COVID-19 (ตอนที่ 8)
ตั้งแต่การออกมาให้ข่าวเตือนถึงภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็นจากจักษุแพทย์ชาวจีน ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2562 ว่าให้ระวังโรคระบาดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ จากการที่มีชาวเมืองอู่ฮั่นเข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุจำนวนหลายราย ซึ่งในเวลานั้นหลายคนยังไม่เชื่อ ทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยคน จนถึงปัจจุบัน (15 มี.ค. 2563) ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศจีนคงที่อยู่ที่ 80,000 กว่าราย ผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันลดลงจากหลักพันเป็นหลักสิบ โรงพยาบาลที่เปิดชั่วคราวเพื่อรับมือไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะปิดตัวลงหมดทั้ง 16 แห่ง สถานการณ์ในประเทศจีนคลี่คลายลงมากเห็นอย่างได้ชัด ทั้งจีนยังส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าให้การสนับสนุนช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาการระบาดรุนแรงในยุโรปและตะวันออกกลาง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการยุติปัญหาครั้งนี้โดยเร็ว
ช่วงเวลาประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมาถือว่ามีบทเรียนหลายอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึง การทำงานอย่างร่วมแรงร่วมใจเป็นปัจจัยสำคัญในการร่วมมือกันผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ สถานการณ์ขณะนี้เสมือนอยู่ในสงครามการต่อสู้ระหว่างมนุษยชาติกับไวรัสที่กลายพันธุ์เป็นอาวุธร้ายแรงที่ทำลายทุกอย่าง ไม่เพียงชีวิตมนุษย์ ความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในโลกใบนี้ที่จะต้องถูกกล่าวถึงไปอีกนาน
การต่อสู้กลับของมนุษย์หลังจากเริ่มตั้งตัวได้เริ่มขึ้นจากการพัฒนายา วัคซีน และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ออกมาเป็นแนวทางในการรักษาผู้ติดเชื้อ ยา Favipiravir ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใช้ในการรักษาเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา เช่น ไวรัสซาร์ส ไวรัสเมอร์ส และพบว่ามีประสิทธิภาพดี ได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งผลที่ได้ออกมาเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง ยาต้านไวรัสและยาอื่นซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาถูกนำมาทดลองใช้กับไวรัสที่เรายังไม่รู้จักดีที่สุด รวมออกมาเป็นแนวทางในการดูแลผู้ติดเชื้อในที่สุด
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ออกมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 โดยแนวทางดังกล่าวสรุปโดยย่อดังต่อไปนี้
1. ผู้ติดเชื้อที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด ลดน้ำมูก ดื่มน้ำมากมาก พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส เพราะการติดเชื้อสามารถหายเองได้
2. ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มาก แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ผลเลือดมีเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte ในเลือดน้อยกว่า 1,000 เซลล์/มม.3, มีโรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง หัวใจล้มเหลว ภาวะอ้วน และตับแข็ง แนะนำให้ใช้ยาควบรวม 2 ชนิด หรือให้ยาตัวที่ 3 ในกรณีที่มีความผิดปกติของภาพเอ็กซเรย์ปอดร่วมด้วย
ถึงแม้จะมีแนวทางการรักษาออกมา แต่การป้องกันการติดเชื้อยังคงเป็นมาตรการหลักในการดำเนินการทั่วโลก การสนุนอุปกรณ์ป้องกัน การลดการเดินทางระหว่างเมืองหรือระหว่างประเทศ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลโดยเฉพาะการล้างมืออย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
แนวทางการรักษาที่ออกมาถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ ในอนาคตยังคงต้องการการพัฒนาตัวยาที่ดีมากขึ้น และการรอคอยที่ยาวนานกว่าคือการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพซึ่งต้องใช้เวลา นั่นอาจจะเป็นการยุติหรือลดปัญหาให้บรรเทาเบาบางลงมากที่สุด แบบเดียวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
ในทางการแพทย์ แม้จะมียาที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการรักษา แต่ข้อกังวลยังคงมีอยู่อีกหลายเรื่อง อาทิ
1. ปริมาณยาที่มีอยู่ไม่น่าจะเพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยปัจจุบัน การแจกจ่ายยาให้กับประเทศต่างๆทั่วโลกจะเป็นปัญหาแน่หากยอดผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
2. ในการดูแลรักษาการติดเชื้อไวรัสที่สำคัญกว่ายาคือการรักษาแบบประคับประคอง โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง เช่นระบบการหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้อรุนแรงที่ปอด การทำงานของอวัยวะอื่นเช่น ตับ ไต มีปัญหาที่ต้องให้การรักษาด้วยความชำนาญของแพทย์ผู้ดูแล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องล้างไต
3. ความเสียหายที่เกิดจากการติดเชื้อโดยเฉพาะที่ปอด หากเป็นมากแม้รักษาหายแล้วก็อาจแผลเป็น ซึ่งมีผลให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจไม่เป็นปกติเช่นเดิม
4. การกลายพันธุ์ของไวรัสจะเกิดขึ้นหรือไม่และเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มีการพัฒนาต่ำ การขยายพันธุ์ของไวรัสเป็นไปแบบมีทิศทางไม่แน่นอน กล่าวคือไวรัสตัวใหม่มีโอกาสที่จะมีความต่างจากตัวเดิม เนื่องจากการควบคุมการขยายพันธุ์โดยสารพันธุกรรมเป็นแบบที่มีประสิทธิภาพต่ำ และหากไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ แนวทางการรักษาปัจจุบันจะยังคงใช้ได้อยู่หรือไม่
สงครามระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเป็นสงครามที่ไม่มีสิ้นสุด การดูแลรักษาสุขภาพ การออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ล้วนเป็นปัจจัยในการป้องกันตนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นที่คาดเดาได้ว่ามนุษย์ยังคงต้องเผชิญกับภัยร้ายจากเชื้อโรคอีกในอนาคต โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นระยะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง การพัฒนาในเรื่องความก้าวหน้าทางการแพทย์จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอยู่ตลอด การเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่และรีบเข้าทำการสอบสวนควบคุมเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างที่จักษุแพทย์ชาวจีนผู้ล่วงลับได้ให้บทเรียนไว้
จากการที่วันนี้ (15 มี.ค. 2563) ได้มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 32 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของไทยขณะนี้อยู่ที่ 114 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 76 ราย ยอดผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 1 ราย
16
มี.ค.