โครงการหลักด้านการทหาร (Defence Programmes) มักจะได้รับการกล่าวถึงโดยตรงไปยังผลลัพธ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่จะนำเข้าประจำการในเหล่าทัพมีการพรรณนาว่าระบบ (Systems) แพลตฟอร์ม (Platforms) หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะช่วยสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารทั่วโลกได้อย่างไร แต่ถึงกระนั้นตัวแทนเจ้าหน้าที่ทหาร นักกฎหมาย และผู้สื่อข่าวก็ไม่ได้กล่าวอ้างอิงไปถึงว่า หลากหลายนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในระดับโรงงานผลิตนั้น สามารถสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ทหารนักรบ (War fighters) ได้อย่างไรและมีผลดีคุ้มค่าเพียงไร ปัจจุบันนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ก้าวหน้าไปอย่างมาก เทคโนโลยีที่โดดเด่นมีตั้งแต่ การพิมพ์ต้นแบบด้วยเครื่องพิมพ์ ๓ มิติ (3-D Printing) การใช้สายพานการผลิตแบบอัตโนมัติ ตลอดจนเชื่อมโยงไปถึงการนำเข้าใช้โมเดลการผลิตเชิงพาณิชย์ของ Henry Ford

สายงานการส่งกำลังบำรุงทางทหารต้องมีการปรับตัวให้ก้าวทันยุคสมัย เพื่อลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพ และส่งมอบผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่มีคุณภาพดีกว่าที่ผ่านมาให้แก่ประเทศลูกค้าทั่วโลก กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ต้อนรับแนวคิดนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการผลิตยุทโธปกรณ์เชิงพาณิชย์ โดยนำแบบอย่างสายการผลิตในอุตสาหกรรมของภาคพลเรือนเข้ามาปฏิบัติ บริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตยุทโธปกรณ์ให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ตัวอย่างเช่น บริษัท Spirit Aero System ซึ่งผลิตโครงสร้างเครื่องบิน มีรายได้หลักร้อยละ ๓ – ๕ จากการสร้างชิ้นงานให้แก่เหล่าทัพสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารระดับสูงของ Spirit Aero System คาดการณ์ว่าในอนาคตรายได้หลักจากชิ้นงานที่ผลิตให้กับเหล่าทัพสหรัฐฯ จะขยายเพิ่มจำนวนเป็นร้อยละ ๑๕ – ๒๐

 

สหรัฐฯ เองนั้นตั้งแต่ในอดีตมีศักย์การรบที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งได้ก็เพราะว่าสามารถทำการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ในจำนวนที่มากกว่าประเทศคู่แข่งเป็นอย่างมาก ในความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์คุณภาพสูงประกอบกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญเติบโตขึ้นมาตามลำดับ ได้กำหนดกะเกณฑ์ว่าก่อนที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ใดๆ ออกมาจะต้องทำการสร้างต้นแบบ (Prototypes) ขึ้นเสียก่อน แต่ในโลกธุรกิจนั้นมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันนักที่ว่า ผู้เล่นในอุตสาหกรรมการผลิตไม่มีเวลาสำหรับการออกแบบและดำเนินการผลิตที่เพียงพอ แนวคิดในการที่ต้องสร้างต้นแบบขึ้นเสียก่อนที่จะมีการสร้างยุทโธปกรณ์จริงขึ้นใช้งานในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นั้น จึงเริ่มจะกลายเป็นความคิดเห็นที่เก่าล้าสมัยเกินไปเสียแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นจริงไปเสียทุกกรณี ดังเช่น โครงการสร้างอากาศยานไร้คนขับนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างต้นแบบก่อน และยังคงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่หากจะสร้างต้นแบบเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นั้น ไม่มีความคุ้มค่าต่อทั้งเวลาและงบประมาณที่ต้องเสียไป

ออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความคิดเห็นว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของออสเตรเลียนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องเน้นย้ำไปที่การสร้างต้นแบบด้วยตัวเอง ด้วยเหตุที่ว่ารัฐบาลออสเตรเลียเล็งเห็นความเป็นจริงที่ว่าหากประเทศของตนจะเข้าแข่งขันเป็นผู้ผลิตและผู้ให้บริการหลักในสงครามการค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ในตลาดโลกที่เข้มข้นนั้นมีความเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้ออสเตรเลียจึงต้องการเพียงที่จะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในระบบการส่งกำลังบำรุงระดับโลก (Global Supply Chain) ที่รุ่งเรืองอยู่แล้วของสหรัฐฯและกลุ่มประเทศยุโรปโดยการให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศออสเตรเลียเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partners)กับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชาติ (Multinational Defence Companies หรือเรียกว่าPrimesที่เป็นผู้สร้างต้นแบบที่มีมาตรฐานซึ่งได้รับการยอมรับเป็นสากล)แล้วสอดแทรกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากยักษ์ใหญ่ทั้งสองในวงการ Global Supply Change ที่กล่าวถึงข้างต้นให้เข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดในระบบการส่งกำลังบำรุงระดับโลก เพื่อเป็นการสร้างงานให้แก่พลเมืองออสเตรเลียและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของออสเตรเลียโดยไม่จำเป็นต้องทำการตลาดและสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์เอง

ตัวอย่างแนวคิดของสหรัฐฯ และออสเตรเลียสามารถทำให้วิเคราะห์ได้ว่าความจำเป็นในการสร้างต้นแบบก่อนสร้างผลิตภัณฑ์จริงนั้นควรพิจารณาตามความเหมาะสม นอกจากนี้หากเป็นไปได้ผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างต้องมีความพร้อมในการใช้งานได้ทั้งสำหรับภาคทหารและพลเรือน (Dual Use)เพื่อให้สามารถบูรณาการใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทเอกชนให้เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตยุทโธปกรณ์เพราะว่าการสนับสนุนให้ใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ทหารนักรบ (Warfighters) ได้ใช้งานในราคาที่ถูก คุณภาพดี มีปริมาณมาก และผลิตได้อย่างรวดเร็วก็เป็นหนึ่งในความประสงค์หลักที่สำคัญของเหล่าทัพทั่วโลก

6

รูปที่ 1 P-8A Poseidon ในสายการผลิตของเอกชนเพื่อส่งมอบให้ ทร.สหรัฐฯ

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า ชัยชนะในสงครามของสหรัฐฯ ส่วนมากสืบเนื่องมาจากความสามารถในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากกว่าประเทศข้าศึก แต่ปัญหาที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันคือ แพลตฟอร์ม ระบบอาวุธและยุทโธปกรณ์หลัก ๆ นั้นพึ่งพาแหล่งการผลิตใหญ่เพียงแหล่งเดียว การทำสงครามกับผู้ก่อการร้าย ISIS ในเรื่องประเด็นความขัดแย้งบริเวณพื้นที่ยุโรปและเอเชียตะวันออกทำให้ยุทโธปกรณ์ในคลังแสงพร้อมใช้งานของ ทอ.สหรัฐฯ ลดจำนวนลงอย่างมาก

การสูญเสียตำแหน่งการเป็นผู้นำในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการพึ่งพานวัตกรรมใด ๆ ได้เพียงลำพัง ยังต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากทางทหารและพลเรือน อนาคตของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของบริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีอวกาศที่จะเป็นผู้นำในการสร้าง “โรงงานผลิตแห่งอนาคต” หรือ Factory of the Future (FoF) นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะถูกนำเข้ามาใช้ ได้แก่ การออกแบบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ชั้นสูง การผลิตที่ควบคุมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมทั้งระบบจำลองเสมือนจริงเพื่อใช้ในการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ หุ่นยนต์โรงงานอเนกประสงค์ การพิมพ์ต้นแบบด้วยเครื่องพิมพ์ ๓ มิติ เทคนิคการผลิตแบบเพิ่มเนื้อ เครื่องมืออัจฉริยะ Big Data และปัญญาประดิษฐ์ เมื่อมีการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีชั้นสูงในโรงงานผลิตแห่งอนาคตแล้ว ระบบการส่งกำลังบำรุงแห่งอนาคต (Supply Chain of the Future) ก็ต้องได้รับการปรับปรุงให้พัฒนาให้ใช้ระบบดิจิตอลด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงด้วยเช่นกัน

บริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ ได้ทำการลงทุนในนวัตกรรมเทคโนโลยีและเทคนิคการผลิตเพื่อก้าวไปสู่การก่อตั้งโรงงานผลิตแห่งอนาคตแล้ว ตัวอย่างแรกคือ Lockheed Martin ที่สายการผลิต Fort Worth ซึ่งทำการผลิตเครื่องบินรบ F-35 Joint Strike Fighter และอีกตัวอย่างคือ สายการผลิตเฮลิคอปเตอร์ของ Bell Helicopter ที่ออกแบบทำการผลิตเครื่องบินแบบ Tilt-rotor V-280 Valor (Future Vertical Lift : FVL) ก็มีส่วนช่วยในการผลักดันให้โครงการสร้างโรงงานผลิตแห่งอนาคตเป็นจริงขึ้นมา โรงงานผลิตแห่งอนาคตคาดหวังว่าในยามสงบจะสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ออกจำหน่ายในราคาที่ลูกค้ามีศักยภาพในการจัดหาได้ และในยามสงครามให้มีความสามารถในการผลิตได้ในปริมาณมาก ความอ่อนตัวของโรงงานผลิตแห่งอนาคตจะอนุญาตให้มีการปรับแต่งแพลตฟอร์มให้เหมาะสมกับข้อมูลการยุทธที่ได้รับ อีกทั้งยังสนับสนุนการจำลองเสมือนจริงและเทคนิคอื่นๆ เพื่อช่วยเร่งความเร็วในการฝึกฝนเจ้าหน้าที่

ผู้อำนวยการ DoD Manufacturing Institutes ของสหรัฐฯ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องด้วยเช่นกันว่า ต้องผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันกาลเมื่อพลรบต้องการใช้งานและต้องผลิตได้ปริมาณมากพอตามต้องการ ที่สำคัญไปกว่านั้นต้องผลิตได้ในต้นทุนราคาที่ยอมรับได้ เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลไปยังปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ เพิ่มศักยภาพในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ดียิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง “ความจำเป็นทางอุตสาหกรรม” ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และเนื่องจากเทคโนโลยีชั้นสูงจะไม่มีความพิเศษใดๆ เลยต่อทหารนักรบ (War fighters) หากไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้งานได้จริงสิ่งใดก็ตามที่การตลาดสร้างผลิตภัณฑ์ให้ออกจำหน่ายได้ (มี Strong Commercial Pull) จะเข้าสู่แผนการผลิตที่มีบทบาทต่อไปในอนาคต

นวัตกรรมหนึ่งซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้นำเข้ามาช่วยในสายการผลิตยานยนต์ทางทหารคือ โมเดลการผลิตเชิงพาณิชย์ของ Henry Ford ปัจจุบันโรงงานผลิตยานยนต์ทางทหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ดำเนินกิจการด้านโรงงานผลิตในรูปแบบของโรงงานเอกชนขนาดใหญ่ทั่วไปที่ปฏิบัติไปตามปกติ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิตคือยานยนต์ทางทหาร ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ประกอบการธุรกิจอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารได้เปลี่ยนไปใช้สายการผลิตตามแบบอย่างการผลิตสินค้าในปริมาณมากสำหรับลูกค้าเอกชนทั่วๆ ไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ระบบสายพานการผลิตยุทโธปกรณ์มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้เวลาที่เคยสูญเสียไปในการใช้แรงงานมนุษย์รวมทั้งเวลาในการรอคอยอะไหล่ก็ลดลงมาก ข้อดีเหล่านี้มีส่วนช่วยอย่างมากต่อศักยภาพการแข่งขันในตลาดยานยนต์ทางทหารที่มีบริษัทคู่แข่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

บริษัทผู้ประกอบการธุรกิจผลิตยานยนต์ทางทหาร เช่น NIMR Automotive จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตยานยนต์ทางทหาร จากรูปแบบเดิมในสภาพของโรงงานผลิตทางทหารที่ล้าสมัย ให้กลายเป็นโรงงานที่ใช้สายการผลิตอัตโนมัติเชิงพาณิชย์ โรงงานผลิตยานยนต์ทางทหารของ NIMR Automotive ในเมืองอาบูดาบี มีสายพานการผลิตทั้งหมด ๓ สาย มีศักยภาพในการผลิตยานยนต์ทางทหาร ที่ผ่านการทดสอบและพร้อมส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้มากที่สุดถึงวันละ ๕ คัน แต่ถึงแม้ว่าจะนำระบบที่ทันสมัยมาช่วยในการผลิตยานยนต์ทางทหาร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ยังมีความต้องการที่จะพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงให้กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของตน เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลให้สามารถรองรับกับเศรษฐกิจโลกในยุคหลังธุรกิจน้ำมัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ริเริ่มความร่วมมือเพื่อให้ได้รับการชดเชยทางยุทธพาณิชย์ (UAE Offset Programme) กับบริษัทคู่สัญญานานาชาติ ทำให้ในปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความมั่นใจในศักยภาพของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของตนเอง จนสามารถประกาศออกมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐ ว่า NIMR Automotiveได้รับสัญญาจ้าง ๓ ฉบับเพื่อผลิตยานเกราะจำนวน ๑,๗๕๐ คัน สำหรับเข้าประจำการในเหล่าทัพของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การใช้หุ่นยนต์ในระบบสายพานการผลิตอัตโนมัติของ BMW

7

การสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงที่ได้รับอานิสงส์มาจากการสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการเข้าร่วมโครงการชดเชยทางยุทธพาณิชย์ ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถสร้างศักยภาพในการให้บริการซ่อมบำรุง บริการตรวจตามระยะ สนับสนุนอะไหล่ และการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ช่างยนต์อย่างต่อเนื่อง เหตุผลดังกล่าวสร้างความมั่นใจให้กับประเทศลูกค้าว่า ยานยนต์ทางทหารที่จัดซื้อจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดีแม้นภายหลังการส่งมอบ

จากตัวอย่างการใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในระดับโรงงานผลิตทั้งจากสหรัฐฯ และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศที่พัฒนาแล้วได้เริ่มนำเอานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิตแบบเชิงพาณิชย์ที่เคยปฏิบัติอยู่แต่ในแวดวงของกลุ่มบริษัทเอกชน เข้ามาใช้เพื่อการสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารให้สามารถผลิตให้ได้ปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น มีคุณภาพที่ดี และในต้นทุนราคาการจัดหาที่เป็นไปได้ อีกทั้งฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ยังได้ทำการเน้นย้ำให้ใช้นวัตกรรมใหม่ที่สร้างเทคนิคหรือเทคโนโลยีในการผลิตให้ได้ชิ้นงานจำนวนมากแต่เพียบพร้อมด้วยคุณภาพ โดยในขณะเดียวกันทักษะที่จำเป็นในกระบวนการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ได้มีการฝึกฝนถ่ายทอดให้กับแรงงาน เพื่อนำไปต่อยอดสนับสนุนให้เป็นพวกเขากลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Altoro J., “Staying in your lane?DoD could bank more on virtues of commercial manufacturing”, Equipping the Warfighter, available at: defensenews.com
  2. Goure D., “To win future wars, U.S. must out-produce its adversaries”,Equipping the Warfighter, available at: defensenews.com
  3. Justice N., “Innovation on the production line: A business case”, Equipping the Warfighter, available at: defensenews.com
  4. Murgai P., “Adapting the Henry Ford model”,Equipping the Warfighter, available at: defensenews.com
  5. “NIMR to supply 1,750 armoured vehicles to the UAE: Subsidiary of Emirates Defence Industries Co to deliver military hardware to UAE Armed Forces from 2018”, www.arabianbussiness.com
  6. Centre for Defence Industry Capability (CDIC), ถ่ายทอดข้อมูลการบรรยายโดย พ.ท.สุพจน์ ไกรศักดาวัฒน์
  7. “Defence Industry Policy Statement 2016”, Australian Government Department of Defence, available at: defence.gov.au
  8. “Defence Innovation Redesigned: What the 2016 Defence White Paper means for Industry”, KPMG, available at:https://home.kpmg/content/dam/kpmg/pdf/2016/03/defence-innovation-redesigned-au-defence-white-paper-2016.pdf
  9. “How much does an SME need to know about Defence Policy and the strategic environment?”, Defence Connect, available at: https://www.defenceconnect.com.au/blog/2590-how-much-does-an-sme-need-to-know-about-defence-policy-and-the-strategic-environment