วันพฤหัสบดีที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางทหารของกระทรวงกลาโหม ประจำปี ๒๕๖๖ ณ ห้องสุรศักดิ์มนตรี ในศาลาว่าการกลาโหม โดยการมอบรางวัล ฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์
1) เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่หน่วยเจ้าของผลงานและผู้บริหาร ที่ให้การสนับสนุนนักวิจัยในสังกัด ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพ
2) เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางทหารของนักวิจัยกระทรวงกลาโหมให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงกลาโหม
3) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ในกองทัพ รวมทั้งนำเข้าสู่สายการผลิตเป็นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
ประเภทผลงานวิจัยดีเด่น จำนวน ๙ รางวัล ได้แก่
– รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการวิจัยและปรับปรุงปืนเล็กยาว ขนาด ๕.๕๖ มม. เพื่อรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม หน่วยเจ้าของผลงาน ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ได้รับโล่ ใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท
– รางวัลรองชนะเลิศ ๓ รางวัล รางวัลละ ๓๐,๐๐๐ บาท
– รางวัลชมเชย ๕ รางวัล รางวัลละ ๒๐,๐๐๐ บาท
ประเภทสิ่งประดิษฐ์ทางทหารดีเด่น จำนวน ๘ รางวัล ได้แก่
– รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับสำหรับลำเลียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ Heavy lift D-MERT หน่วยเจ้าของผลงาน กรมแพทย์ทหารบก ได้รับโล่ ใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท
– รางวัลรองชนะเลิศ ๓ รางวัล รางวัลละ ๒๐,๐๐๐ บาท
– รางวัลชมเชย ๔ รางวัล รางวัลละ ๑๐,๐๐๐ บาท
รวมเป็นรางวัลทั้งสิ้น จำนวน ๑๗ รางวัล รวมเงินรางวัล ทั้งสิ้น ๓๗๐,๐๐๐ บาท
ในโอกาสเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อหน่วยงานที่ได้รับรางวัล พร้อมทั้งกล่าวว่า ผลงานวิจัยและพัฒนา และสิ่งประดิษฐ์ทางทหาร ที่ได้รับรางวัล เชิดชูเกียรติของกระทรวงกลาโหม เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นประจักษ์ว่าบุคลากรนักวิจัยของกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น วิจัยพัฒนาจนประสบความสำเร็จ เมื่อวิจัยพัฒนาสำเร็จแล้วต้องมีการนำไปใช้งานได้จริง จึงจะเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพ ในการดำรงสภาพหรือพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ให้สูงขึ้นแล้ว ยังสามารถผลักดันนำไปสู่การผลิตเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทดแทนยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ จะทำให้กระทรวงกลาโหมมีขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตต่อไป