ความสำเร็จของกระทรวงกลาโหมในบทบาทการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM Retreat) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM–Plus) ครั้งที่ ๖

13th-ADMM-10-12July-2019-Photo-1

นาวาเอก สูงศักดิ์  อัครปรีดี

ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ กระทรวงกลาโหม ได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพและดำเนินบทบาทการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM Retreat) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมกับประเทศคู่เจรจา (ADMM – Plus) ครั้งที่ ๖ โดยจัดขึ้น ณ โรงแรมอนันตรา และโรงแรมอวานี
พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นการดำเนินการประชุมระดับนานาชาติเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๖๒ นี้  การประชุมสำคัญทั้ง ๒ เวทีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนและองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอันมากเพราะเป็นการดำเนินการบทความท้าทายในช่วงเวลาที่มีสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคและความมั่นคงของโลก  ดังนั้น ในโอกาสอันสำคัญนี้จึงขอเชิญทุกท่านได้รับทราบถึงความสำคัญของกรอบการทำงานและผลสำเร็จของการประชุมทั้ง ๒ เวที ดังต่อไปนี้

          ๑. หลักการ เหตุผลและความจำเป็น บทบาทการเป็นประธานการประชุมในกรอบการประชุมทั้ง ๒ เวที
ของกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ มีเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการ ดังนี้

๑.๑ บทบาทการเป็นประธานการประชุมในกรอบ ADMM Retreat และ ADMM – Plus จะต้องดำเนินการประชุมที่สำคัญ ๔ เวทีการประชุม ได้แก่

๑.๑.๑ การประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting Working Group : ADSOM WG) และการประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียนกับเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting – Plus Working Group: ADSOM – Plus WG)  โดยเป็นการประชุมในระดับสำนักผู้อำนวยการนโยบายกลาโหม)

๑.๑.๒ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting : ADSOM) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียนกับเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting-Plus : ADSOM – Plus) โดยเป็นการประชุมในระดับปลัดกระทรวงกลาโหม

๑.๑.๓ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’ Meeting : ADMM)
ครั้งที่ ๑๓ โดยเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

๑.๑.๔ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Retreat : ADMM Retreat) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting – Plus : ADMM – Plus) ครั้งที่ ๖ โดยเป็นการประชุม
ในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

๑.๒ ความสำเร็จในการเสริมสร้างความร่วมมือก้านความมั่นคง หมายถึง จำนวนเอกสารความร่วมมือฯ
ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุม ADMM เปรียบเทียบกับ จำนวนเอกสารความร่วมมือที่เสนอผ่านกระบวนการพิจารณาของที่ประชุม ADMM

   ๑.๓ เอกสารความร่วมมือฯ ประกอบด้วย เอกสารแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือในกรอบ ADMM  ปฏิญญาร่วม แถลงการณ์ร่วมและเอกสารอื่นใดที่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

๑.๔  ปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน ซึ่งเป็นปฏิญญาร่วมว่าด้วยความมั่นคงที่ยั่งยืนคือผลลัพธ์ในภาพรวมของความร่วมมือในกรอบประเทศอาเซียน

๑.๕ แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา ซึ่งเป็นแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืนคือ ผลลัพธ์ในภาพรวมของความร่วมมือระหว่างประเทศ

News-Chairmanship-from-Thailand-to-VietNam

         ๒. วัตถุประสงค์ การประชุมทั้ง ๒ เวทีนี้มุ่งเน่น ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยผ่านกระบวนการความเห็นชอบร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนในรูปแบบของการให้การรับรองเอกสารความร่วมมือต่างๆ อาทิ เอกสารแนวความคิด (Concept Paper)
ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างพัฒนา และบูรณาการความร่วมมือ และการลงนามรับรองในปฏิญญาร่วมและ/หรือแถลงการณ์ร่วม หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินการให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

. การดำเนินการและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม (โดยสำนักงานอาเซียน) ดำเนินตามแผนงานและกรอบระยะเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมในการพัฒนาความร่วมมือต่างๆ โดยจัดการประชุม ADMM  ADMM Retreat และ ADMM – Plus รวมทั้งการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยได้เสนอร่างเอกสารแนวความคิดริเริ่มใหม่ภายใต้กรอบการประชุม ADMM และ ADMM – Plus รับทราบและลงนาม ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ โรงแรม แชง กรี-ลา กรุงเทพฯ จำนวน ๖ ฉบับ และการประชุมระว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ยังได้มีการขยายผลการดำเนินการเอกสารแนวความคิดริเริ่มใหม่ ทั้ง ๖ ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญและผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

๓.๑ เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการประเมินผลการปฏิบัติของความคิดริเริ่มในเชิงปฏิบัติในกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน (Concept Paper on Guidelines for The Assessment of The ADMM Initiatives)  มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ให้ความคิดริเริ่มในเชิงปฏิบัติในกรอบ ADMM ที่มีอยู่เดิมและที่จะมีการจัดทำขึ้นใหม่สามารถตอบสนองต่อการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคและความทันสมัยเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (๒) ให้บรรลุเป้าหมายของวัตถุประสงค์ตามเอกสารแนวความคิดของตนเองและ Concept Paper on ADMM and ADMM – Plus Initiatives ในการดำเนินการอย่างชัดเจน และ (๓) สร้างความตระหนักรู้ในการประหยัดงบประมาณทรัพยากรลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินการต่างๆ ในกรอบ ADMM โดยไม่เป็นการปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาความคิดริเริ่มในเชิงปฏิบัติในกรอบADMM ในด้านใหม่ในอนาคต (เสนอโดย กระทรวงกลาโหมประเทศไทย)

๓.๒ เอกสารแนวความคิดว่าด้วยบทบาทของฝ่ายทหารอาเซียนในการสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดน (Concept Paper on The Role of ASEAN Defence Establishments in Supporting Border Management)  มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ส่งเสริมความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างฝ่ายทหารประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับปัญหาภัยคุกคามข้ามแดน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและเสถียรภาพ รวมทั้งส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจบริเวณพื้นที่ชายแดน อันจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม  (๒) เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้บทบาทของฝ่ายทหารประเทศสมาชิกอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการชายแดน โดยเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการชายแดนที่แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนมีอยู่แล้ว และ (๓) ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลไกอาเซียนที่มีอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและปัญหาข้ามพรมแดน เช่น DGCIM, SOMTC, ASEANAPOL, ASOD, ASEAN Directors – General of Customs, AOE, BLO, MSCP และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (เสนอโดย กระทรวงกลาโหมประเทศไทย)

๓.๓ เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการขยายโครงสร้างการติดต่อสื่อสารโดยตรงของประเทศสมาชิกอาเซียนไปยังประเทศคู่เจรจา (Concept Paper on the Expansion of the ASEAN Direct Communications Infrastructure (ADI) in the ADMM Process to the Plus Countries) มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑)เป็นมาตรการพื้นฐานในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตอบสนองต่อความท้าทายรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคที่เป็นพลวัตร โดยมีความรับผิดชอบและบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อนานาชาติในขณะที่สามารถดำรงความเป็นศูนย์กลางอาเซียนไว้  (๒) นำมาซึ่งความเชื่อมโยงที่มากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในการเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบเปิดกว้าง โปร่งใส และครอบคลุม  (๓) เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเป็นกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารภายในภูมิภาค และเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาค และ  (๔) เพื่อให้ได้จัดตั้งเพื่อเป็นเวทีรองรับประเทศคู่เจรจา ในการเจรจาเรื่องสถานการฉุกเฉิน วิกฤต และมาตรการรักษาความปลอดภัย (เสนอโดย กระทรวงกลาโหมบรูไนดารุสซาลาม) 

๓.๔ เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการประชุมด้านการแพทย์ทหารในกรอบการประชุมรัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา
(Concept Paper on Establishment of ASEAN Military Medicine Conference) มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) จัดการประชุมวิชาการด้านการแพทย์ทหารภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนทุกๆ ปี  (๒) ขยายประสิทธิภาพความร่วมมือของประเทศสมาชิกผ่านการประชุมวิชาการด้านการแพทย์ทหารให้เกิดผลวิจัยและความริเริ่มอย่างกว้างขวาง และ (๓) ขยายเครือข่ายอย่างมืออาชีพและประชาสัมพันธ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ทหารผ่านการประชุมด้านการแพทย์ทหารอาเซียน (เสนอโดย กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา)

๓.๕ เอกสารขอบเขตการปฏิบัติงานโครงการ Our Eyes (TOR of ASEAN Our Eyes) มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ของภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นจากลัทธินิยมความรุนแรง ลัทธิสุดโต่ง และ
การก่อการร้าย ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางยุทธศาสตร์จากประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างทันท่วงที (เสนอโดย กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐอินโดนีเซีย)

๓.๖ เอกสารแนวทางปฏิบัติในการปฏิสัมพันธ์ทางทะเล (ADMM Guidelines for Maritime Interaction) มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ส่งเสริมความมั่นคงทางทะเลของอาเซียน ให้บรรลุเป้าหมายของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน  (๒) จัดตั้งกลไกและการจัดการต่อความขัดแย้งทางทะเลบนพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่น การทูตเชิงป้องกัน และการจัดการโดยสันติเพื่อลดความตึงเครียดที่อาจก่อตัวขึ้นในทะเล  (๓) กล่าวถึงความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเลที่มีหลากหลายซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเผชิญร่วมกัน และ (๔) กล่าวถึงการปฏิบัติตามโดยเรือและอากาศยานของกองทัพเรือ ตามที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UNCLOS) กฎข้อบังคับระหว่างประเทศเพื่อป้องกันเรือโดนกันในทะเลและการปฏิบัติเมื่อมีการเผชิญหน้าในทะเลโดยไม่ได้ตั้งใจ (CUES) (เสนอโดย กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐฟิลิปปินส์)

ในการประชุมระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ยังได้มีการลงนามในปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน และแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา ที่มีความสำคัญ กล่าวคือ

(๑) ปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนว่าด้วย ความมั่นคงที่ยั่งยืน (Joint Declaration of the ASEAN Defence Ministers on Sustainable Security) :7j’มีสาระสำคัญในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็ง การบูรณาการขับเคลื่อน และการเพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างแนวทางความร่วมมือที่เด่นชัด มองไปข้างหน้า และสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของภูมิภาคทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน (เสนอโดย กระทรวงกลาโหมประเทศไทย)

    (๒) แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหมประเทศคู่เจรจาว่าด้วย การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน (Joint Statement by the ADMM – Plus Defence Ministers on Advancing Partnership for Sustainable Security) มีสาระสำคัญในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงของภูมิภาค ด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาของภูมิภาคด้วยสันติวิธี (เสนอโดย กระทรวงกลาโหมประเทศไทย)

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารเพื่อการหารือว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม : ผลกระทบด้านความมั่นคง และบทบาทของฝ่ายทหาร (Discussion Paper on Illegal, Unreported andUnregulated Fishing (IUU Fishing) : Security Implications and the Role of Defence Establishments)  โดยที่ประชุมแต่ละประเทศรับไปศึกษาเพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับชาติของตน

         ๔. ผลลัพธ์เพิ่มเติมที่เกิดขึ้นในห้วงการประชุมฯ  ในห้วงการประชุมระฟว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นั้น  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานธประธานการประชุมฯ ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับประเทศสมาชิก และเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนบวกหนึ่งอย่างไม่เป็นทางการ หรือ ADMM+1 Informal Meeting กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ

กิจกรรมสำคัญในระหว่างห้วงเวลาของการประชุมฯ นั้น  รัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิก ยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดและเยี่ยมชมงาน Defense & Security 2019 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี  อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และได้เดินทางเข้าเยี่ยมคำนับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล  โดย นายกรัฐมนตรี
ได้แสดงความชื่นชมประเทศสมาชิกที่สนับสนุนการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนของความร่วมมือ ทั้งภายใน และภายนอกอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในทุกมิติให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนั้น ในโอกาสที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเข้าร่วมประชุมของรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิก  นายกรัฐมนตรี ยังได้ร่วมลงนามเอกสารความร่วมมือกับประเทศสมาชิก จำนวน ๓ ฉบับ ประกอบด้วย

(๑) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหาร

(๒) แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทย – สหรัฐฯ ค.ศ.๒๐๒๐ ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ

(๓) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ฯ ได้มีพิธีส่งมอบประธานการประชุม ADMM ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ให้กับกระทรวง กลาโหมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมฯ ในครั้งต่อไป

ผลสำเร็จของ กระทรวงกลาโหมประเทศไทย ในการดำรงฐานะเป็นประธานการประชุมและดำเนินการประชุม ADMM  ADMM Retreat และ ADMM – Plus ในปี พ.ศ.๒๕๖๒  เป็นการแสดงให้นานาชาติได้เห็นถึงศักยภาพและบทบาทการนำในเวทีด้านความมั่นคงที่สำคัญของภูมิภาคให้เป็นที่ประจักษ์ในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงของภูมิภาคให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน  รวมทั้ง ยังสะท้อนให้นานาชาติมองเห็นถึงบทบาทสำคัญในเวทีการพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงของภูมิภาคและขยายผลไปสู่เวทีความมั่นคงในประชาคมโลก ทั้งยังนำมาสู่การดำเนินบทบาทสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ภายใต้แนวคิด

“ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”

 

……………………………………..…………………………………………..