรถถังอิรักด้วยความแม่นยำเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๘ และอีกห้าปีต่อมาเครื่องบินขับไล่เอฟ-๔ ใช้จรวดมาเวอริคโจมตีเรือรบอิรักจมรวม ๗ ลำ), สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๓๔ (กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาทำการยิงด้วยจรวดนำวิถีแบบมาเวอริค ทำการโจมตีเป้าหมายรถถังและยานเกราะอิรักทุกรุ่นกว่า ๕,๐๐๐ ลูก), สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๖ (กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ทำการยิงจรวดแบบมาเวอริครวม ๙๑๘ ลูก) และสงครามกลางเมืองลิเบียพ.ศ.๒๕๕๔ (กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาใช้เครื่องบินลาดตระเวนและตรวจการณ์ทางทะเลแบบพี-๓ โอไรออน โจมตีด้วยจรวดมาเวอริค เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๔)

กองทัพอากาศสิงคโปร์ (RSAF) ประจำการด้วยจรวดนำวิถีมาเวอริค-๖๕ (AGM-65B/D/G, Mavreick) รวม ๒๔๘ ลูก โดยติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๑๖ซี/ดี (F-16C/D Block 52) ประจำการฝูงบินที่ ๑๔๐ ฐานทัพอากาศเต็งกาฮ์ รวม ๑๕ เครื่อง, ฝูงบินที่ ๑๔๓ ฐานทัพอากาศเต็งกาฮ์ รวม ๑๓ เครื่อง และฝูงบินที่ ๑๔๕ ฐานทัพอากาศชางฮี รวม ๒๐ เครื่อง นอกจากนี้ยังมีฝูงบินที่ประจำการอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาฐานทัพอากาศลุค (Luke AFB) ฝูงบินที่ ๔๒๕ รวม ๑๔ เครื่อง เพื่อใช้ฝึกนักบินขับไล่ประจำเครื่องบินขับไล่ แบบเอฟ-๑๖ซี/ดี (F-16C/D Block 52) ในทุกภารกิจบิน (กองทัพอากาศสิงคโปร์ ซื้อหลักสูตรการฝึกจากกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ รวม ๕ ปี เป็นเงิน๒๕๑ ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมด้วยระบบส่งกำลังและซ่อมบำรุงด้วยวิธี FMS) และเครื่องบินขับไล่โจมตีเอฟ-๑๕เอสจี (F-15SG) ประจำการฝูงบินขับไล่ที่ ๑๔๙ ฐานทัพอากาศปายาเลบาร์ (Paya Lebar) รวม ๒๔ เครื่อง นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินที่ประจำการอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฐานทัพอากาศเมาเท่นโฮม (Mountain Home Air Force Base) ฝูงบินที่ ๔๒๘เครื่องบินขับไล่เอฟ-๑๕เอสจี รวม ๑๐ เครื่อง(กองทัพอากาศสิงคโปร์ ซื้อหลักสูตรการฝึกจากกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๖ – ๒๕๖๐ รวม ๕ ปี เป็นเงิน๔๓๕ ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมด้วยระบบส่งกำลังและซ่อมบำรุงด้วยวิธี FMS) นับว่าฝูงบินขับไล่แบบเอฟ-๑๖ซี/ดี และเครื่องบินขับไล่โจมตีพิสัยไกลชนิดสองที่นั่งแบบเอฟ-๑๕เอสจี รวมทั้งสิ้น ๔ ฝูงบิน มีขีดความสามารถในการโจมตีทางภาคพื้นดินด้วยจรวดนำวิถีแบบมาเวอริค (Maverick) มีความพร้อมรบสูงสุดและมีจรวดนำวิถีแบบโจมตีรถถังแบบมาเวอริค (Maverick) ประจำการเป็นจำนวนมาก

กองทัพอากาศมาเลเซีย (RMAF) ประจำการด้วยจรวดนำวิถีมาเวอริค (AGM-65, maverick) โดยติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ/เอ-๑๘ดี (F/A-18D, Hornet) ชนิดสองที่นั่ง รวม ๘ เครื่อง ประจำการฝูงบินที่ ๑๘ ฐานทัพอากาศบัตเตอร์เวิร์ธ (Butterworth) รัฐปีนัง และเครื่องบินโจมตีไอพ่นแบบฮอร์ค๒๐๘ ประจำการฝูงบินที่ ๖ ฐานทัพอากาศควนตัน รัฐปาหัง

กองทัพอากาศไทย (RTAF) ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-๑๖เอ/บี (F-16A/B Block 15 OCU) รวม ๒ ฝูงบิน และฝูงบินเอฟ-๑๖เอดีเอฟ (F-16ADF) รวม ๑ ฝูงบินสามารถติดตั้งจรวดนำวิถีโจมตีภาคพื้นดินต่อโดยเป้าหมายรถถังและยานเกราะด้วยจรวดนำวิถีมาเวอริค (AGM-65, maverick) ต่อมากองทัพอากาศได้ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่แบบกริเพ่น (Gripen JAS-39C/D) รวม ๑ ฝูงบิน โดยจะสามารถทำการโจมตีภาคพื้นดินพร้อมด้วยจรวดนำวิถีแบบมาเวอริค (AGM-65,maverick)