กฐินพระราชทานของกระทรวงกลาโหม ประจำปี ๒๕๖๓

​ในวาระที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงกลาโหมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร ถนนอิสรภาพ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา โดยมี พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และ เป็นสิริมงคลอันใหญ่หลวงแก่บรรดาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของกระทรวงกลาโหม

​การทอดกฐินเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เป็นการรวมพลังแห่งความสามัคคี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจในการสร้างบุญกุศล สร้างความสุขของการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งเป็นการจรรโลงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงดำรงอยู่และวัฒนาถาวรสืบไป สำหรับวัดราชสิทธาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เดิมเรียกว่า วัดพลับ เป็นวัดอรัญญวาสี (วัดป่า) เก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีความสำคัญขึ้นมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้สร้างพระอารามหลวงใหม่ติดกับวัดพลับ แล้วโปรดให้รวมเป็น วัดเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระญาณสังวรเถร (สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ทรงเคารพเลื่อมใส และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์มาศึกษากรรมฐานกับพระญาณสังวรเถร ทำให้วัดราชสิทธารามเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญมาแต่ครั้งนั้น แม้ต่อมาพระญาณสังวรเถรจะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช ย้ายไปประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ศิษย์ของพระองค์ยังคงสืบทอดกรรมฐานต่อมา​ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้บูรณะและสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม เช่น พระเจดีย์ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และตำหนักเก๋งจีน เนื่องจากเคยมาประทับ จำพรรษาที่วัดแห่งนี้เมื่อทรงผนวช เป็นเวลา ๑ พรรษา และพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชสิทธารามตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๓๗๔ โดยเฉพาะพระเจดีย์นั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้บูรณะและพระราชทานนามว่า พระสิริจุมภฏะเจดีย์ ภายในวัดราชสิทธารามมีสิ่งก่อสร้างสำคัญ คือ พระตำหนักจันทร์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างพระราชทานให้รัชกาลที่ ๓ ประทับเมื่อทรงผนวช เป็นพระตำหนักเล็กขนาด ๒ ห้อง ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนสร้างด้วยไม้จันทร์ทั้งหมดติดช่อฟ้า ใบระกา ประดับกระจกสวยงาม ต่อมารัชกาลที่ ๓ ทรงย้ายไปปลูกเคียงพระตำหนักเก๋งจีนและเปลี่ยนเครื่องไม้ที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นไม้เนื้อแข็งอื่นๆ เช่น ไม้เต็งรัง ไม้สัก ทำให้เหลือส่วนที่เป็นไม้จันทร์ อยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น