เศรษฐกิจดิจิทัลกับการมาของ ๕จี ในประเทศไทย
จุฬาพิช มณีวงศ์
ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนการมีมือถือเพียงเครื่องเดียวแค่ไล้นิ้วมือและกดปุ่มก็สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างกลายเป็นล้าสมัยและตกยุค หมายรวมถึงผู้คนที่ไม่ยอมเรียนรู้และรับกับการแข่งขันที่กำลังวิ่งเข้ามาปะทะอย่างรุนแรง
จากรายงานประจำปี พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งจัดทำโดยกูเกิลและเทมาเล็กร่วมกับเบน แอนด์ คอมพานี ระบุภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลกถึงร้อยละ ๙๐ ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งสิ้น ๓๖๐ ล้านคน ในประเทศไทยมีตัวเลขผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่ ๔๗ ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๘ ซึ่งมีเพียง ๓๖ ล้านคน ส่งผลให้มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตัวเลขในแถบอาเซียนขยายตัวสูงถึง ๑๐๐,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือขยายตัวมากถึง ๓ เท่าในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอีก ๓ เท่าหรือคิดเป็นตัวเงิน ๓ แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี พ.ศ.๒๕๖๘
สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจดิจิทัลในปี พ.ศ.๒๕๖๒ มีมูลค่า ๑๖,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์ เป็นอันดับ ๒ รองจากอินโดนีเซีย ธุรกิจที่ใหญ่สุดและอิ่มตัวมากที่สุดเป็นด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ที่พักและเที่ยวบิน มูลค่า ๗,๒๐๐ ล้านดอลล่าร์ มีอัตราเติบโตร้อยละ ๑๗ ต่อปี อี-คอมเมิร์ซเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตเร็วที่สุดถึงร้อยละ ๕๔ ต่อปี มูลค่าราว ๕,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ และจะเป็น ๑๘,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์ ในปี พ.ศ.๒๕๖๘ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจสื่อออนไลน์ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ ๓๙ ต่อปี คิดเป็นมูลค่า ๓,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ และจะเป็น ๗,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์ในปี พ.ศ.๒๕๖๘ โดยมีแรงผลักดันที่สำคัญจากการเติบโตของสื่อออนไลน์ในประเทศไทย มีอัตราการใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มวีดิโอที่สูงมาก อีกธุรกิจที่มีการเติบโตที่ดี ได้แก่ บริการเรียกรถออนไลน์ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๑,๓๐๐ ล้านดอลล่าร์ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ เติบโตร้อยละ ๓๖ ต่อปี
ทั้งนี้จากรายงานระบุว่าแม้การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลกระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ โดยผู้อาศัยในเมืองจะซื้อสินค้าและออนไลน์มากกว่าถึง ๖ เท่า แต่โอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจนอกเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีแนวโน้มเติบโตได้รวดเร็วกว่าเศรษฐกิจในเมืองถึง ๒ เท่า
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงหันมาให้ความสำคัญและเร่งรัดการมถึงของ ๕จี เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทันกำหนดเวลาที่วางไว้ในต้นปี พ.ศ.๒๕๖๓ โดยมีการประเมินว่า ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ประเทศที่เดินช้าไม่เพียงแต่จะล้าหลังแต่ยังอาจตกเวทีโลก และกลายเป็นประเทศที่ตามผู้อื่นไม่ทัน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความมั่นใจว่า ๕จี จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๖๓ อย่างแน่นอน และจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเชื่อมประสานระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทได้อย่างไร้พรหมแดน ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลผ่านทางไกลซึ่งจะเท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ๕จี ระดับชาติขึ้นมา โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อวางรากฐานต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีในทุกภาคส่วน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะสามารถทำให้เกิด ๕จีได้โดยเร็ว และหากยังไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้ภายในปีหน้าจะเกิดปัญหาอย่างมากในการดำเนินธุรกิจและการขับเคลื่อนประเทศ
ตามความคาดการณ์ของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ตามกำหนดเวลาที่วางไว้มีการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยจะมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๒๗ ธันวาคม วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๓ ออกประกาศเชิญชวน วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เปิดประมูลคลื่นความถี่และออกใบอนุญาตปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓
ทั้งนี้ กสทช. ยังได้รวบรวมอุปสรรคที่ทำให้ ๕จี ในไทยมีความล่าช้า เกิดจากราคาประมูลคลื่นความถี่สูงเกินไป โดย กสทช. ได้ว่าจ้าง ๔ สถาบันการศึกษาได้ทำการศึกษาราคาประมูลผลปรากฏว่า ราคาเริ่มต้นหรือราคากลางคือคลื่นความถี่ ๒๖๐๐ เมกะเฮิรตซ์ เฉลี่ยราคาใบละ ๑,๘๖๒ ล้านบาท ความถี่ ๒๖ กิกะเฮิรตซ์ เฉลี่ยราคาใบละ ๓๐๐ ล้านบาท กฎกติกาไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนลงทุน การใช้งาน ๓จี และ ๔จี ยังไม่เต็มประสิทธิภาพของระบบ และการทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลยังไม่ทำงานเชิงรุกที่จะทำให้ ๕ จี เกิดขึ้นในประเทศไทย
ด้านผู้บริหารกลุ่มกิจการองค์กรด้านสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยต่างเห็นตรงกันว่า การที่รัฐบาลผลักดันให้ ๕จี เป็นวาระแห่งชาติและมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับ ๕จี เป็นหลักขึ้นมาถือว่าเดินมาถูกทางแล้วเหมือนอย่างมาเลเซียที่จัดตั้งอินเตอร์เนชั่นแนล ๕จี เพื่อจัดการเรื่องการวางแผนระยะสั้นและระยะยาวในการนำ ๕จี เข้ามาในประเทศ รวมเอาคนกว่า ๑๖๐ รายจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม โอเปอเรเตอร์ และผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับ ๕จี ได้มาทำงานร่วมกัน เพื่อวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ทั้งนี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่าความสำเร็จในการขับเคลื่อน ๕จี คือความชัดเจนของรายละเอียดและเงื่อนไขในการประมูลงาน และหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลจะต้องออกแรงมากกว่านี้ในการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้นอีกด้วย
๕จี คือ Generation ใหม่ของเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่เข้ามาแทนที่ระบบ ๔จี ที่เรากำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถตอบสนองได้ไวขึ้น สั่งงานและควบคุมสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รองรับการรับ – ส่ง ข้อมูลได้มากกว่า ๔จี ถึง ๗ เท่า มีความเร็วมากกว่า ๔จี ถึง ๒๐ เท่า สามารถใช้งานคลื่นความถี่ได้มากขึ้น จนถึงย่านความถี่ใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้งานมาก่อน รองรับการใช้งานที่มากกว่าจากผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ๑๐ เท่า จากที่สามารถรับคนได้ราว ๑ แสนคนต่อพื้นที่ ๑ ตารางกิโลเมตร กลายเป็น ๑ ล้านคนต่อตารางกิโลเมตร คุณภาพความชมชัดสูง และถูกออกแบบให้รองรับการเชื่อมต่ออื่นๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ IOT อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ การผ่าตัดระยะไกล หุ่นยนต์ในโรงงาน เกิดการใช้งาน AR และ VR ในกิจกรรมต่างๆ มากมาย ได้แก่ การสำรวจภาคสนาม การสาธารณสุขทางไกล ความบันเทิง ช่วยเพิ่มศักยภาพของระบบค้าปลีก การซื้อของออนไลน์ รวมถึงการใช้งานต่างๆ ของออฟฟิศอัจฉริยะ และนำไปสู่ระบบเมืองอัจฉริยะในอนาคต
เชื่อกันว่า ๕ จี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการสนับสนุนระบบต่างๆ เพื่อการพัฒนา โดยประเทศชั้นนำอย่าง สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่นและยุโรป มีการวางแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก ๕ จี เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ และเริ่มใช้งานทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยจากการประเมิน เราเข้าสู่ ๓ จี ช้ากว่านานาประเทศราว ๑๑ ปี สู่ ๔ จี ช้ากว่า ๖ ปี ฉะนั้นการเข้าสู่ยุค ๕ จี จึงควรเดินหน้าด้วยการผลักดันของทุกฝ่ายไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานเดียว เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาจเปลี่ยนเป็น เราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ก็เป็นได้