ในวันนี้ (๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗) ณ ห้องประชุมชั้น ๖ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และคณะ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจความรับผิดชอบและการดำเนินการที่สำคัญของกระทรวงกลาโหม

ในช่วงเริ่มต้นของการประชุมฯ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้แจ้งมติของคณะกรรมาธิการฯ ในการจัดทำหนังสือสอบถามข้อมูลและความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พร้อมให้ความร่วมมือและพิจารณาในการสนับสนุนข้อมูลตามที่ได้รับการร้องขอ และที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องสำคัญในหลายประเด็น รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ได้แก่

๑. คณะกรรมาธิการฯ เชิญกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมโครงการสัมมนา “พลทหารปลอดภัย” โดยจะขอรับการสนับสนุนพื้นที่ของกองทัพอากาศในการจัดสัมมนาอบรมหลักสูตรฯ ในห้วง มี.ค. – เม.ย.๖๗ จำนวน ๔ ครั้ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวพร้อมสนับสนุนโครงการฯ ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้กล่าวอีกว่าที่ผ่านมาได้ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนนายสิบ และเน้นย้ำทำความเข้าใจ รวมถึงจัดทำโครงการฝึกทหารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการปรับปรุงการฝึกทั้งทหารกองประจำการ และนักศึกษาวิชาทหารให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนกำชับกองทัพให้ดูแลทหารกองประจำการเป็นอย่างดี ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้มีการพิจารณาเพิ่มค่าประกอบเลี้ยงพลทหาร โดยกระทรวงกลาโหมจะได้มีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสม แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณที่ได้รับ จึงจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับลดทหารกองประจำการ และจะหาแหล่งงบประมาณมาสนับสนุน

๒. โครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบ S26T ของกองทัพเรือ โดยจะมีหนังสือเชิญกระทรวงกลาโหมเพื่อเข้าหารือในรายละเอียดอีกครั้งกับคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรในโอกาสต่อไป

๓. แนวทางการพัฒนากองทัพ การจัดสรรกำลังพลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ขอรายละเอียดยอดจำนวนกำลังพลในแต่ละชั้นยศของกองทัพ

๔. การจัดสรรที่ดินของกองทัพเพื่อให้เป็นที่ทำกินแก่ประชาชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า ได้มีการดำเนินโครงการเรื่องที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างของโครงการหนองวัวซอโมเดล อย่างไรก็ตาม การแก้ไขข้อพิพาทในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ระหว่างประชาชนกับกรมธนารักษ์ จะใช้กลไกของคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (ONE MAP) ทั้งนี้ กองทัพยังมีโครงการจัดสรรที่ดินอื่นๆ อีกที่กำลังจัดทำอยู่ทั้งในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จ.กาญจนบุรี และ จ.นครพนม

๕. การกู้เรือหลวงสุโขทัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ชี้แจงถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือและข้อกังวลจากฝ่ายสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการจัดซื้อเรือหลวงสุโขทัยนั้น ไทยมีข้อตกลงกับกองทัพสหรัฐฯ เรื่องการห้ามไม่ให้ชาติอื่นเข้าถึงเทคโนโลยี รวมทั้งกรณีการกู้ซากเรือต้องให้ทางสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ได้เข้าพบเพื่อพูดคุยในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งแจ้งว่ากระบวนการกู้ซากเรือของไทยจะมีขั้นตอนแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ โดยระยะที่ ๑ จะเป็นการกู้ศพทหารผู้เสียชีวิต และอาวุธยุทโธปกรณ์ และระยะที่ ๒ จะเป็นการกู้ตัวเรือ สำหรับขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ จะไม่กระทบต่อหลักฐานการจมหรืออับปางของเรือหลวงสุโขทัย

๖. แนวทางการปรับลดนายทหารชั้นนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ชำนาญการ โดยกระทรวงกลาโหมได้ชี้แจงถึงแนวทางการปรับลดนายทหารชั้นนายพลดังกล่าว และมีแผนจะดำเนินการปรับลดควบคู่กับโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (Early Retire) โดยในปี ๗๐ จะลดลงร้อยละ ๕๐ และจะปรับลดทั้งหมดได้ในปี ๘๐ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างในปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนมากนั้นเกิดจากความต้องการกำลังพลเพื่อรองรับภัยคุกคามในห้วงสงครามหรือความขัดแย้งในอดีต ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมอยู่ระหว่างการปรับลดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ร้องขอรับการสนับสนุนข้อมูลโครงการข้าราชการพลเรือนกลาโหมอีกด้วย

๗. คณะกรรมาธิการฯ แจ้งว่า จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาศาลทหารในเรื่องระบบการฟ้องร้อง หน้าที่และอำนาจในการฟ้อง องค์ประกอบของคณะตุลาการ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

๘. โครงการแอปพลิเคชันนภา (Napa Application) โดยให้มีการพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้งานอีกต่อไป

๙. แนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณแบบก่อหนี้ผูกพันข้ามปีเกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดหา การซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ของหน่วยงาน รายการก่อสร้าง ค่าซ่อมแชม ที่ยังมีภาระผูกพันต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ท้ายที่สุด คณะกรรมาธิการฯ จะได้มีหนังสือเชิญกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม เพื่อให้รายละเอียดข้อมูลถึงการปรับปรุงสวัสดิการภายในและสวัสดิการเชิงธุรกิจของกองทัพในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมต่อไป