พระเกียรติคุณกำจายทั่วหล้า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พลตรี ชัยวิทย์ ชยาภินันท์

 

๗ ทศวรรษ ของการครองสิริราชสมบัติแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพสกนิกรชาวไทยต่างสำนึกเป็นอย่างดีว่าพระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายและ
พระสติปัญญาเพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการพัฒนาประเทศ ดังปรากฏให้เห็นเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ มากมาย ทำให้พสกนิกรชาวไทย รวมทั้งประชาชนและองค์กรทั่วโลกต่างประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถ ต่างชื่นชมถึงพระราชดำริและพระอัจฉริยภาพเป็นอันมาก ซึ่งมีหลากหลายโอกาสที่องค์กรหรือหน่วยงานสากลได้พร้อมเพรียงใจกันทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลระดับโลกและระดับนานาชาติมากมายหลายแขนงและหลายหลากกิจการ เพื่อถวายพระเกียรติพร้อมเทิดพระเกียรติอันเนื่องมาจากพระปรีชาชาญและความสืบเนื่องแห่งการดำเนินพระราชกรณียกิจต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่าค่อนศตวรรษ โดยเฉพาะการยอมรับกันทั่วสังคมโลกในพระราชสมัญญาว่า “ทรงเป็นต้นแบบแห่งพระมหากษัตริย์นักพัฒนา”

5

 

ทั้งนี้ ผู้เขียนได้เรียบเรียงพร้อมกับขออัญเชิญพระเกียรติคุณอันเนื่องมาจากพระปรีชาชาญที่หน่วยงานหรือองค์กรในต่างประเทศต่างทูลเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังต่อไปนี้

  • พุทธศักราช ๒๕๐๗ รัฐบาลออสเตรียทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ลำดับที่ ๒๓ ของสถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา และทรงเป็นผู้ประพันธ์เพลงชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรติจารึกพระนามลงบนแผ่นหินสลักของสถาบันฯ
  • พุทธศักราช ๒๕๑๔ ราชสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักร กราบบังคมทูลเชิญให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคม และสมาคมสหพันธ์ศิลปะการถ่ายภาพนานาชาติ (FIAP) ทูลเกล้าฯ ถวายเกียรติบัตรสูงสุดเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณว่าทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศในศิลปะการถ่ายภาพ
  • พุทธศักราช ๒๕๑๙ ประธานรัฐสภายุโรปและสมาชิก ร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญรัฐสภายุโรป”
  • พุทธศักราช ๒๕๒๙ ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อสันติของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลสันติภาพ”
  • พุทธศักราช ๒๕๓๐ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณในการนำชนบทให้พัฒนา”
  • พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ๔๕ ปี โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญ Philae Medal จำนวน
    ๓ เหรียญ คือ เหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดง ในฐานะที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านการพัฒนาท้องถิ่นชนบทและยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
  • พุทธศักราช ๒๕๓๕ ผู้อำนวยการใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองประกาศพระเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม” ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์และทรงเป็นแบบอย่างในการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งในปีเดียวกันนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน (Health for All Gold Medal)”
  • พุทธศักราช ๒๕๓๖ คณะกรรมการสมาคมนิเวศวิทยาเชิงเคมีสากล (International Society of Chemical Ecology) ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติในการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (The Natural Pro Futura Medal)” อีกทั้งในปีเดียวกันนี้ หัวหน้าสาขาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด (The Bronze Vetiver Sculpture Award)” พร้อมถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำ จากการที่ทรงพัฒนาและทรงส่งเสริม
    การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ
  • พุทธศักราช ๒๕๓๗ ผู้อำนวยการบริหารของโครงการควบคุมยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (UNDCP) แห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองคำสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหา
    ยาเสพติด”
  • พุทธศักราช ๒๕๓๙ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในด้านการพัฒนาการเกษตร (Agricola Medal)”
  • พุทธศักราช ๒๕๔๐ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติ
    ในฐานะที่ทรงสนับสนุนงานอุตุนิยมวิทยาและทรงนำทรัพยากรน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
  • พุทธศักราช ๒๕๔๒ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเทเลฟู้ด (Telefood Award) ซึ่งเป็นเหรียญที่ทำขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงอุทิศเพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ในถิ่นชนบทไทย ให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อผลผลิตทางการเกษตรและพึ่งพาตนเองได้
  • พุทธศักราช ๒๕๔๓ คณะกรรมการจัดงานงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2000” แห่ง The Belgian Chamber of Inventors สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในยุโรป ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2000” จากผลงาน “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” จำนวน ๕ รางวัล ประกอบด้วย (๑) เหรียญรางวัล Prix OMPI (Organisation Mondiale De La Propriete Intelietuelle) หรือรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับโลก พร้อมประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน ๒,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ (๒) เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ และประกาศนียบัตรเกียรตินิยมจาก Brussels Eureka 2000
    (๓) ถ้วยรางวัล Grand Prix International (International Grand Prize) หรือรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด (๔) ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) หรือรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น และ (๕) ถ้วยรางวัล Yugosiavia หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์
  • พุทธศักราช ๒๕๔๔ คณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลถึง ๕ รางวัลประกอบด้วย (๑) รางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน โดยคณะกรรมการตัดสินได้ลงมติเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติคุณเป็นกรณีพิเศษแด่ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ๓ ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศไทย (๒) รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้แก่ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Formula) (๓) รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการทฤษฎีใหม่ (The New Theory) (๔) รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวง (Royal Rain Making) และ (๕) ถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร มอบให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีใหม่ ปาล์มน้ำมัน ฝนหลวง และประกาศนียบัตร Honored Member of BACCI โดยเป็นรางวัลจาก Bulgarina American Chamber of Commercial and Industry (BACCI)
  • พุทธศักราช ๒๕๔๗ โครงการก่อตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN Habitat) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยทั้งในเมืองและชนบท รวมทั้ง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอย่างยั่งยืน
  • พุทธศักราช ๒๕๔๙ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และทรงพระวิริยะ อุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ อีกทั้งในปีเดียวกันนี้ มูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์ (The World Food Prize Foundation) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลบอร์ล็อค (The First Dr.Norman E. Borlaug Medallion) เป็นรางวัลพิเศษที่จัดทำครั้งแรกในปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ และการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้เป็นพระองค์แรกในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อขจัดความ
    หิวโหย และความยากจนของปวงชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  • พุทธศักราช ๒๕๕๐ สหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก (FISU) ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายประดับแห่งเกียรติยศ (Decoration) ชั้นสูงสุดของสหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก (FISU) โดยรางวัลเป็นลักษณะของเหรียญ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ เซนติเมตร ทำจากทองคำบริสุทธิ์ บนเหรียญจะมีตราสัญลักษณ์สหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก และมีรูปดาวซึ่งประดับด้วยเพชร จำนวน ๕ เม็ด เม็ดละ ๐.๒๕ กะรัต เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงพระปรีชาสามารถในด้านกีฬาและทรงส่งเสริมการกีฬาให้เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทย
  • พุทธศักราช ๒๕๕๑ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา (WIPO Global Leaders Award)” เนื่องด้วยงานทรัพย์สินทางปัญญาส่งเสริมและพัฒนาประเทศรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นอย่างโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก
    โดยทรงเป็นผู้นำประเทศพระองค์แรกที่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้ นอกจากนี้ สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (International Federal Inventor Association : IFIA) ซึ่งมีสมาชิก ๘๔ ประเทศทั่วโลก ยังได้
    มีมติกำหนดให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ทรงได้รับการจดสิทธิบัตรกังหันน้ำชัยพัฒนา เป็น
    “วันนักประดิษฐ์โลก”
  • พุทธศักราช ๒๕๕๕ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences-IUSS) นำโดยอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist)” โดยทรงเป็นผู้นำประเทศพระองค์แรกที่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้
  • 1 2 3 4

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พระเกียรติคุณแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ บทความนี้ ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของพสกนิกรชาวไทย และเนื่องในวันที่

๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาติ กล่าวคือเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้เขียนจึงขอเรียนเชิญทุกท่านได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ พระบรมเดชานุภาพ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน พระผู้ทรงมีคุณูปการและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์แก่พสกนิกรและประเทศไทยอเนกอนันต์ประการ พร้อมกับ
ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันน้อมศิระเกล้าถวายพระเกียรติเพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันที่สำคัญสูงสุดของมวลพสกนิกรชาวไทยด้วยกันทุกท่านด้วยเทอญ