วันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสตรีสากล เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงพลังแห่งสตรีและสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมกันทางเพศที่ไม่ควรมีความแตกต่างกัน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีอีกหลายประเทศที่สิทธิและเสรีภาพความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรียังไม่เป็นดังหวัง ยังคงมีการเลือกปฏิบัติในขณะที่อีกหลายประเทศ สตรีเพศอาจถึงขั้นเหยียดชนชั้น และมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความทุกข์ทรมาน

ย้อนหลังไปในอดีตเป็นที่ยอมรับว่าไม่มีช่วงเวลาใดที่สยามประเทศจะมีการปฏิรูปให้บ้านเมืองเจริญรุดหน้า ได้รับการพัฒนาในทุกด้านเท่ากับยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทว่าน้อยคนจะทราบว่า ท่ามกลางการพัฒนาเหล่านั้น มีสตรีไทยคนสำคัญแห่งยุคที่มีบทบาทสำคัญต่อการปฏิรูปคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทางองค์การยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นแบบฉบับของสตรีไทยที่มีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง ทรงเป็นเจ้าหญิงราชธิดาองค์สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงทำนายพระดวงชะตาไว้อย่างถูกต้องแม่นยำตามคำพระราชทานพร เมื่อทรงมีพระบรมราชสมภพและได้เป็นไปสมดังที่หวังไว้ว่า จะประกอบด้วยบุญญาบารมีทุกประการทรงเป็นขวัญชีวิตของสมเด็จพระบรมราชสวามี คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญในสิริราชสมบัติ ถึงขนาดได้รับสถาปนาพระราชอิสริยยศไว้ในตำแหน่ง สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นพระองค์แรกแห่งประเทศไทย ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีของพระโอรสอย่างน้อย ๕ พระองค์ และพระโอรสได้เสวยราษฎร์เป็นพระมหากษัตริย์ในราชจักรีวงศ์ถึงสองแผ่นดิน ทรงเป็นมหามิตรของพระบรมวงศานุวงศ์จักรีทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดจนประเทศราช อันเป็นองค์ประมุขแห่งนานาประเทศที่มีสัมพันธไมตรีต่อประเทศไทยในรัชสมัยของพระองค์ ทรงเป็นองค์อัคร-ศาสนูปถัมภกแห่งพระบวรศาสนาพุทธ และทรงมีความเลื่อมใสศรัทธา ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างเต็มที่อยู่เป็นนิตย์ ทรงเป็นครูผู้บำเพ็ญวิทยาทานต่อพระประยุรญาติราชนัดดา เชื้อพระวงศ์และเยาวกุมารีทั้งหลายที่เข้าไปสู่ราชสำนักด้วยการพระราชทานโอกาสให้ได้เรียนรู้วิชาการแขนงต่าง ๆ ทรงเป็นนายผู้ปกครองด้วยทศพิธราชธรรมอันตั้งอยู่บนพรหมวิหาร ๔ มีพระเมตตาบารมีเป็นที่ตั้งไม่เลือกชั้นวรรณะ

นอกจากนี้ทรงพระดำริให้เริ่มการศึกษาของสตรีไทย ยกระดับความรู้ให้ได้มีโอกาสก้าวไปทันบุรุษเพื่อร่วมกันจรรโลงชาติบ้านเมืองสู่อารยสมัย ทั้งยังทรงเป็นองค์ผู้นำที่กล้าหาญและเสียสละในขบวนการสตรีที่ก้าวหน้าทุกวิถีทาง ไม่ว่ายามปกติหรือยามที่บ้านเมืองคับขันโดยเฉพาะการดูแลด้านการรักษาพยาบาลประชาชนผู้เจ็บไข้ได้ป่วยและทหารของชาติและยังทรงเป็นประดุจเทพมารดาหรือแสงสว่างอันอบอุ่น เป็นที่รักของสตรีและทรงเป็นความหวังของพสกนิกรผู้ยากไร้โดยทั่ว

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๖ ปีกุน ประสูติ ณ พระตำหนักใหญ่ในพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระราชธิดาอันดับที่ ๖๖ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระธิดาพระองค์ที่ ๔ ของท่านเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศในรัชกาลที่ ๖ เป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เมื่อประสูติได้ครบเดือนสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงจัดให้มีพระราชพิธีสมโภชตามอย่างโบราณราชประเพณีผูกขวัญพระเจ้าลูกเธอ และพระราชทานพระนามตามดวงประสูติว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เล่าขานกันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาค้นคว้าในวิชาการทางด้านโหราศาสตร์จนสามารถพยากรณ์ดวงชะตาหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ สำหรับดวงพระชะตาของพระราชธิดาพระองค์นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลถอดเป็นภาษาไทยถวายว่า

“ขอธิดาของเรา ซึ่งเป็นบุตรีอันดีของเปี่ยมคนนี้จงปรากฏโดยนามว่า โสภาสุทธสิริมติ (เสาวภาผ่องศรี) เถิด ขอเธอจงมีสุขและไม่มีโรคมีอิสริยยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษอันใคร ๆ อย่าคุมเหงได้ทุกเมื่อ จงเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมาก อันคนเป็นอันมากนิยมนับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้ทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้องชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จงรักษาเธอทุกเมื่อ
เทอญ”

กาลต่อมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์นี้ทรงเจริญพระชันษาขึ้น การก็ได้เป็นไปสมจริงดังพระพรที่ได้พระราชทานล่วงหน้าไว้แต่แรกประสูติทุกประการ นั่นก็คือเมื่อพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้ได้กลายเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถผู้ยิ่งใหญ่แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ในพระนามสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง อันกล่าวไว้ว่า ทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศในตำแหน่งสูงสุดเหนือสตรีใดในพระราชอาณาจักรสยาม

พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีมากมายอเนกอนันต์ต่อชาติบ้านเมือง แม้พระองค์จะไม่เคยมีโอกาสได้เล่าเรียนเขียนอ่านมากเท่าดรุณีในยุคปัจจุบัน แต่ทรงมองเห็นการณ์ไกล ใฝ่รู้ เพียบพร้อมไปด้วยขันติยมานะ อุตสาหะแรงกล้า มีพระทัยซาบซึ้งในสรรพวิชาการเพิ่มพูนความรู้ก้าวหน้ายิ่งกว่าพระบรมวงศ์รุ่นเดียวกัน จึงทรงได้รับไว้วางพระราชหฤหัยปรึกษาข้อราชการ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เนือง ๆ มีพระนิสัยโปรดทางวรรณกรรมและศิลปะ ถึงขนาดทรงนิพนธ์กาพย์กลอนโคลงฉันท์ได้อย่างถูกต้องไพเราะ นอกจากประจักษ์พยานที่เห็นได้จากลายพระราชหัตถ์ทรงเขียนโต้ตอบพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสยุโรป

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริว่า อันความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ จะบรรลุผลสำเร็จได้ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนทั้งหญิงชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเห็นว่า สตรีไทยในสมัยนั้นยังมีสภาวะล้าหลังบุรุษเป็นอันมากเพราะสตรีไม่มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิทางการศึกษาและขาดผู้อุดหนุนชักนำ มีพระราชประสงค์ที่จะเปิดโอกาสให้สตรีไทยได้รับความรู้อันนำไปสู่อารยธรรมเทียบเท่าสตรีในต่างประเทศโดยทรงแน่พระทัยว่า ผู้มีสติปัญญาย่อมจะช่วยเป็นกำลังจรรโลงประเทศชาติให้เจริญขึ้นในอนาคต จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งจัดตั้งโรงเรียนสตรี ณ ตึกมุมถนนอัษฎางค์และจักรเพชรต่อกันที่ตำบลปากคลองตลาด เปิดสอนเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๗ พระราชทานนามว่า โรงเรียนราชินี พระราชทานพระราชดำริว่าให้นักเรียนได้มีความรู้ทางด้านการฝีมือสำหรับสตรีให้สามารถอ่านออกเขียนได้ ทั้งให้มีการอบรมศีลธรรมจรรยามารยาท ตามแบบประเพณีนิยมทั้งนี้ทรงมอบให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร รับพระราชภารกิจไปจัดทำ ทรงจัดส่งครูสตรีออกไปศึกษาวิชาในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมเช่น การดนตรี การฝีมือและภาษาอังกฤษ ณ ประเทศญี่ปุ่นต่อมามีการขยายการศึกษาของกุลสตรีอีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เช่น โรงเรียนเสาวภา โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง โรงเรียนราชินีบูรณะจังหวัดนครปฐม โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

พระราชกรณียกิจอันสำคัญและเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งคือ การสร้างสถานพยาบาลซึ่งพระราชทานนามว่า โรงศิริราชพยาบาลเนื่องจากต้องสูญเสียสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (พระยศในขณะนั้น) หลังจากพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงรื้อเอาไม้พระเมรุทั้งหมดไปสร้างเป็นโรงพยาบาลและพระราชทานเงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์อีก ๕๖,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างตึกสอนวิชาแพทย์ในโรงพยาบาลด้วย ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระวรราชเทวี ได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง ตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๙

ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งสภาอุณาโลมแดง เป็นศูนย์กลางบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากกรณีความขัดแย้งกับฝรั่งเศส ต่อมาโอนกิจการตั้งชื่อใหม่ว่า สภากาชาดสยาม ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นองค์สภานายิกา ทรงดำรงตำแหน่งนี้ถึง ๒๖ ปี

พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถก็คือ ทรงได้รับมอบให้ดำรงพระอิสริยยศ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ทรงเป็นประมุขแห่งคณะผู้รักษาพระนคร ในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ซึ่งแม้ว่าจะทรงเริ่มบริหารพระราชกิจอันมิได้เคยปฏิบัติมาก่อน แต่ปรากฏว่าได้ทรงกระทำทุกอย่างด้วยความตั้งพระราชหฤหัย และทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะทรงวินิจฉัยพระราชกิจได้เป็นอย่างดี มิได้มีสิ่งใดเสื่อมเสียประโยชน์ราชการแต่อย่างใดเลย เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ จึงได้ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างเหรียญราชินีสำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่สมควรจะได้รับบำเหน็จด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงใช้ชีวิตที่ต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลง และประกอบพระราชกรณียกิจที่สตรีน้อยคนจะได้รับในฐานะพระราชมารดา ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมกัน ๑๔ พระองค์ ทรงฟันฝ่าความเป็นพระราชมารดามาตาแต่แรกรุ่นเจริญวัยทรงรับพระราชภารกิจที่ต้องใช้สติปัญญาวิจารณญาณ ความรู้ความสามารถ เท่ากับบุรุษอกสามศอก ในบั้นปลายพระอนามัยจึงทรุดโทรมอย่างรวดเร็วกว่าบรรดาพระมเหสีทุกพระองค์ จนต้องมีแพทย์ถวายพระโอสถและการรักษาพยาบาลอยู่เนือง ๆ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตโดยมิได้คาดฝัน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มิได้เป็นอันทรงเสวย หรือบรรทมหลับเป็นปกติ ประกอบกับทรงมีโรคพระทัยอ่อนเป็นทุนอยู่จึงประชวรทรุดลงอย่างรวดเร็ว ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อัญเชิญพระราชมารดาเสด็จประทับ ณ พระตำหนักพญาไทเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓